Monday, July 30, 2007

นกเงือก


นกเงือก (HORNBILL) ในโลกนี้มี 55 ชนิด
แพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอาฟริกาและเอเชีย

นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ อาจมีความยาวถึง 1.5 เมตร
เมื่อวัดจากปากถึงปลายหาง ส่วนมากมักมีขนสีดำสลับขาว
นกเงือกมีนิสัยในการทำรังผิดแปลกไปจากนกอื่นๆ ในโลก
คือเมื่อถึงฤดูทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง
ซึ่งก็คือโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ (เช่น ต้นยาง) ที่อยู่ในที่ลับตา

เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง มันจะทำความสะอาด
แล้วเริ่มปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้
ตัวเมียจะผสมวัสดุเหล่านี้กับมูลของมันเอง
เมื่อปิดปากโพรงจึงเหลือเพียงช่องแคบๆ
ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก
ส่วนตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลตัวเมียและลูกโดยส่งอาหารผ่านทางปากโพรง

นกเงือกจะมีส่วนหนังเปลือยเป็นสีฉูดฉาดอยู่บ้าง
เช่น บริเวณแถวๆ คอ ขอบตานกเงือกขนตายาว ขาสั้น
ชอบกระโดด ลิ้นสั้น จึงกินอาหารโดยจัดอาหารให้อยู่ที่ปลายปาก
แล้วโยนกลับลงคอ
อาหารของนกเงือกมีทั้งพืชและสัตว์ เช่น ผลไทร สุรามะริด ผลตาเสือ
ถ้าเป็นพวกสัตว์ก็ได้แก่ สัตว์เลื้อยคลานและแมลง

เราเคยเห็นกับตาตัวเองหนึ่งครั้ง ถ้าไม่ได้เข้าใจผิดและจำไม่ผิด
คาดว่าน่าจะเห็นแถวๆ เขาใหญ่ เมื่อนานมากแล้ว
มันเกาะอยู่ตัวเดียว บนต้นไม้สูง
เราอยู่บนรถ ที่กำลังขับไปตามทางถนน

บอกกันต่อๆ มาว่า นกเงือกจับคู่ครั้งเดียว
และจะซื่อสัตย์กับคู่ของตัวเองไปจนตาย
นั้นเป็นธรรมชาติของมัน

เรียบเรียงจาก http://kanchanapisek.or.th/kp8/nrs/nrs702.html
ภาพนกเงือกจาก http://images.world66.com/ho/rn/bi/hornbill_galleryfull

Friday, July 27, 2007

ทะลุหูขวา (3): Rufus Wainwright


ชิ้นนี้ของเดือนกรกฎาคม เอามาแปะช้าหน่อย ขออภัย
เขียนตอนที่เชียงใหม่กำลังจะเลือกตั้งนายกเทศมนตรี
ทั้งเมืองอุดมไปด้วย ปรัชญา หลักการ และคำโฆษณา
อันนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง
แล้วจู่ๆ เพลงนี้ของรูฟัสก็โผล่เข้ามา พอเหมาะพอดี
ขอเชิญติดตาม และถ้ามีโอกาสขอชวนให้ลองฟัง

ทะลุหูขวา
text and artwork by วชิรา
Fall On Deaf Ears by vajira


ขอขอบคุณ NOKIA 5700 XpressMusic

{artist}
Rufus Wainwright

รูฟัส เกิดเมื่อปีค.ศ.1973 ในมหานครนิวยอร์ก
แต่เนื่องจากพ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เล็ก
เขาจึงอาศัยอยู่กับแม่ที่ มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา
เริ่มเล่นเปียโนเมื่ออายุ 6 ขวบ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล
Genie Award จากเพลง I’m A-Runnin เมื่ออายุเพียง 14 ปี

