สำหรับท่านที่เข้ามาช่วงสงกรานต์แล้วพบสี่สาวในชุดสไบนี้คือที่มา...^^โพรง
เรื่องและภาพประกอบ โดย วชิรา
โปรดติดตามเทศกาลต่อไป
เทศกาลสงกรานต์ที่เชียงใหม่นั้น เล่าลือกันว่าสนุกสนานนักหนา ถือเป็นสถานที่อันดับต้นๆ ของประเทศที่ผู้คนจากทั่วทิศหลั่งไหลมาเที่ยวเล่น
สิ่งที่ผมชอบที่สุดเกี่ยวกับเทศกาลไม่ว่าที่ไหน คือการได้เห็นพลังงานของคนจำนวนมากเหนี่ยวแน่นอยู่กับ ‘พื้นที่’ พวกเขาอยู่ ทั้งคนที่พำนักอาศัยเป็นพื้นเพ ทั้งคนที่แวะเวียนมาทักทายชั่วคราว ยิ่งถ้าเป็นเทศกาลจำพวกแห่งชาติหรือแห่งเมือง ก้อนความรู้สึกร่วมของผู้คนยิ่งมีขนาดใหญ่ตามเป็นเงา
หลายครั้งไม่เคยรู้ที่มาของเทศกาลต่างๆ เหล่านั้นด้วยซ้ำ
ความประทับใจบรรยากาศรอบคูเมืองเมื่อครั้งสงกรานต์ปีที่แล้ว (พ.ศ.2550) อันเป็นสงกรานต์แรกอย่างเป็นทางการของผมที่เชียงใหม่ ยังอิ่มเอมไม่รู้ลืม จนทำให้ปีนี้ (พ.ศ.2551) ตั้งใจหนักแน่นว่าจะลองไม่ออกไปเล่นน้ำบ้าง นึกอยากฉวยเวลาให้เป็นช่วงพักผ่อนและเตรียมงานใหม่ในขณะที่ยังอิ่มเอมดีอยู่
จนในคืนวันที่ 11 เมษายน ก่อนวันสงกรานต์จริงสองวัน ผมบังเอิญเห็นภาพแปลกตาตีพิมพ์อยู่ในหน้า SPOTLIGHT (เขียนโดยคุณ Anchalee Kongrut) ของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 2 เมษายน ซึ่งสันนิษฐานว่ามีคนอ่านแล้ววางทิ้งไว้ในสตูดิโอเล็กๆ ด้านหน้าร้าน See Scape
ภาพนั้นเป็นภาพของนักร้องสาวคณะ Girly Berry ใส่ชุดไทยสไบเฉียง มือคล้องมาลัยถือเครื่องหอมและผ้าพับ ขณะที่มุมบนด้านซ้ายมีภาพของนักร้องคณะเดียวกันนี้ใส่กระโปรงสั้นเสื้อรัดโชว์สะดือตามแบบฉบับดั้งเดิมของพวกเธอ พร้อมคำโปรยตัวเบ้อเริ่มว่า ‘Culture clash?’ เนื้อความโดยสังเขปว่าเป็นแคมเปญจากกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อรณรงค์และเรียกร้องให้วัยรุ่นไทยแต่งตัว ‘เหมาะสม’ กับการออกไปเล่นน้ำ ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมออกมาแสดงความเห็นว่าการใช้ภาพลักษณ์ของ Girly Berry เพื่อโปรโมทการแต่งตัวให้เหมาะสมนั้น ‘เหมาะสม’ จริงหรือ แถมพ่วงด้วยการตั้งคำถามว่าการที่กระทรวงวัฒนธรรมใช้จ่ายเงินทองไปกับแคมเปญ ‘ผิวเผิน’ แบบนี้นั้นเหมาะสมหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วควรนำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นในทางวัฒนธรรมมากกว่า
