Saturday, August 30, 2008

EATING PARTY 4 @ minimal


คืนนี้มีงานกินที่ minimal (ที่ที่งานหูเคยไปจัด Radiohead ไง)
ปกติ minimal จัดงานกินแบบนี้ทุกเดือน สรรหาของแปลกๆ มากินกัน
ถ้าเวลาตรงกัน เราก็ไปเปิดเพลงกับเขาบ้าง สนุกสนานกันพี่ๆ น้องๆ
อยากช่วยสนับสนุนกิจกรรมแบบนี้เท่าที่ช่วยได้ อยากเห็นเมืองเชียงใหม่มีทางเลือกฟังเพลงที่หลากหลายขึ้นกว่าที่มีอยู่ แถมเดือนนี้พิเศษกว่าเดือนอื่น เพราะว่าจะมีการเล่นดนตรีสด ซึ่งก็ไปเล่นกับเขาด้วย รู้สึกดี ห่างเหินการเล่นดนตรีมานาน ใครว่างๆ ก็ขอเชิญชวน
^^
แล้วพบกันนะ

Tuesday, August 19, 2008

Guest Lecture @ CMU


ได้รับชวนจากอาจารย์ขลุ่ย ให้ไปพูดคุยกับนักศึกษาวิทยาลัยสื่อฯ ที่ม.ช.
อาจารย์ขลุ่ยอยากให้คุยเรื่อง ชีวิตหลังจบการศึกษา เผื่อจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ
งานนี้เปิดให้คนภานนอกเข้าไปร่วมฟังและพูดคุยได้ด้วย
ใครสนใจก็ขอเชิญนะ ^^

เกือบลืม รูปนี้้ถ่ายตอนไปกรุงเทพฯ ครั้งโน้นนนน ช่วงที่ฝนตกพายุพัด
บรรยากาศคล้ายช่วงใกล้จบการศึกษาดีแท้
ว่ามั้ย?

FALL ON DEAF EARS: AUGUST 2oo8


(scroll down for lousy english)

ทะลุหูขวา.สิงหา/F>O>D>E>18>AUGUST>Come On Feel The 80s!!
Feat. ชัยชนะ สิมะเสถียร (ช่างภาพ)/ Chaichana Simasatien (Photographer)

เสาร์
23 สิงหาคม 2551/Saturday 23 August 2oo8
@ M.I.X. Nimman Soi 1 (former location of Drunken Flower)
21.oo till Midnight/ Admission Free/
for reservation, pls call o86 663 o3o3 (recommended)


This Month 'Rabbit Heart JOY DIVISION' (1976-198o)
DVD Screening: Joy Division; A Documentary by Grant Gee 19.3o-21.oo


สวัสดีเดือนสิงหา เชียงใหม่ฝนตกนักขนาด

ตอนแรกเดือนนี้จะจัดงานวันที่ 15 แต่ขอเลื่อนมาเป็นวันที่ 23 เพราะตั้งใจมีแขกรับเชิญพิเศษซึ่งก็คือพี่หม่อง พี่หม่องเป็นช่างภาพคร่ำหวอดในวงการมานาน จณะเดียวกับที่มีงานอดิเรกคือการเปิดเพลงอยู่ที่กรุงเทพฯ มานานแล้วเหมือนกัน คราวนี้พี่หม่องตกปากรับคำหลังจากที่คุยกันมานานแล้ว แต่เพิ่งสบโอกาสที่พี่หม่องมาเชียงใหม่พอดี

ครั้งนี้เลย
เป็นครั้งแรกที่งานหูมีแขกรับเชิญที่มาเปิดเพลงด้วยกัน!(ที่ผ่านมามีแต่แขกรับเชิญที่มาแสดงงาน)
พี่หม่องนั้นเป็นเจ้าพ่อเพลงไทยเก่าๆ ยิ่งถ้าวันไหนแกได้รู้ว่าใครอกหัก ก็จะตะบี้ตะบันเปิดเพลงเจ็บปวดอัดใส่โดยไม่มีการบันยะบันยัง (เคยโดนมาแล้ว!) ขอยืนยันว่าหนำใจจนบอกไม่ถูก แต่ไม่ใช่แค่นั้น แกยังมีเพลงไทยแปลกๆ ที่เราไม่ค่อยได้ฟังกันอีกเยอะแยะ ถ้าไม่ติดธุระอะไรก็ไม่อยากให้พลาดเลยจริงๆ