รูฟัสแสดงตัวว่าเป็นเกย์ตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น ในช่วงอายุ 14 นี้เอง
เขาถูกล่วงเกินทางเพศในสวนสาธารณะ Hyde Park ในกรุงลอนดอน
รูฟัสเล่าภายหลังว่า “ผมบอกเขา (ผู้ชายที่หิ้วมาจากบาร์) ว่า
อยากไปดูคอนเสิร์ตที่สวน ผมแค่คิดว่ามันคงโรแมนติกดี
ที่จะเดินเล่นตอนกลางคืนในสวนสาธารณะด้วยกัน แต่เขากลับข่มขืนผม
ปล้นผม แล้วก็พยายามจะบีบคอผม”


รูฟัสออกอัลบั้มแรกในชื่อเดียวกับตัวเขาเมื่อปี 1998 และได้รับการบันทึก
จากนิตยสาร Rollingstone ว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี
เขาเคยออกทัวร์กับ Sean Lennon ในช่วงปีเดียวกันนั้น
แล้วจึงออกทัวร์เดี่ยวของตัวเองในเวลาต่อมา
รูฟัสทำงานกับศิลปินต่างๆ มากมาย ระหว่างปี 2001-2004
เขาออกทัวร์กับ Tori Amos, Sting, Ben Folds และ Guster


ช่วงต้นค.ศ.2000 รูฟัสเริ่มติดยา (crystal meth) จนถึงขั้นตาเกือบบอด
อาการติดยาของเขาหนักหน่วงขึ้นถึงขีดสุดในช่วงปี 2002
รูฟัสพูดถึงช่วงเวลานั้นว่าเป็น ‘the most surreal week of his life’
ในช่วงเวลานั้น เขาต้องการใครสักคนช่วยชี้ทางชีวิตให้
แล้วทันทีที่โทรศัพท์ไปหา Elton John เพื่อนรัก
ผู้ที่ภายหลังเป็นคนโน้มน้าว นำส่ง และจัดการดูแลเขาให้ไปเข้ารับการบำบัด
ปัจจุบัน รูฟัสไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธว่าเขายังคงเลิกใช้ยาหรือไม่

เพลงส่วนใหญ่ของรูฟัส มีน้ำเสียงไปทางอุปรากร วรรณคดี
และวัฒนธรรมป็อป
เนื้อเพลงกว่าครึ่งเป็นมุมมองความรักของเขาที่มีต่อชายหนุ่ม
จนกระทั่งในยุคหลังนี่เอง
ที่รูฟัสเริ่มบรรจุเนื้อหาเรื่องการเมืองลงในเพลงอย่าง
Waiting for a dream, Gay Messiah และ Going to a town.

Release the star เป็นอัลบั้มที่ 5 ในรอบสิบปี
รูฟัสบินไปทำงานชุดนี้ที่ Berlin
โดยใช้บรรยากาศ ‘โรแมนติกแบบเยอรมันโบราณ’ เป็นแรงบันดาลใจ
และนี่เป็นอัลบั้มแรกที่เขาโปรดิวซ์ให้ตัวเอง
(โดยมี Neil Tennant แห่ง Pet Shop Boys
เป็น Executive Producer ให้)
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rufuswainwright.com/



{lyric}
Going To A Town

I'm going to a town that has already been burned down
I'm going to a place that is already been disgraced
I'm gonna see some folks who have already been let down.
I'm so tired of America


I'm gonna make it up for all of the Sunday Times
I'm gonna make it up for all of the nursery rhymes
They never really seem to want to tell the truth
I'm so tired of you America


Making my own way home
Ain't gonna be alone
I got a life to lead America
I got a life to lead

Tell me do you really think you go to hell for having loved?
Tell me and not for thinking every thing that you've done is good
(I really need to know)
After soaking the body of Jesus Christ in blood
I'm so tired of America
(I really need to know)


I may just never see you again or might as well
You took advantage of a world that loved you well
I'm going to a town that has already been burned down
I'm so tired of you America

Making my own way home
Ain't gonna be alone
I got a life to lead America
I got a life to lead
I got a soul to feed
I got a dream to heed
And that's all I need


