ฝนตกปาย ปาย ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Nature Explorer
ฉบับเดือนสิงหาคม 2549 (ปก NEW ZEALAND)
เมื่อต้นเดือนกรกฎา ไปงานแต่งงานที่ปาย
อยู่ต่อเที่ยวเล่นอีกราวหนึ่งสัปดาห์
ได้ความและไม่ได้ความ...ดังนี้
ขอบคุณ Nature Explorer น้องหญิง พี่ชาติ GrooveYard และ BeBop
ฝนตกปาย ปาย
วชิรา
เรื่องและภาพ
บ่ายหนึ่งกลางแดดร้อนเปรี้ยงของเมืองเชียงใหม่ ผมบังเอิญได้ร่วมพบปะสังสรรค์สร้างวงเสวนาบนโต๊ะก๋วยเตี๋ยวหลอด (เจ้าเด็ด!) กับสมาชิกคุ้นหน้าคุ้นตาอีกสามท่าน ตามมารยาททั่วไปบนโต๊ะอาหาร เราต่างละเรื่องส่วนตัวไว้ไม่ไปข้องแวะสนใจ บทสนทนาต่อหน้าก๋วยเตี๋ยวหลอด (และปอเปี๊ยะสด ที่เสิร์ฟตามมาทีหลัง) จึงละเรื่อยไปกับลมฟ้าอากาศ ความเอร็ดอร่อยของรสอาหาร สถานการณ์บ้านเมือง จนถึงหน้าที่การงาน
“คนนี้กำลังจะลาออก” คนนั้นชี้ไปที่เพื่อนร่วมงานของตัว “ไปแต่งงาน”
คนถูกชี้ยิ้มเขิน
ผมไม่ได้เขินไปกับเธอ แต่นึกสงสัยว่า ‘ไปแต่งงาน’ ทำไมต้องลาออก
“อ๋อ จะไปอยู่ปายค่ะ” เธอเฉลย ยังคงยิ้ม แต่ไม่เขิน
น้ำเสียงหนักแน่นของเธอชวนให้ผมต้องเงยหน้าจ้องมองด้วยความหนักแน่นไม่แพ้กัน ก่อนรำพึงเบาๆ ผ่านซากเศษปอเปี๊ยะสดคาจานออกไปโดยไม่ได้ชั่งใจใดๆ (แต่เธอดันได้ยิน) ว่า “ชีวิตมันโรแมนติกอย่างนั้นเชียวหรือ”
.........
ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เมืองเล็กๆ ในหุบเขาแห่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ที่ดูตามลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้วน่าจะปิดตัว ‘เงียบเชียบ’ เช่นเดียวกับอีกหลายร้อยหลายพันตำบลอำเภอในประเทศนี้ที่ยังไม่มีใครรู้จัก) กลายเป็นเมืองยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครที่มีโอกาสสลัดคราบคนเมืองเพียงปีละครั้ง
ใครๆ ต่างก็หลงรักปาย
ด้วยองค์ประกอบครบครันของความโรแมนติก-แม่น้ำปายทอดตัวเป็นสายยาวไหลผ่านเกสต์เฮ้าส์ (ราคาพอรับได้) ที่ถูกออกแบบมาอย่างมีรสนิยม รอบๆ มองเห็นภูเขาน้อยใหญ่โอบล้อม หรือถ้าอยากเปลี่ยนวิวทิวทัศน์ก็สามารถเช่ามอเตอร์ไซค์รายวันขี่ออกไปชื่นชมธรรมชาติรอบนอกโดยใช้เวลาเพียงไม่ถึงอึดใจ กลับเข้ามาในเมืองมีตลาดสดของชาวบ้านแท้ๆ ทั้งเย็นและเช้า หรืออาจเช่าจักรยานขี่เล่นชมบรรยากาศชีวิตชาวเมือง จอดแวะโน่นชมนี่ตามรายทาง