เดือน
นี้จัดเป็นคืน 80s! เคยจัดไปเมื่อปีที่แล้ว ย้อนวัยกันไปชุดใหญ่ สนุกสนานอย่าบอกใคร ปีนี้ก็หวังว่าจะสนุกสนานเช่นกัน แถมด้วยความระลึกถึง Joy Division วงดนตรีของยุคสมัยปลาย 70s ที่โด่งดังเปี้ยงปร้างในสมัยนั้น และส่งอิทธิพลกับวงการดนตรีมาจนถึงวันนี้ (ลายเส้นขาวๆ ในโปสเตอร์นั่นคือลายเส้นบนปกอัลบั้มแรกของพวกเขา) แต่น่าเสียดายที่ Joy Division กลับต้องจบวงไปอย่างรวดเร็วด้วยการฆ่าตัวตายของนักร้องนำ Ian Curtis ผู้ซึ่งเขียนเนื้อเพลงได้งดงามเหลือเกิน (ใครสนใจขอแนะนำให้ไปหาหนังเรื่อง Control มาดู)

ถ้านึกไม่ออก Joy Division ที่เหลืออยู่ก็คือ New Order ในปัจจุบันนั่นเอง(อ่านเรื่อง Joy Division เพิ่มเติมได้ที่นี่ http://iamvajira.blogspot.com/2008/08/16-artist-joy-division.html
)

เดือน
นี้จะฉายหนังสารคดีของ Joy Division ตอนทุ่มครึ่ง ผู้กำกับก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือ Grant Gee ที่กำกับมิวสิควิดีโอให้ Radiohead บ่อยๆ แกทำสารคดีปกติธรรมดาออกมาได้ล้ำจริงๆ ใครสนใจขอเชิญมาร่วมชม (ขอเริ่มฉายตรงเวลานะ)

งานคราวนี้จัดที่ร้าน M.I.X. เป็นบริเวณเดิมของร้านเมาดอกไม้เก่านั่นเอง เจ้าของคือคุณจ้ำ คุณจ้ำนี้เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย (มีวันนึงนั่งคุยกับแกเรื่องเขาพระวิหาร สนุกดี) ร้านแกเพิ่งเปิดได้เดือนเดียว ที่จริงเคยไปเล็งๆ ไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มจะปรับปรุง แต่โอกาสไม่อำนวย ตอนนี้สบโอกาสแล้วก็เลยได้ร่วมงานกันเสียที ร้านสวย กว้างขวาง จุคนได้มาก (จะได้ไม่โดนบ่นว่าจัดงานร้านแคบอีก) เราตกลงกันว่าจะใช้พื้นที่ด้านนอกสำหรับงานหู ส่วนพื้นที่ด้านในก็จะเก็บไว้ให้แขกประจำของร้านแก

อ้อ..เกือบลืม ปกติงานหูไม่เน้นแต่งตัว แต่เดือนนี้เห็นว่าเรียกร้องกันอยากให้สนุกสนาน จึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านแต่งตัวกันมาเต็มที่ จะ Retro แบบ 80s ก็ยินดี หรือถ้าไม่สะดวกจะ Colourful ก็ได้ไม่ว่ากัน

RabbitEyes (ช่างภาพประจำคืนวันงาน) ก็ยังรับอยู่ ใครสนใจก็ส่งผลงานมาดูกันได้ ส่วนท่านๆ ที่เคยส่งมาแล้วยังไม่ได้รับการตอบกลับ โปรดอดใจรออีกนิดนะ

งานเดือนนี้ก็ยังมี RabbitShop (กาดกระต่าย) เหมือนเดิม คนที่ได้มาคราวที่แล้วคงพอจำได้ ใครอยากเอาอะไรมาขายก็ขอให้ถ่ายรูปผลงานแล้วส่งมาให้ดูกันก่อน (เห็นไอ้เกี๊ยงกำลังเร่งผลิตงานอยู่) ส่วน RabbitHood ก็จะส่งกระเป๋าผ้าลายใหม่ๆ เข้าประกวด ส่วนลายเก่ายังพอมีเหลืออยู่แต่น้อยเต็มที