{essay}
บ้านของฉัน

ต่อไปนี้คือเรียงความเรื่อง ‘บ้านของฉัน’
บ้านของฉันประกอบไปด้วยพ่อ แม่ แล้วก็ ฉัน
แน่นอน, เวลาพูดถึงบ้าน เรามักไม่กล่าวถึงสิ่งก่อสร้าง

บางคนพยายามเรียกองค์ประกอบทั้งสามนี้ว่า ครอบครัว
แต่ฉันก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า
การกำหนดความสมบูรณ์พร้อมไว้ล่วงหน้า
ว่าความหมายของครอบครัว ‘ต้อง’ ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกนั้น
จะทำให้ชีวิตสุขสงบจริงหรือ

ฟังดูไม่ค่อยยุติธรรมกับคนอื่นๆ นัก ที่พวกเขาหลายคน
ไม่มีสิทธิ์มี ‘ความสมบูรณ์พร้อม’ เหมือนเพื่อนๆ ของฉันที่โรงเรียน
หลายคนไม่มีพ่อ หลายคนขาดแม่ จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่
พวกเขาถูกบรรจุไว้ในกลุ่มบุคคลผู้มีองค์ประกอบ ‘ไม่สมบูรณ์’
เป็นที่เรียบร้อย
ทั้งที่ความไม่สมบูรณ์พร้อมนั้น
ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย

ทันทีที่มีคนระบุว่าสิ่งนี้ ‘ครบ’
นั่นหมายความว่าการ ‘ขาด’ ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
ครอบครัวประกอบด้วยลำพังพ่อกับฉัน
หรือแม่กับฉัน หรือพ่อกับแม่ ไม่ได้หรือ
หรือแม้กระทั่งฉันคนเดียว เป็นครอบครัวไม่ได้ใช่ไหม

แต่นับว่าฉันยังโชคดีมาก บ้านของฉันอยู่ในเมือง จะอธิบายยังไงดี
เพราะที่จริงมันก็คือการที่มีบ้านหลายๆ บ้านมาปลูกอาศัยอยู่รวมๆ กัน
จนกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ แล้วด้วยความใหญ่ของมันนี่เอง
ทำให้ต้องมีคนอาสามาดูแลจัดการสารทุกข์สุกดิบให้กับบ้านต่างๆ
ที่ปักหลักกระจายตัวอยู่ทั่วอาณาบริเวณ
ถึงเวลา เขาก็เสนอตัวมาให้พวกเราเลือก เอ่อ...ที่จริงฉันไม่ได้ต้องการ
พวกเขานักหรอก
แต่จู่ๆ ใครก็ไม่รู้บอกว่า พวกฉัน ‘จำเป็น’ ต้องมีพวกเขาไว้คอยดูแล

ตลกดี ที่อยู่ดีๆ ฉันก็ถูกยัดเยียดข้อหาให้ว่า ‘ดูแลตัวเองไม่ได้’
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีบางคนอาสามาช่วย ‘เสริมสร้าง’ ครอบครัว
ให้อบอุ่นและเป็นสุข
นี่ยิ่งตลกกว่า-ก็ไหนว่าครอบครัวประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก
แล้วคนๆ นั้นเป็นใคร
อยู่ดีๆ จะอุปโลกตัวเองมาช่วยดูแลครอบครัวฉัน
ให้อบอุ่นและเป็นสุข

ที่ตลกที่สุด ทั้งที่เป็นบ้านของตัวเองแท้ๆ
ฉันกลับไม่สามารถ ‘เรียกร้อง’ อะไรกับพวกพี่ป้าน้าอา
ที่อาสามาดูแลเมืองที่ฉันอาศัย หรือกระทั่งไม่สามารถแสดง
ความ ‘ไม่เห็นด้วย’ ในสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาทำ
ตอนแรกฉันคิดว่ารู้สึกอยู่คนเดียว แต่ก็เปล่า
เพื่อนที่อยู่บ้านข้างๆ ก็รู้สึกเหมือนกัน เขายังบอกอีกว่า
เพื่อนที่อยู่ข้างๆ บ้านของเขาก็รู้สึกแบบเดียวกัน