เหนื่อยนักก็พักนั่งร้านกาแฟหรือบาร์เหล้าขนาดกำลังดีที่ทยอยเปิดตัวไว้เป็นอาณาเขตให้เพื่อนเก่าและใหม่ใช้ทำความรู้จัก (หรือสนใจสูบชิชาก็มีร้านเปิดให้บริการ) ยังไม่นับรวมบรรดาร้านขายของที่ระลึกเก๋ๆ ที่จำหน่ายสิ่งของน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มและโปสการ์ดสวยๆ ช่วยย้ำความทรงจำรสหวานที่บรรดานักท่องเที่ยวได้ลิ้มชิมแม้ในช่วงเวลาสั้นๆ
ยิ่งถ้าหลับตาจินตนาการถึงอากาศหนาวยะเยือกในช่วง ‘ไฮ’-ปลายฝน ต้นและกลางหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) เมื่อบรรยากาศรอบตัวปกคลุมไปด้วยไอหมอกไหลเรี่ยบนพื้น วันที่สำลักไอควันออกปากพร้อมคำขณะพูด ยิ่งชวนให้นึกตามได้แต่ภาพ ‘ยูโธเปีย’ ของนักท่องเที่ยว (หรือสวรรค์ของนักเดินทางเขตร้อน) อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ได้ยินว่าหลายคนหลายคู่ อพยพย้ายถิ่นฐานปักหลักอยู่อาศัยทำมาหากินที่เมืองปายก็ไม่น้อย
ราวทศวรรษครึ่งที่แล้ว ผมเคย ‘ผ่านทาง’ มาแถวนี้หนึ่งครั้ง และยังไม่มีโอกาสกลับมาอีกเป็นครั้งที่สอง อาจเป็นเพราะผมได้รับรู้เรื่องเมืองปายจากปากคำ (และปากกา) ของคนอื่นๆ อยู่บ่อยๆ (บ่อยกว่าเมืองอื่น) แทบทุกครั้งที่ฤดูหนาว (ว่ากันว่าถือกำเนิดอยู่ประมาณช่วงปลายของปี) ผ่านไป จะต้องมีคนเล่า (หรือเขียน) ถึงปายให้เข้าหู (และเข้าตา) อย่างน้อยหนึ่งคน (หรือหนึ่งครั้ง) เสมอ
และทุกคนคล้ายถูกโปรแกรมป้อนให้พูดซ้ำๆ คล้ายๆ กันว่า-พวกเขาหลงรักปาย
คนไกลปายอย่างผมจึงได้แต่นั่งทำตาปริบๆ พยายามใช้ความสามารถในการจินตนาการเท่าที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จนกระทั่งได้พบว่าที่เจ้าสาว (เจ้าของรอยยิ้มเขินบนโต๊ะก๋วยเตี๋ยวหลอด) วันนั้น ผมจึงตื่นเต้นดีใจตกปากรับคำมาร่วมงานแต่งงาน และถือโอกาสกลับไปสัมผัสปายด้วยตาตัวเอง...ครั้งที่สอง
ปายเปลี่ยนไป!
เปล่า, ผมไม่ได้พูด คนอื่นพูด ผมจำอะไรไม่ได้
อย่างเดียวที่น่าจะพอยืนยันได้คือเมื่อสิบห้าปีก่อน สมัยที่ผมและเพื่อนๆ มายืนๆ นั่งๆ รอโบกรถอยู่แถวๆ สี่แยกเมืองปาย (เพื่อจะต่อไปยังเมืองสบป่อง) ที่นี่น่าจะยัง ‘ไม่มี’ ป้ายห้ามจอดรถวันคู่วันคี่และไฟจราจรเขียวเหลืองแดงลอยเด่นเป็นสง่าอยู่กลางสี่แยกดังเช่นวันนี้ (หนำซ้ำยังมีตัวเลขดิจิตอลนับถอยหลังบอกเวลา ‘รอคอย’ แบบที่ชาวกรุงเทพมหานครพออกพอใจนักหนาอีกด้วย-ทันสมัยมาก!)