เกือบลืมอีกแล้ว พอดีเดือนนี้นิตยสาร Compass และ Click ของเชียงใหม่มาสัมภาษณ์เรื่องโปรเจกต์งานหูและ RabbitHood ท่านที่สนใจว่า RabbitHood คิดอะไร สุขสบายดีหรือไม่อย่างไร ก็สามารถหยิบเอากลับไปได้ในงาน

เขาลือกันว่าคืนวันที่ 23 เราจะเห็นคล้ายๆ พระจันทร์สองดวง ตอนหลังเที่ยงคืน เพราะเป็นคืนที่ดาวอังคารโคจรมาใกล้ดวงจันทร์ที่สุด ถ้าสติยังอยู่ จบงานแล้วมารอดูกันนะ

เดือนหน้า (กันยา) ขอแจ้งงดไว้ล่วงหน้า เจอกันอีกครั้งตอนเดือนตุลาวันที่ 11 ที่ GrooveYard, ปาย.

แล้วเจอกันในงานนะ
รักษาตัวด้วย

วชิรา
RabbitHood
http://www.rabbithood.net/

-----------------------------

Dear all,
This month we are going to make The 80s night! (again) with the first time Guest spinning for F>O>D>E>. He is a senior photographer from bkk who become famous on spining Thai Retro for years. I bet you shouldn't miss!.

Along with 80s, This month Rabbit also tribute one of most influential bands of our time, Joy Division. We are going to screen this very fantastic documentary by Grant Gee (Radiohead's MVs Director). It s the true story of the meteoric rise and fall of the band. The screening will start at 19.30 on time!

well, normally we never give a shit on yr dress, but this month we may ask you to dress extremely 80s or colourful. Let's make it together.

Last, there will be no F>O>D>E> in September. See you guys again on Oct 11 @ GrooveYard, Pai.

take care,
vajira
RabbitHood

โพรง (5): เบื่อคนเบื่อคนบ่น


โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา
www.rabbithood.net


เบื่อคนเบื่อคนบ่น

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตั้งแต่มาอยู่เชียงใหม่ ผมมักได้ยินกลุ่มคำซ้ำๆ ทั้งจากคนที่อาศัยอยู่ที่นี่และนักท่องเที่ยวจากที่อื่นไม่กี่คำ ยกตัวอย่างเช่น ‘เมืองนี้ชิลจริง’ ‘คืนนี้ไปเที่ยวไหน’ หรือในกรณีที่มีร้านดังเพิ่งเปิดใหม่ ก็มักได้ยินว่า ‘ไป (ชื่อร้าน) มาหรือยัง’ หลายๆ คำโดยส่วนตัวถือเป็นคำต้องห้าม เรียกว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าได้อุตริพูดออกมาให้ฟุ่มเฟือยรูหูคนฟัง โดยเฉพาะคำว่า ‘ชิล ชิล’

นี่ไม่นับรวมพวกบทสนทนาป้องปากนินทากันว่าใครเป็นแฟนกับใคร ใครเลิกกับใคร หรือใครไปแอบคบใคร ที่มักลอยละล่องมาเข้ารูหูอยู่เนืองๆ

จับแพะ
ชนแกะเอาเองว่าคงเป็นบรรยากาศของเมืองขนาดเล็กที่เอื้ออำนวยให้การไปไหนมาไหนใช้เวลาไม่มาก ผู้คนจึงมีเวลาเหลือเฟือสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อหย่อนกันมากเข้าก็ยานจนกลายเป็นหนึ่งกิจวัตรในชีวิตประจำวันไปเฉยๆ อย่างนั้น

อันที่จริงถ้าการพักผ่อนหย่อนแบบ ‘เย็นใจ’ ไม่ว่าจะตามร้านกาแฟหรือพื้นที่นอกชานบ้านเพื่อนกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของคนเราจริงๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่ายินดีที่แสดงให้เห็นว่าประชากรที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ภูมิศาสตร์ของตัวเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นประชากรประเภทที่ไม่เร่งรีบจนลนลานเหมือนประชากรในเมืองใหญ่ทั่วๆ ไป