กล้ำกลืน-เพื่อนฉันใช้คำสวย (กว่าฉัน)

ใครกันนะ ทำให้ฉันและเพื่อนๆ ต้องตกอยู่ในสภาวะแบบนี้
อย่าพูด-พ่อกับแม่สอนฉันระหว่างรับประทานอาหาร
ในฐานะที่ครอบครัวเรายังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
อย่าสงสัย-คุณครูที่โรงเรียนสอนฉัน
ในฐานะที่เรามีหน้าที่ศึกษาตำราที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น
อย่าถาม-เพื่อนๆ ที่โรงเรียนสอนฉัน เพราะพวกเขารู้ดีว่า
ไม่มีใครตอบคำถามในเรื่องพวกนี้ได้ถูกต้องนักหรอก
ฉันเลยชอบเก็บตัว ฟังเพลง เพราะเวลาที่ฟังเพลง
ฉันไม่สงสัย ไม่พูด ไม่ถาม ปล่อยให้เพลงแต่ละเพลง
เคลื่อนไหลไปตามจังหวะ เวลา และล่องลอยไปในอากาศ
ใครเขาจะทำอะไรก็ปล่อยเขา

นี่อาจเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง แต่ฉันก็จนใจ
ถึงจะดูเหมือนว่าฉันไม่ทำอะไรเลย
แต่ก็ขอสารภาพว่าลึกๆ แล้วฉันรู้สึกเสียใจ
ถ้าเพียงแค่พวกเขาเรียนรู้ที่จะฟัง
หลายอย่างที่แย่ๆ อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้-ถ้าพวกเขารู้จักฟัง

ฉันจึงคิดว่าต่อไปนี้ ถ้ามีโอกาสพบเจอตัวเป็นๆ
จะชวนพวกเขามาฟังเพลงที่บ้าน
โลกนี้มีเพลงไพเพราะอีกมาก อย่างเช่นที่ Rufus Wainwright
กำลังขับร้องอยู่ตอนนี้ ในห้องแคบๆ เงียบๆ ของฉัน ในบ้านเล็กๆ
ร่มรื่นของพ่อกับแม่ ในเมืองใหญ่ๆ วุ่นวายไม่สิ้นสุดของพวกเขา

แล้วถ้าบังเอิญพี่ป้าน้าอาเหล่านั้นสละเวลามาปรากฏตัวได้จริงๆ
ฉันก็มีคำถามอยากจะถาม-ส่วนตัว
อยากรู้ว่าสถานะของเราที่เป็นอยู่นี้
เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ใช่ไหม?


พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับเดือนกรกฎาคม 2550


Monday, July 16, 2007

Rizana Naffeek



เราได้รับอีเมลฉบับหนึ่งจากพี่แป็ด (ระหว่างบรรทัด)
อ่านแล้วน่าสนใจดี เมื่อเช้าตื่นมา
ก็คิดถึงเรื่องนี้อยู่ว่าจะเป็นอย่างไร ลองอ่านรายละเอียดดู
แล้วอย่าลืมว่า วันที่วันที่ 16 กรกฎาคม!

เรื่องของ “ริซานา” เด็กสาวชาวศรีลังกา ผู้ต้องโทษประหารในซาอุฯ ด้วยคดีฆ่าทารกน้อย

ที่มา

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?
mod=mod_ptcms&ContentID=8800&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage
=Thai


ประชาไท – 11 ก.ค. 50 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
(The Asian Human Rights Commission-AHRC)
วอนช่วยส่งจดหมายถึงพ่อของเด็กทารกวัย 4 ขวบ
ที่เสียชีวิตด้วยอาการสำลักน้ำนม ที่ฟ้องเด็กสาวชาวศรีลังกา
ในข้อหาบีบคอเด็กทารก

ริซานา นาฟฟีค ชาวศรีลังกา
ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตที่ซาอุดิอาระเบีย ในข้อหาบีบคอทารกวัย 4 เดือน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเชื่อว่า โศกนาฎกรรมครั้งนี้
เกิดจากการเลี้ยงดูโดยขาดทักษะ