ผมนั้นไม่ติดขัดใดๆ กับข้อถกเถียง ไม่ขัดตากับ Girly Berry ในเครื่องทรงแบบไทยโบราณ เพราะเห็นว่าแปลกตาและน่ารักดี ทั้งยังไม่ขัดแย้งกับผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมทุกท่าน เพราะไม่มีความรู้ทางวัฒนธรรมใดๆ ไปถกเถียงด้วย เพียงประทับใจสุดซึ้งกับวิธีคิดที่ออกจากกระบอกเสียงของกระทรวงฯ ว่า “นี่เป็นวิธีประชาสัมพันธ์แบบใหม่ที่ไม่ ‘สั่งสอน’ แต่ใช้วิธี ‘แสดงตัวอย่าง’ ให้เห็น” ตอกย้ำตามมาอีกระลอกว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องของการแต่งตัวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการ ‘เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม’ ถ้า Girly Berry สามารถเปลี่ยนแปลงได้ วัยรุ่นทั้งหลายก็จะเปลี่ยนตาม”
ช่างเป็นกลยุทธ์ที่แยบคายอะไรเช่นนี้! ผมเปลี่ยนใจในนาทีนั้น เตรียมออกไปสังเกตุการณ์ในวันรุ่งขึ้นด้วยใจระทึก
ผู้คนและนักท่องเที่ยวทั้งหลายคงแต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ไม่แน่ วัยรุ่นส่วนใหญ่อาจใส่ชุดไทยออกจากบ้านตามภาพนักร้องในดวงใจของพวกเขา ถนนหนทางคงปราศจากเครื่องดื่มมอมเมา การเล่นน้ำคงละมุนละม่อมอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยใน ‘กรอบประเพณี’ อันดีงาม เสียงดนตรีไทยเดิมคงลอยละล่องผ่านช่องอากาศเข้ากระทบรูหูอย่างพินอบพิเทา
วันรุ่งขึ้น ผมและชาวคณะออกจากละแวกนิมมานเหมินทร์ที่พักอาศัย เดินลัดเลาะผ่านซอยกรรไกรทองไปยังบริเวณด้านหน้ากาดสวนแก้ว อันได้ข่าวเลื่องลือมาจากปีที่แล้วว่าสนุกสนานดีไม่แพ้คูเมือง เราเดินดุ่มกันไปแบบไม่มีอุปกรณ์ ซึ่งอันที่จริงผมก็นึกอยากเล่นน้ำกับคนอื่นเขาบ้าง ถ้าไม่บังเอิญไปเห็นข่าวที่ชาวบ้านทะเลาะกันเรื่องไม่มีน้ำใช้เมื่อหลายวันก่อนในหน้าหนังสือพิมพ์ (จำฉบับไม่ได้แล้ว ขออภัย)
เอาน่า เทศกาลสนุกสนานแห่งชาติ แก้เขินด้วยการเดินเฉยๆ ไม่พกน้ำไปราดคนอื่นก็คงพอได้
เมื่อไปถึงที่หน้ากาดสวนแก้วผมตกใจแทบสิ้นสติ ที่นั่นผู้คนหนาแน่น (แต่ก็ยังปล่อยให้รถวิ่งอยู่บนถนนทั้งที่แทบจะไม่ขยับเขยื้อนไปไหน!) แต่งตัวเสื้อยืดบ้าง เสื้อกล้ามบ้าง แต่ดูรัดกุมเป็นส่วนใหญ่ (มีบ้างที่ฉวยโอกาสของเทศกาล ‘แสดงออก’ มากกว่าชีวิตประจำวันปกติ) สองฝั่งถนนมีเวทีนับคร่าวๆ ได้สี่เวที ทั้งแบบเล่นดนตรีกันสดๆ และเปิดแผ่น ทั้งแบบมีคนเต้นโชว์และไม่มี บางเวทีมีฟองสบู่ให้เล่น! เพลงที่พวกเขาเล่นและเปิดนั้นล้วนเป็นเพลงฝรั่งคึกคักชวนให้ขยับตัวตาม ทั้งร็อค ป็อป เร็กเก้ แดนซ์ อิเลคโทรฯ หลายเวทีคนเต้นกันมันสุดเหวี่ยงชนิดไม่กลัวน้ำเข้าตา บางเวทีก็คนหรอมแหรม นัยว่ายังไม่ชินกับเพลงล้ำๆ นำสมัย