จัดอยู่ในหมวดผู้ใช้ชีวิตช้าๆ (ทว่ามั่นคง)

แต่
ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าในหมวดหมู่ประชากรผู้นิยมใช้ชีวิตช้าๆ นั้น พวกเขาตั้งใจบรรจุความหมายของการใช้ชีวิตเช่นนี้ลงไปในกิจวัตรประจำวันเพื่อให้สมดุลกับหน้าที่การงานหรือความรับผิดชอบที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง หรือเป็นเพียงข้ออ้างของการหลีกหนีจากภาระหน้าที่ที่พึงกระทำ

สอง
ประการนี้ผิวนอกดูคล้ายกัน แต่เนื้อในกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
สิ่งที่เหลือเชื่อที่สุดและเป็นคำที่ผมได้ยินบ่อยที่สุดในเชียงใหม่คือการบ่นว่า ‘เบื่อ’ และ ‘ไม่มีอะไรทำ’

ขยี้
หูหลายครั้งเพื่อความแน่ใจว่าไม่ได้ฟังผิดไป แต่ถ้อยคำเหล่านั้นก็ยังพรั่งพรูออกมาระลอกแล้วระลอกเล่า จากผู้คนหลากเพศหลายวัย จากทางโน้นทีทางนี้ที ฟังบ่อยๆ เข้าจนเกือบหลงเชื่อว่ามันเป็นความจริง

แต่โชคดีที่มันไม่จริง

เป็น
ไปได้ว่า ‘ทางเลือก’ ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั้นมีค่อนข้างจำกัด หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าในเมืองที่ขนาดใหญ่โตนี้ ควรจะมีทางเลือกให้ประกอบกิจกรรมในชีวิตมากกว่าที่มีอยู่ พลเมืองตาดำๆ อย่างเราๆ จะได้ไม่ต้องฝากความหวังไว้แค่ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ หรือว่าผับบาร์ เพียงอย่างเดียว

แต่ถึงจะมีทางให้เลือกไม่มากนัก ผมก็ยังเห็นว่าพอมีทางให้เดินไปได้อยู่ดี

ขออนุญาตเล่าประสบการณ์ส่วนตัว

ในบรรดากลุ่ม
เพื่อนที่ผมพอจะมีอยู่บ้างที่นี่ (ถ้าพวกมันมาอ่านเจอบรรทัดนี้เข้าก็คงพูดว่า ‘ใครเพื่อนมึง’) ต่างคนเขาก็มีหน้าที่ภาระที่ต้องรับผิดชอบกันไปตามสภาพ ตกเย็นว่างๆ เสร็จจากงานเราก็พบปะกันบ้าง ช่วงไหนเจอกันบ่อยเกินไป ก็ห่างๆ กันไปบ้าง ตามระยะที่เหมาะสมของแต่ละบุคลิกที่มีความต้องการไม่เท่ากัน

ก็ถือเป็นข้อดีของการพบกันตอนโต ปัญหาจุกจิกเล็กน้อยก็สามารถคลี่คลายได้ง่ายขึ้น

เรื่อง
นี้เกิดเมื่อจู่ๆ ผมก็อุตริคิดทำกระเป๋าผ้า ซึ่งไม่เกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนแต่อย่างใด จริงอยู่การลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้และควรเป็นหนึ่งในหลายๆ สำนึกที่ประชากรโลกควรร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติ แต่เราต่างก็รู้กันอยู่ว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้กระเป๋าผ้าน้อยมาก เมื่อเทียบสัดส่วนกับการสร้างปัญหาจากกลไกทางการเมืองและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา ในเวลาภาวะวิกฤตเช่นนี้

กระเป๋าผ้าของผมจึงเกิดขึ้นจากความอยากทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองพอเข้าใจอยู่บ้าง เนื่องจากสะสมและใช้สอยมันมายาวนาน

แต่ก็นั่นแหละ ผมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนช่วย จึงไปเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจาก ‘ไอ้เกี๊ยง’