ริซานา นาฟฟีค เกิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2531 เธอมาจากหมู่บ้านที่ยากจน
เนื่องด้วยภัยสงคราม หลายครอบครัวที่นั่น รวมทั้งชุมชนมุสลิม
ต่างส่งลูกหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไปทำงานต่างประเทศ
เพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว

บริษัทจัดหางานบางแห่งหาประโยชน์จากสถานการณ์นี้
ด้วยการรับหางานให้เด็กผู้หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ในการนี้เอง บริษัทจัดหางานได้โกงอายุเด็กเหล่านั้นให้มากกว่าอายุจริง
เพื่อทำพาสปอร์ต

สำหรับริซานา พาสปอร์ตของเธอระบุว่าเกิดเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2525
ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่บริษัทจัดหางานจะสามารถหางานในซาอุดิอาระเบียให้เธอได้
โดยเธอเดินทางไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบียเมื่อเดือนพ.ค. 2548

เธอได้ทำงานที่บ้านของนายนาอิฟ จิซิยาน คาลาฟ แอล โอไตบิ
ซึ่งมีลูกชายวัยแรกเกิด 1 คน หลังจากเธอเริ่มทำงานได้ไม่นาน
ก็ได้รับมอบหมายให้ป้อนนมทารกวัย 4 เดือน
ริซานาที่ไม่มีทักษะในการดูแลเด็กเล็ก ถูกทิ้งให้ป้อนนมทารกตามลำพัง
ขณะที่เธอป้อนนมอยู่นั้น เด็กชายก็เกิดสำลักนมขึ้นมา
ซึ่งเหตุการณ์นี้มักจะเกิดอยู่บ่อยๆ
ริซานาตกใจมาก ระหว่างที่ตะโกนขอความช่วยเหลือ
เธอก็ใช้มือคลำบริเวณหน้าอก ลำคอและใบหน้าของทารกเพื่อหาทางช่วยเหลือ

เมื่อแม่ของเด็กมาถึง ทารกก็เสียชีวิตแล้ว
และเห็นภาพที่เธอก็ใช้มือคลำบริเวณหน้าอก ลำคอและใบหน้าของทารก
เพื่อหาทางช่วยเหลือ
ด้วยความเข้าใจผิด ทำให้ครอบครัวของเด็กจับเธอส่งตำรวจ
ด้วยข้อหาบีบคอลูกของพวกเขา

ที่สถานีตำรวจ ริซานาถูกจับโดยไม่มีล่ามหรือใครที่จะช่วยอธิบาย
ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ เธอถูกให้เซ็นต์รับสารภาพ จากนั้นมีการยื่นฟ้องเธอ
ด้วยข้อหาฆาตกรรมด้วยการบีบคอ

ครั้งแรกที่ขึ้นศาล ริซานาถูกตำรวจขู่ให้รับสารภาพ ต่อมาเมื่อเธอได้คุย
กับล่ามจากสถานทูตศรีลังกา เธอได้อธิบายด้วยภาษาของตัวเอง
ว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจากได้ฟังเรื่องราวแล้ว ผู้พิพากษาได้ขอให้พ่อของเด็ก
ใช้สิทธิพิเศษในการยกโทษให้ริซานา แต่พ่อของเด็กก็ปฏิเสธ
ศาลมีคำตัดสินให้ประหารชีวิตเธอโดยการตัดศีรษะในวันที่ 16 ก.ค.ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเวลา 1 เดือน สำหรับอุทธรณ์
แต่ก็ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์ ตัวตั้งตัวตีในการอุทธรณ์ครั้งนี้คือ รัฐบาลศรีลังกา
โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเข้าใจว่า
สถานทูตศรีลังกาในซาอุดิอาระเบียได้ขอความช่วยเหลือจากบริษัทกฎหมาย
ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 66,666 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
ซึ่งสถานทูตสามารถเจรจาแล้วเหลือ 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของศรีลังกาไม่อนุมัติค่าใช้จ่ายใดๆ
ในการดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนสถานทูตศรีลังกาประจำซาอุดิอาระเบีย
ก็ยังไม่ได้รับคำพิพากษาและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี
ซึ่งจำเป็นในการยื่นอุทธรณ์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตามกฎหมายของซาอุดิอาระเบีย ครอบครัวของผู้เสียหายมีสิทธิพิเศษ
ในการยกโทษให้แก่ผู้กระทำผิด นั่นคือ ครอบครัวของทารก
สามารถยกโทษให้ริซานาได้ ซึ่งจะทำให้การลดโทษมีผลตามกฎหมาย
ของซาอุดิอาระเบีย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย เห็นว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นโศกนาฎกรรม
ไม่ใช่อาชญากรรม และไม่มีการระบุถึงความขัดแย้งระหว่างพี่เลี้ยง
และครอบครัวของเด็กที่เสียชีวิต ซึ่งถ้าหากมีความขัดแย้งกัน
ครอบครัวของเด็กก็คงไม่ให้เด็กอยู่ในดูแลของเธอ