ผมพยายามทำความเข้าใจแต่ก็ไร้ผล ขนาดของไฟเขียวแดง ดูอย่างไรก็ไม่พอดีกับที่ที่มันอยู่
ปายวันนี้ฝนตก
สำหรับผู้ประกอบกิจการอาจไม่น่าพึงใจนัก เพราะเป็นช่วง ‘โลว์’ ที่นักท่องเที่ยวบางตาจนนับหัวได้ ยิ่งเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ทางการประกาศว่าแม่น้ำปายเอ่อล้นกว่าปกติเนื่องจากมีฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยก็รีบหอบข้าวหอบของอพยพย้ายหนี (จากปากคำของพี่คนขายพิซซาแถวหัวสะพาน)
เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อราวหนึ่งปีก่อน (สิงหาคม 2548) ยังประทับอยู่ในความรับรู้ของผู้คนทั้งนักท่องเที่ยว ชาวบ้าน และผู้ประกอบการ เมืองเล็กๆ ที่เคยเป็น ‘สวรรค์’ ของนักท่องเที่ยวจู่ๆ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โคลนถล่มทับเมือง ซุงท่อนโตจำนวนไม่น้อยลอยมากับน้ำกระแทกทำลายบ้านเรือน สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย
หลายคนเริ่มเกรง-กลัวปาย
ณ วันนี้ เกสต์เฮ้าส์บางแห่งที่เคยเป็นที่พำนักพักใจริมสายน้ำของนักท่องเที่ยว จำต้องงดให้บริการบ้านบางหลังที่ตั้งติดชิดแม่น้ำไว้ก่อน นัยว่าใช้เวลาปรับปรุงซ่อมแซมจากอุทกภัยน้ำเอ่อเมื่อต้นสัปดาห์ ทั้งยังเป็นการแสดงความเป็นห่วงเป็นไยต่อนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังอันตรายอันไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ (น้ำชอบมาตอนตีสองตีสาม-จากปากคำของคนดูแลเกสต์เฮ้าส์ริมน้ำ)
ขาประจำของปายหลายท่าน (ที่ร่วมขบวนไปงานแต่งงานด้วยกัน) ช่วยกรุณาพาผมไปเยี่ยมชม ‘ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ’ หลังเหตุการณ์ใหญ่ผ่านไปหนึ่งปี พาไปดูถนนขาด (ที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ ) พาไปเห็นซุงท่อนโตวางตัวสงบนิ่งอยู่บนตลิ่ง (เราสันนิษฐานกันเองว่าน่าจะลอยมากับสายน้ำเมื่อคราวก่อน-เรื่องตลกสุดเหวี่ยงคือหลังจากเหตุการณ์สงบ มีการประเมินความเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐบางท่านโดย ‘กล่าวโทษ’ ชาวบ้านว่าเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยจนเป็น ‘สาเหตุหลัก’ ทำให้น้ำท่วม!! ขณะที่ตัวแทนฝ่ายชาวบ้านให้ความเห็นว่า ชาวบ้านเป็นเพียง ‘ลูกจ้าง’ รับจ้างตัดไม้เพื่อนำมาใช้ปลูกสร้าง ‘รีสอร์ต’ ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ของนายทุนเท่านั้น!!*) และที่สำคัญคือพาไปเห็นการเปลี่ยนขนาดและเส้นทางของแม่น้ำสายหลักของเมือง
“ธรรมชาติกำลังจะเรียกทุกอย่างคืน” หนึ่งในผู้ร่วมขบวนรำพึงเบาๆ (แต่ผมได้ยิน)
ถ้าย้อนเวลากลับไปแล้วมีคนบอกว่าปายจะน้ำท่วมใหญ่ รับรองไม่มีใครเชื่อ แต่ถึงวันนี้แล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ขอให้สังเกตดูว่าชาวบ้านๆ แท้ๆ นั้น ไม่มีใคร ‘ปลูกบ้าน’ อาศัยอยู่ใกล้น้ำขนาดนั้น (ไม่เหมือนเกสต์เฮ้าส์ที่เรียงรายติดน้ำอยู่ในขณะนี้) จะมีก็แต่การสร้างพื้นที่เกษตรทำกินเท่านั้น เพราะชาวบ้านต่างรู้ว่าแม่น้ำปายเป็นแม่น้ำร่องตื้น สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางการไหลได้ง่ายดาย (จากปากคำชาวปายที่ทำงานในเกสต์เฮาส์บนภูเขา)
มีแต่คนต่างถิ่นจากเมืองใหญ่ที่ต้องการอยู่ชิดติดน้ำขนาดนั้น
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะต้องการหรือไม่ก็ตาม-ไม่ใช่ความผิดของความเปลี่ยนแปลง
สำหรับคนที่ ‘ผ่านมา’ แล้วผ่านไป (อย่างผม) ความเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจไม่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันมากนัก แต่สำหรับคนที่ ‘อาศัย’ อยู่ที่นั่น ไม่ว่าจะอยู่มานมนานหรือเพิ่งตัดสินใจย้ายมาลงหลักปักฐานก็ตาม, ผมไม่แน่ใจ
.........