วัฒนธรรมไทยอันงดงามตามแบบที่ทางราชการได้กรอกหูผมไว้นั้น ละลายไปกับสายน้ำแล้วหรือใจนึกอยากกระโดดขึ้นไปบนเวที แย่งไมค์จากนักร้อง ป่าวประกาศถึงวัยรุ่นทั้งหลายที่เปียกปอนอยู่แถวนั้นให้ประพฤติปฏิบัติตัวให้ ‘เหมาะสม’ ตามภาพของ Girly Berry ที่กระทรวงฯ ใช้บอกกล่าว แต่ด้วยความเป็นคนไทยใจขี้อาย ผมจึงได้แต่เดินกลับบ้านด้วยหัวใจที่แหลกสลาย
พลันฉุกคิดถึงเป้าหมายแท้จริงของการออกมาตักเตือนว่าอาจเป็นเรื่อง ความเป็นห่วงเป็นไยในชีวิตและทรัพย์สินของคนที่มาร่วมเล่นน้ำสงกรานต์นอกบ้าน อันเป็นเวลาที่อยู่นอกเหนือการทำบุญ สรงน้ำพระและกราบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่
แต่ความห่วงไยนั้นเป็นความงดงามน่ารักที่มนุษย์โลกพึงกระทำต่อกันโดยธรรมชาติไม่ใช่หรือ มันไปเกี่ยวข้องเฉพาะเจาะจงกับ ‘ความเป็นไทย’ ได้อย่างไรกัน
ภาพสี่สาวสไบเฉียงที่ผมบังเอิญเห็นจึงอาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการฉวยเอา ‘เปลือก’ ปลอมๆ ของ ‘ความเป็นไทย’ ชนิดพร้อมขายให้นักท่องเที่ยว ใส่ห่อเดิมๆ เวลามีเทศกาลสำคัญๆ และนำมาใช้กับวัยรุ่นไทยๆ อย่างเราๆ ที่เห็น Girly Berry ในชุดนุ่งสั้น โชว์สะดือ และเต้นกระดกๆ อยู่ในจอทีวีอยู่ทุกวี่วัน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตปกติของพวกเธอ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตเดียวกับที่เราพบเห็นเวทีประกวดเทพีต่างๆ นานาที่เด็กตัวเล็กตัวน้อยแต่งหน้าจัดปากแดงสดเต้นบ้าง รำบ้าง โดยมีผู้ปกครองคอยผลักดันอยู่ด้านล่าง
เอาล่ะ สำหรับท่านที่พลาดช่วงเวลาสำคัญนี้ไป ไม่ต้องเสียอกเสียใจ เดี๋ยวเปลือกปลอมๆ แบบนี้ก็จะกลับมาอีก
โปรดติดตามในเทศกาลต่อไป
ความตาม
หนังสือพิมพ์วันที่ 19 เมษายนหลายฉบับลงข่าว Girly Berry (แต่งตัวรัดกุม) ออกมาแถลงข่าวขอโทษกระทรวงวัฒนธรรมที่แต่งตัว ‘ไม่เหมาะสม’ ในการแสดงที่ถนนข้าวสารช่วงสงกรานต์ (เพราะพวกเธอใส่ชุดเดิมๆ ที่เคยใส่นั่นเอง!) โดยขอให้ประชาชนแยกแยะบทบาทของ ‘อาชีพ’ และ ‘การรณรงค์’ ว่าสามารถทำร่วมกันได้ ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมขานรับกระแสทันทีว่าไม่มี ‘สำนึก’ และไม่รักษา ‘สัญญา’ ที่ให้ไว้กับประชาชน (ในการรณรงค์แต่งกายให้เหมาะสม) พร้อมทั้งขู่จะขึ้น ‘บัญชีดำ’ นักร้องสาวกลุ่มนี้ไม่ให้เข้าร่วมการรณรงค์ใดๆ ของรัฐบาลอีกในอนาคต...เอวัง