การขาดทักษะและอุปสรรคทางการสื่อสารเนื่องจากปัญหาด้านภาษา
นำมาซึ่งเหตุการณ์น่าเศร้าที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาชญากรรม

ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย จึงเชิญชวนให้ส่ง
จดหมายถึงพ่อของเด็กที่เสียชีวิตเพื่อขอให้ให้อภัยแก่ริซานา
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการคุกคามครอบครัวดังกล่าว
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ขอให้ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือริซานา
ส่งจดหมายโดยผ่านทางสถานทูตศรีลังกา

อนึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ร่างจดหมายไว้แล้ว
ผู้ที่ต้องการสนับสนุนการอุทธรณ์ครั้งนี้
สามารถคลิกที่แบนเนอร์เพื่อร่วมลงชื่อได้
คลิกส่งจดหมายได้ที่นี่ http://www.ahrchk.net/ua/support.php?ua=UP-097-2007

สำหรับเนื้อหาในจดหมายนั้น ได้แสดงความเสียใจกับการสูญเสียลูกชาย
ของครอบครัวโอไตบิ และขอความเห็นใจจากหัวหน้าครอบครัวดังกล่าว
เพื่อให้ยกโทษให้ริซานา ที่กำลังจะถูกประหารชีวิตในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
(16 ก.ค.)โดยอธิบายถึงการจากไปของเด็กชายวัย 4 เดือนว่า
เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการขาดทักษะในการดูแลเด็ก

เรียบเรียงจาก Update on Urgent Appeal: Your urgent intervention is needed to save Rizana Naffeek who must appeal against the death sentence before 16 July 2007

รูปภาพจาก
http://z.about.com/d/afroamhistory/1/7/l/3/execution.jpg
(รูปภาพนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงแต่อย่างใด)