เวลาส่วนใหญ่ที่เหลือของผม (หลังจากที่ชาวคณะเดินทางกลับเชียงใหม่ไปแล้ว) ใช้ไปกับการนั่งอ่านหนังสือสลับดูฟ้าดูฝนที่หมั่นตกไม่รู้เหนื่อย เมื่อไหร่แดดออก (ร้อนเหงื่อหยด) ก็แวบเข้าร้านหนังสือมือสอง (ที่พบอยู่ 4 แห่งในเมือง) วันไหนตื่นเช้าฝนไม่ตกก็ออกไปเดินเล่นเห็นนักเรียนใส่เสื้อสีๆ (เข้าใจว่าวันนั้นคงมีวิชาพละ) เดินเป็นกลุ่มๆ ไปเข้าโรงเรียน (ปายวิทยาคม) บ่ายๆ หน่อย (ถ้าฝนไม่ตก) ก็ขี่รถไปด้อมๆ มองๆ โรงพยาบาลปายที่อยู่ถัดออกไปไม่ไกล พบเห็นชาวบ้านและชาวเขา (ทราบภายหลังว่าส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่) นั่งเต็มท้ายรถกระบะมาเข้ารับการรักษา ค่ำๆ ก็นั่งหลบฝนใต้ชายคาปัดยุง (ตัวเท่าช้าง) ให้ช่วยไปหากินไกลๆ
ใครๆ ก็หลงรักสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี
ใครๆ จึงหลงรักปาย (หน้า ‘ไฮ’)
ความโรแมนติกจำเป็นต้องมีองค์ประกอบมากมาย หนึ่งในหลายนั้นคือความยินยอมพร้อมใจ ความรู้สึกหลงรัก, หลายครั้งจึงอิ่มเอมเมื่อเพียง ‘รู้สึกได้’ ว่าได้รับรักตอบ
เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่เราหลงรักปาย ในวงเล็บอาจหมายถึงเราหลงรักเพียงบรรยากาศโรแมนติกของปาย
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจจำเป็นต้องรู้ว่าเมืองกับชีวิตก็คล้ายกัน คือไม่ได้มีด้านเดียว
ปายวันนี้ฝนตก
และนักท่องเที่ยวบางคนก็ดูยิ้มแย้มไปกับมัน
*ตัดความจาก ‘น้ำท่วมปาย’ เซ็กชั่น จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2548
เมื่อต้นเดือนกรกฎา ไปงานแต่งงานที่ปาย
อยู่ต่อเที่ยวเล่นอีกราวหนึ่งสัปดาห์
ได้ความและไม่ได้ความ...ดังนี้
ขอบคุณ Nature Explorer น้องหญิง พี่ชาติ GrooveYard และ BeBop
ฝนตกปาย ปาย
วชิรา
เรื่องและภาพ
บ่ายหนึ่งกลางแดดร้อนเปรี้ยงของเมืองเชียงใหม่ ผมบังเอิญได้ร่วมพบปะสังสรรค์สร้างวงเสวนาบนโต๊ะก๋วยเตี๋ยวหลอด (เจ้าเด็ด!) กับสมาชิกคุ้นหน้าคุ้นตาอีกสามท่าน ตามมารยาททั่วไปบนโต๊ะอาหาร เราต่างละเรื่องส่วนตัวไว้ไม่ไปข้องแวะสนใจ บทสนทนาต่อหน้าก๋วยเตี๋ยวหลอด (และปอเปี๊ยะสด ที่เสิร์ฟตามมาทีหลัง) จึงละเรื่อยไปกับลมฟ้าอากาศ ความเอร็ดอร่อยของรสอาหาร สถานการณ์บ้านเมือง จนถึงหน้าที่การงาน
“คนนี้กำลังจะลาออก” คนนั้นชี้ไปที่เพื่อนร่วมงานของตัว “ไปแต่งงาน”
คนถูกชี้ยิ้มเขิน
ผมไม่ได้เขินไปกับเธอ แต่นึกสงสัยว่า ‘ไปแต่งงาน’ ทำไมต้องลาออก
“อ๋อ จะไปอยู่ปายค่ะ” เธอเฉลย ยังคงยิ้ม แต่ไม่เขิน
น้ำเสียงหนักแน่นของเธอชวนให้ผมต้องเงยหน้าจ้องมองด้วยความหนักแน่นไม่แพ้กัน ก่อนรำพึงเบาๆ ผ่านซากเศษปอเปี๊ยะสดคาจานออกไปโดยไม่ได้ชั่งใจใดๆ (แต่เธอดันได้ยิน) ว่า “ชีวิตมันโรแมนติกอย่างนั้นเชียวหรือ”
.........
ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เมืองเล็กๆ ในหุบเขาแห่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ที่ดูตามลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้วน่าจะปิดตัว ‘เงียบเชียบ’ เช่นเดียวกับอีกหลายร้อยหลายพันตำบลอำเภอในประเทศนี้ที่ยังไม่มีใครรู้จัก) กลายเป็นเมืองยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครที่มีโอกาสสลัดคราบคนเมืองเพียงปีละครั้ง
ใครๆ ต่างก็หลงรักปาย
ด้วยองค์ประกอบครบครันของความโรแมนติก-แม่น้ำปายทอดตัวเป็นสายยาวไหลผ่านเกสต์เฮ้าส์ (ราคาพอรับได้) ที่ถูกออกแบบมาอย่างมีรสนิยม รอบๆ มองเห็นภูเขาน้อยใหญ่โอบล้อม หรือถ้าอยากเปลี่ยนวิวทิวทัศน์ก็สามารถเช่ามอเตอร์ไซค์รายวันขี่ออกไปชื่นชมธรรมชาติรอบนอกโดยใช้เวลาเพียงไม่ถึงอึดใจ กลับเข้ามาในเมืองมีตลาดสดของชาวบ้านแท้ๆ ทั้งเย็นและเช้า หรืออาจเช่าจักรยานขี่เล่นชมบรรยากาศชีวิตชาวเมือง จอดแวะโน่นชมนี่ตามรายทาง เหนื่อยนักก็พักนั่งร้านกาแฟหรือบาร์เหล้าขนาดกำลังดีที่ทยอยเปิดตัวไว้เป็นอาณาเขตให้เพื่อนเก่าและใหม่ใช้ทำความรู้จัก (หรือสนใจสูบชิชาก็มีร้านเปิดให้บริการ) ยังไม่นับรวมบรรดาร้านขายของที่ระลึกเก๋ๆ ที่จำหน่ายสิ่งของน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มและโปสการ์ดสวยๆ ช่วยย้ำความทรงจำรสหวานที่บรรดานักท่องเที่ยวได้ลิ้มชิมแม้ในช่วงเวลาสั้นๆ
ยิ่งถ้าหลับตาจินตนาการถึงอากาศหนาวยะเยือกในช่วง ‘ไฮ’-ปลายฝน ต้นและกลางหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) เมื่อบรรยากาศรอบตัวปกคลุมไปด้วยไอหมอกไหลเรี่ยบนพื้น วันที่สำลักไอควันออกปากพร้อมคำขณะพูด ยิ่งชวนให้นึกตามได้แต่ภาพ ‘ยูโธเปีย’ ของนักท่องเที่ยว (หรือสวรรค์ของนักเดินทางเขตร้อน) อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ได้ยินว่าหลายคนหลายคู่ อพยพย้ายถิ่นฐานปักหลักอยู่อาศัยทำมาหากินที่เมืองปายก็ไม่น้อย
ราวทศวรรษครึ่งที่แล้ว ผมเคย ‘ผ่านทาง’ มาแถวนี้หนึ่งครั้ง และยังไม่มีโอกาสกลับมาอีกเป็นครั้งที่สอง อาจเป็นเพราะผมได้รับรู้เรื่องเมืองปายจากปากคำ (และปากกา) ของคนอื่นๆ อยู่บ่อยๆ (บ่อยกว่าเมืองอื่น) แทบทุกครั้งที่ฤดูหนาว (ว่ากันว่าถือกำเนิดอยู่ประมาณช่วงปลายของปี) ผ่านไป จะต้องมีคนเล่า (หรือเขียน) ถึงปายให้เข้าหู (และเข้าตา) อย่างน้อยหนึ่งคน (หรือหนึ่งครั้ง) เสมอ
และทุกคนคล้ายถูกโปรแกรมป้อนให้พูดซ้ำๆ คล้ายๆ กันว่า-พวกเขาหลงรักปาย
คนไกลปายอย่างผมจึงได้แต่นั่งทำตาปริบๆ พยายามใช้ความสามารถในการจินตนาการเท่าที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จนกระทั่งได้พบว่าที่เจ้าสาว (เจ้าของรอยยิ้มเขินบนโต๊ะก๋วยเตี๋ยวหลอด) วันนั้น ผมจึงตื่นเต้นดีใจตกปากรับคำมาร่วมงานแต่งงาน และถือโอกาสกลับไปสัมผัสปายด้วยตาตัวเอง...ครั้งที่สอง
ปายเปลี่ยนไป!