ไอ้เกี๊ยงนั้นจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยย่านชานเมืองกรุงเทพมหา
นคร พื้นเพเป็นชาวเชียงใหม่ ปัจจุบันช่วยที่บ้านดูแลกิจการแผงพระ เวลาว่างขณะเฝ้าแผงก็ประดิษฐ์โน่นนี่เอาไปฝากขายตามร้านต่างๆ เช่น เสื้อผ้า พวงกุญแจ กระเป๋า ฯลฯ โดยส่วนตัวผมมองว่าสิ่งประดิษฐ์ของไอ้เกี๊ยงนั้นน่าตาแปลกๆ ค่อนไปทางพิลึกพิลั่น ถ้าไปตกอยู่แถวๆ ทะเลทรายก็อาจเชื่อได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่ร่วงลงมาจากกระเป๋า (ผ้า) ของมนุษย์ต่างดาวเผ่าไหนสักเผ่า แต่สิ่งนี้เองกลับทำให้งานของไอ้เกี๊ยงมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร

ด้วยความเป็นคนช่างประดิษฐ์ ไอ้เกี๊ยงจึงมีชีวิตวนเวียนอยู่แถวๆ กาดหลวงราวกับเป็นบ้านที่สี่ (บ้านที่สองของมันคือแผงพระ บ้านที่สามคือบ้านเพื่อน)

และด้วยความที่ไอ้เกี๊ยงเป็นคนมีน้ำใจ มันจึงตกปากรับคำพาผมไปเดินกาดหลวงเพื่อหาซื้อผ้ามาทำกระเป๋า

สารภาพว่าตั้งแต่มาอยู่เชียงใหม่ ผมไปกาดหลวงเพียงไม่กี่ครั้ง ทุกครั้งไปเพื่อซื้อของกินจำพวกหมูทอด ไส้อั่ว น้ำพริกกลับไปฝากผู้มีอุปการะคุณทางบ้านตามคำสั่งเท่านั้น ไม่เคยไปซื้อหามากินเองหรือไปเพื่อกิจธุระอย่างอื่นมาก่อน

กาดหลวงที่ไอ้เกี๊ยงพาผมไปเดินจึงไม่ใช่กาดหลวงที่ผมคุ้นเคยเลยสักนิด

ร้าน
ขายผ้ามากหน้ากลายตาเรียงรายอยู่ตามขอบถนนและในตรอกซอกซอย มันพาผมเดินเข้าร้านนั้นออกร้านนี้ ทักทายเจ้าของร้านบางคนที่มันรู้จักสนิทสนม รวมถึงญาติมิตรคนรู้จักที่เดินจับจ่ายซื้อของอยู่ ไอ้เกี๊ยงเดินทักไปเรื่อยราวกับส.ส.ที่กำลังเดินหาเสียง ผิดกันก็แต่ว่ามันรู้จักมักคุ้นกับคนเหล่านั้นจริงๆ ไม่ได้ยกมือไหว้ปะหลกๆ เพื่อขอคะแนนเฉพาะในช่วงก่อนเลือกตั้ง

หลังจากตระเวณซื้อผ้าที่ในกาดหลวงตลอดหนึ่งสัปดาห์โดยมีไอ้เกี๊ยงเป็นผู้นำทาง สายตาของผมที่มีต่อกาดหลวงก็เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสายตาที่มองงานฝีมือชิ้นเล็กชิ้นน้อยของหนุ่มสาวเชียงใหม่ก็เปลี่ยนไปด้วย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่นิยมประดิษฐ์ประดอยข้าวของเครื่องใช้ บ้างก็เอาไว้ใช้เอง บ้างก็แบ่งสรรปันส่วนออกมาขาย หารายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับตัวเอง

นี่อาจเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่

หลายท่าน
แนะนำให้ผมลองไปเดินถนนคนเดินบ้าง ก็จะพบว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่มานานแล้ว (เพื่อนบางคนหัวเราะ เรียกผมว่า ‘ไอ้บ้านนอก’ เพราะเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่รู้ประสีประสา) เหมือนกับที่กรุงเทพฯ ก็มีสวนจตุจัตรไว้รองรับงานฝีมือหลากหลายรูปแบบจากผู้ผลิตรายย่อย ผมฟังแล้วก็ว่าจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมดูบ้าง ถ้าไม่ติดว่าผู้คนที่แห่แหนกันไปเดินถนนคนเดินนั้นแน่นขนัดเกินกว่าจะรู้สึกสบาย สบาย