Tuesday, July 10, 2007

FALL ON DEAF EARS: JULY 2007



จดหมายข่าว สำหรับคนที่ไม่ได้อีเมลนะ

สวัสดี
ผ่านงานที่กรุงเทพฯ ไปได้ก็สบายใจขึ้นมาก
ตอนนั้นทั้งเหนื่อย ทั้งกังวล ทั้งเครียด และอีกหลายๆ ทั้ง
ขอบคุณทุกๆ คนที่สนใจ ขอบคุณทุกๆ คนที่มาร่วมงาน
ไม่คิดมาก่อนเลยว่าคนจะเยอะขนาดนั้น
ขอบคุณจริงๆ และขออภัยสำหรับความไม่สะดวกต่างๆ นานา
ถ้ามีโอกาสจัดงานที่กรุงเทพฯ อีก
จะเตรียมการให้ดีขึ้น (แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้แน่ๆ ^^)
อยากขอบคุณเพื่อนๆ ที่มาร่วมเปิดเพลงด้วยกันด้วย
อันประกอบด้วย พี่โหน่ง (สมชาย ขันอาษา) พี่นูญ ไอ้ต้อม แล้วก็ ดุ๋ย
คนเหล่านั้น ไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวข้องกับวงการเพลงเลย
(ยกเว้นพี่โหน่ง ที่ค่อนข้างอยู่ใกล้วงการเพลงกว่าคนอื่นๆ หน่อย)
พี่นูญทำนิตยสาร ตอนนี้ยังทำอยู่
ไอ้ต้อมเคยทำนิตยสาร แต่ตอนนี้ไปทำงานธนาคารแล้ว
ทั้งสองคนช่วยเปิดโลกฟังเพลงของเราให้กว้างขึ้น
ส่วนดุ๋ยเป็นกราฟฟิก ทำงานออกแบบ
เมื่อก่อนเคยทำภาพประกอบให้คอลัมน์ของเรา
(ดุ๋ยออกแบบ 'เก้าอี้' ได้รางวัลระดับนานาชาติบ่อยๆ)
แม้ทุกคนจะฟังเพลงคล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
เลยลองชวนให้เลือกเพลงมาเปิดด้วยกัน
แล้วความที่ 'ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว' ก็ทำหน้าที่ในคืนนั้นได้ดีเชียว

คนที่เคยมางานที่เชียงใหม่
อาจแปลกใจว่าทำไมงานที่กรุงเทพฯ มี SONG MENU
ซึ่งที่เชียงใหม่ไม่เคยมีต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า
ปกติเวลาจัดงาน เราจะไม่ทำ playlist ไว้ล่วงหน้า
เพราะกลัวตัวเองไม่สนุก ทุกครั้งเวลาที่จัด ก็เปิดเพลงต่อๆ กันไปเรื่อย
ฟังเพลงนี้แล้วนึกถึงเพลงนั้นแล้วอยากฟังเพลงโน่นต่อ อะไรแบบนั้น
ผ่านมาได้หลายเดือนก็ยังสนุกดีอยู่
(เพราะมันชวนให้ตื่นเต้นมากกก เวลาที่กำลังจะเลือกเพลงไม่ทัน)
แต่เนื่องจากที่บางกอกมีเพื่อนมาเปิดด้วย
เลยต้องทำอะไรสักอย่างที่เป็นเหมือน sequence ของงาน
เพื่อความไม่มั่วจนเกินไปเลยคิดถึง SONG MENU ขึ้นมา
ก็เวลาไปร้านอาหาร เขายังมีเมนูไว้คอยบริการ
แล้วทำไมเวลาไปฟังเพลง เราจะมีเมนูบ้างไม่ได้ล่ะ
ต่างกันก็แค่คนที่มา เลือกฟังเองไม่ได้
(ฮ่า ฮ่า)
ทำไปแล้วก็ค้นพบว่าสนุกไปอีกแบบ
ข้อดีคือคนที่มาจะรู้ล่วงหน้าได้ว่าคืนนี้จะได้ฟังเพลงของใครบ้าง
มีวงโปรดของตัวเองหรือไม่ หรือถ้าไม่มี (หรือไม่รู้จัก)
ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รู้จักเพลงและวงใหม่ๆ
อันเป็นจุดประสงค์แท้จริงของกิจกรรมเหล่านี้
ส่วนข้อเสียนั้นก็คงจะเป็นว่า ต้องเตรียมตัวนานนนนนกว่าปกติ
เพราะถึงเวลาวันจริง ก็ทิ้ง SONG MENU ไปบ้างอยู่ดี