เปล่า, ผมไม่ได้พูด คนอื่นพูด ผมจำอะไรไม่ได้
อย่างเดียวที่น่าจะพอยืนยันได้คือเมื่อสิบห้าปีก่อน สมัยที่ผมและเพื่อนๆ มายืนๆ นั่งๆ รอโบกรถอยู่แถวๆ สี่แยกเมืองปาย (เพื่อจะต่อไปยังเมืองสบป่อง) ที่นี่น่าจะยัง ‘ไม่มี’ ป้ายห้ามจอดรถวันคู่วันคี่และไฟจราจรเขียวเหลืองแดงลอยเด่นเป็นสง่าอยู่กลางสี่แยกดังเช่นวันนี้ (หนำซ้ำยังมีตัวเลขดิจิตอลนับถอยหลังบอกเวลา ‘รอคอย’ แบบที่ชาวกรุงเทพมหานครพออกพอใจนักหนาอีกด้วย-ทันสมัยมาก!)
ผมพยายามทำความเข้าใจแต่ก็ไร้ผล ขนาดของไฟเขียวแดง ดูอย่างไรก็ไม่พอดีกับที่ที่มันอยู่
ปายวันนี้ฝนตก
สำหรับผู้ประกอบกิจการอาจไม่น่าพึงใจนัก เพราะเป็นช่วง ‘โลว์’ ที่นักท่องเที่ยวบางตาจนนับหัวได้ ยิ่งเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ทางการประกาศว่าแม่น้ำปายเอ่อล้นกว่าปกติเนื่องจากมีฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยก็รีบหอบข้าวหอบของอพยพย้ายหนี (จากปากคำของพี่คนขายพิซซาแถวหัวสะพาน)
เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อราวหนึ่งปีก่อน (สิงหาคม 2548) ยังประทับอยู่ในความรับรู้ของผู้คนทั้งนักท่องเที่ยว ชาวบ้าน และผู้ประกอบการ เมืองเล็กๆ ที่เคยเป็น ‘สวรรค์’ ของนักท่องเที่ยวจู่ๆ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โคลนถล่มทับเมือง ซุงท่อนโตจำนวนไม่น้อยลอยมากับน้ำกระแทกทำลายบ้านเรือน สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย
หลายคนเริ่มเกรง-กลัวปาย
ณ วันนี้ เกสต์เฮ้าส์บางแห่งที่เคยเป็นที่พำนักพักใจริมสายน้ำของนักท่องเที่ยว จำต้องงดให้บริการบ้านบางหลังที่ตั้งติดชิดแม่น้ำไว้ก่อน นัยว่าใช้เวลาปรับปรุงซ่อมแซมจากอุทกภัยน้ำเอ่อเมื่อต้นสัปดาห์ ทั้งยังเป็นการแสดงความเป็นห่วงเป็นไยต่อนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังอันตรายอันไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ (น้ำชอบมาตอนตีสองตีสาม-จากปากคำของคนดูแลเกสต์เฮ้าส์ริมน้ำ)
ขาประจำของปายหลายท่าน (ที่ร่วมขบวนไปงานแต่งงานด้วยกัน) ช่วยกรุณาพาผมไปเยี่ยมชม ‘ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ’ หลังเหตุการณ์ใหญ่ผ่านไปหนึ่งปี พาไปดูถนนขาด (ที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ ) พาไปเห็นซุงท่อนโตวางตัวสงบนิ่งอยู่บนตลิ่ง (เราสันนิษฐานกันเองว่าน่าจะลอยมากับสายน้ำเมื่อคราวก่อน-เรื่องตลกสุดเหวี่ยงคือหลังจากเหตุการณ์สงบ มีการประเมินความเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐบางท่านโดย ‘กล่าวโทษ’ ชาวบ้านว่าเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยจนเป็น ‘สาเหตุหลัก’ ทำให้น้ำท่วม!! ขณะที่ตัวแทนฝ่ายชาวบ้านให้ความเห็นว่า ชาวบ้านเป็นเพียง ‘ลูกจ้าง’ รับจ้างตัดไม้เพื่อนำมาใช้ปลูกสร้าง ‘รีสอร์ต’ ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ของนายทุนเท่านั้น!!*) และที่สำคัญคือพาไปเห็นการเปลี่ยนขนาดและเส้นทางของแม่น้ำสายหลักของเมือง