เดือนนี้กลับมาที่เชียงใหม่เหมือนเดิม
ตอนแรกตั้งใจว่าจะจัดวันเสาร์ที่ 14
แต่บังเอิญว่าที่ร้านไม่ว่างเพราะมีคนมาจัดงานแต่งงาน
บวกลบคูณหารแล้วคิดว่าไม่ควรไปขัดขวางงานแต่งงานของเขา
ครั้นจะเลื่อนมาวันที่ 7 ก็เร็วไปหน่อย วันที่ 21 ก็เกรงจะสายเกินไป
เลยลงตัวที่วันพุธที่ 11
เดือนนี้ยังมีฉายหนังเช่นเดิมเป็นมิวสิควิดีโอ (ชุดใหญ่)
ของ Depeche Mode
แผ่นนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก EMI ค่ายต้นสังกัด (ขอบคุณ)
สำหรับคอเพลง คงไม่ต้องอธิบายถึง Depeche Mode ให้มากความ
เพราะเป็นวงเก่าแก่ที่ยังเก๋าดีอยู่
'เล่นมาแล้วทุกแนว แต่งตัวมาแล้วทุกแบบ'
(เคยได้ยินประโยคเมื่อกี้มาจากรายการวิทยุ)
ส่วนคอเพลงรุ่นใหม่ อาจคุ้นเคยจากเพลง somebody
ที่พี่ป็อดนำมาร้องในคอนเสิร์ต The Very Common เมื่อคราวโน้น
(ยังจำได้ติดหูว่า ตอนที่เปียโนเพลงนี้ขึ้น คนดูก็ส่งเสียงหวีดดดดด)
MV ส่วนใหญ่ในยุคกลางๆ (ค่อนไปทางยุคหลัง)
กำกับโดยคุณ Anton Corbijn
ใครนะ? กรุณาไปค้นคว้าต่อกันเองเองละกัน
(ค้นคว้าแล้วจะรู้ว่าไม่ควรพลาดชม+ศึกษาผลงานของพี่เขา)
กลับไปกรุงเทพฯ คราวที่แล้ว อยู่บ้านนานหน่อย
ช่วงที่พักผ่อนก็เก็บข้าวเก็บของ จนพบ 'กระต่าย' สังกะสีตัวนี้เข้า
(แต่ถ้าใครจะมองว่าเป็น หนู ก็ไม่เป็นไรนะ เพราะว่า หู มันมองไม่ค่อยเห็น)
เลยชวนมันมาเป็นแบบโปสเตอร์ให้
จับมาวางบนแผ่นขน ถ่ายรูป แล้วก็เอาตัวหนังสือมาลงเป็นอันเสร็จพิธี
เอ่อ...เรื่องงานรูปถ่าย (ที่ไปแสดงที่กรุงเทพฯ) กำลังอยู่ในระหว่าง
การติดต่อประสานงานว่าจะสามารถจัดแสดงที่เชียงใหม่ได้หรือไม่
ช่วงนี้ สำหรับคนที่สนใจ ขอเชิญเลื่อนตาลงไปข้างล่าง
เลือกบางส่วน (บางมากๆ) ไว้ให้ดูไปพลางๆ
(แต่ขอยืนยันว่า การได้ชมรูปจริงที่อัดบนกระดาษอัดรูปนั้น
'ได้อารมณ์' กว่ากันมากมายนัก)
จดหมายฉบับนี้ยาวจังสงสัยเป็นสัญญาณว่ากำลัง 'อยาก' เขียน
สรุปเลยดีกว่าว่า เดือนนี้จัดงานวันพุธที่ 11 กรกฏาคม 2550
ที่ร้านขันอาษาเช่นเดิม
19.00 ฉายเอ็มวีของ Depeche Mode
แล้ว 21.00 ก็เริ่มบรรเลงเช่นเดิม
สำรองโต๊ะได้ที่ 086 914 8251
เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายแล้วที่ NOKIA เป็นสปอนเซอร์ให้
ขอบคุณ NOKIA สำหรับการสนับสนุนตลอดสามเดือนที่ผ่านมา
ขอบคุณอุณา ตัน และทุกๆ คน

ไปล่ะ แล้วพบกัน
ช่วงนี้ฝนตกบ่อย ระวังไม่สบาย
^^

หมายเหตุ เนื่องจากยังไม่มีทีมงานเป็นตัวเป็นตน
จึงใคร่ขอรบกวนทุกท่านที่หากบังเอิญพบเห็นภาพข่าวปาร์ตี้ที่กทม
ลงตีพิมพ์ในนิตยสารเล่มไหน ฉบับใด
ให้ช่วยส่งข่าวกลับมาให้ทราบด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งยวด