“ธรรมชาติกำลังจะเรียกทุกอย่างคืน” หนึ่งในผู้ร่วมขบวนรำพึงเบาๆ (แต่ผมได้ยิน)
ถ้าย้อนเวลากลับไปแล้วมีคนบอกว่าปายจะน้ำท่วมใหญ่ รับรองไม่มีใครเชื่อ แต่ถึงวันนี้แล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ขอให้สังเกตดูว่าชาวบ้านๆ แท้ๆ นั้น ไม่มีใคร ‘ปลูกบ้าน’ อาศัยอยู่ใกล้น้ำขนาดนั้น (ไม่เหมือนเกสต์เฮ้าส์ที่เรียงรายติดน้ำอยู่ในขณะนี้) จะมีก็แต่การสร้างพื้นที่เกษตรทำกินเท่านั้น เพราะชาวบ้านต่างรู้ว่าแม่น้ำปายเป็นแม่น้ำร่องตื้น สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางการไหลได้ง่ายดาย (จากปากคำชาวปายที่ทำงานในเกสต์เฮาส์บนภูเขา)
มีแต่คนต่างถิ่นจากเมืองใหญ่ที่ต้องการอยู่ชิดติดน้ำขนาดนั้น
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะต้องการหรือไม่ก็ตาม-ไม่ใช่ความผิดของความเปลี่ยนแปลง
สำหรับคนที่ ‘ผ่านมา’ แล้วผ่านไป (อย่างผม) ความเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจไม่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันมากนัก แต่สำหรับคนที่ ‘อาศัย’ อยู่ที่นั่น ไม่ว่าจะอยู่มานมนานหรือเพิ่งตัดสินใจย้ายมาลงหลักปักฐานก็ตาม, ผมไม่แน่ใจ
.........
เวลาส่วนใหญ่ที่เหลือของผม (หลังจากที่ชาวคณะเดินทางกลับเชียงใหม่ไปแล้ว) ใช้ไปกับการนั่งอ่านหนังสือสลับดูฟ้าดูฝนที่หมั่นตกไม่รู้เหนื่อย เมื่อไหร่แดดออก (ร้อนเหงื่อหยด) ก็แวบเข้าร้านหนังสือมือสอง (ที่พบอยู่ 4 แห่งในเมือง) วันไหนตื่นเช้าฝนไม่ตกก็ออกไปเดินเล่นเห็นนักเรียนใส่เสื้อสีๆ (เข้าใจว่าวันนั้นคงมีวิชาพละ) เดินเป็นกลุ่มๆ ไปเข้าโรงเรียน (ปายวิทยาคม) บ่ายๆ หน่อย (ถ้าฝนไม่ตก) ก็ขี่รถไปด้อมๆ มองๆ โรงพยาบาลปายที่อยู่ถัดออกไปไม่ไกล พบเห็นชาวบ้านและชาวเขา (ทราบภายหลังว่าส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่) นั่งเต็มท้ายรถกระบะมาเข้ารับการรักษา ค่ำๆ ก็นั่งหลบฝนใต้ชายคาปัดยุง (ตัวเท่าช้าง) ให้ช่วยไปหากินไกลๆ
ใครๆ ก็หลงรักสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี
ใครๆ จึงหลงรักปาย (หน้า ‘ไฮ’)
ความโรแมนติกจำเป็นต้องมีองค์ประกอบมากมาย หนึ่งในหลายนั้นคือความยินยอมพร้อมใจ ความรู้สึกหลงรัก, หลายครั้งจึงอิ่มเอมเมื่อเพียง ‘รู้สึกได้’ ว่าได้รับรักตอบ
เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่เราหลงรักปาย ในวงเล็บอาจหมายถึงเราหลงรักเพียงบรรยากาศโรแมนติกของปาย
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจจำเป็นต้องรู้ว่าเมืองกับชีวิตก็คล้ายกัน คือไม่ได้มีด้านเดียว
ปายวันนี้ฝนตก
และนักท่องเที่ยวบางคนก็ดูยิ้มแย้มไปกับมัน
*ตัดความจาก ‘น้ำท่วมปาย’ เซ็กชั่น จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2548