แต่ไม่ต้องรอจนถึงวันอาทิตย์ หลังจากที่หมกมุ่นอยู่กับผ้า ผ้า และผ้า ผมก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่ากระเป๋าผ้าสวยๆ ที่คล้องอยู่บนไหล่ของใครต่อใครที่เดินไปเดินมาในวันธรรมดาๆ นั้น หลายต่อหลายใบเกิดขึ้นด้วยวิธีเดียวกันนี้

แอบสงสัยว่าเจ้าของผลงานเหล่านั้นจะนั่งบ่นว่าชีวิตของเขา ‘น่าเบื่อ’ หรือ ‘ไม่มีอะไรทำ’ บ้างหรือไม่

ผมเหมาเอาเองว่าไม่ พวกเขาอาจจะเหนื่อยและอยากพัก หรือหาเวลาไปนั่งหย่อนใจตามร้านกาแฟบ้าง แต่นั่นก็เป็นช่วงการพักผ่อนของชีวิต ซึ่งทุกคนก็ต้องการอยู่แล้ว

พิสูจน์ได้จากชีวิตไอ้เกี๊ยง ที่ตั้งแต่รู้จักกันมา ผมก็เห็นมันหาอะไรทำได้ตลอดเวลา ไม่เคยเห็นมันบ่นว่าเบื่อชีวิตเลยสักครั้ง (ยกเว้นเวลาเฝ้าแผงพระ)

นี่เราใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดียวกันใช่ไหม

*พิมพ์
ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับเดือนสิงหาคม 2551

Saturday, August 16, 2008

ทะลุหูขวา (16) artist: Joy Division


JOY DIVISION

Joy Division คือวงดนตรีจากอังกฤษ ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1976 ที่เมือง Salford ใน Greater Manchester หลังจากที่วง Sex Pistols ปรากฏโฉมออกมาไม่นาน ชื่อแรกเมื่อเริ่มก่อตั้งคือวง Warsaw สมาชิกในช่วงเริ่มต้นประกอบด้วย Ian Curtis ร้องนำ (และเล่นกีต้าร์ในบางครั้ง) Bernard Sumner เล่นกีตาร์และคีย์บอร์ด Peter Hook เบส และ Stephen Morris เล่นกลอง

ดนตรีของ Joy Division ได้รับอิทธิพลจากดนตรี Punk Rock ในตอนแรกๆ แต่ต่อมาพวกเขาได้พัฒนาซาวนด์และสไตล์จนกลายเป็นผู้เริ่มต้นแนวดนตรี Post Punk ในปลายยุค 70 John Savage (นักเขียนและนักวิจารณ์ดนตรีผู้มีชื่อเสียงจากหนังสือ England’s Dreaming: Anarchy, Sex Pistols, Punk Rock and Beyond ที่ได้รับการสรรเสริญว่าเป็นหนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ของดนตรีพังค์ได้สมบูรณ์ที่สุด) บอกว่า “Joy Division ไม่ใช่พังค์แต่ได้รับแรงบันดาลโดยตรงมาจากพลังของดนตรีพังค์”

อัลบั้มแรกชื่อ Unknown Pleasure ออกมาในปีค.ศ. 1979 และได้รับเสียงชื่นชมมากมายจากสื่อมวลชนอังกฤษในขณะนั้น แต่ในขณะที่วงกำลังประสบความสำเร็จมากขั้นเรื่อยๆ นักร้องนำ Ian Curtis ก็เกิดภาวะหดหู่รุมเร้าพร้อมกับปัญหาส่วนตัวต่างๆ มากมาย รวมถึงการตรวจพบว่าเขาเป็นโรคลมบ้าหมู ซึ่งทำให้การขึ้นแสดงสดบนเวทีเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเขามากขึ้นเรื่อยๆ การเป็นลมชักบนเวทีบ่อยๆ ทำให้เขารู้สึกแย่และอับอาย

ช่วงต้นปีค.ศ. 1980 วงกำลังเดินสายออกทัวร์ในยุโรป การพักผ่อนไม่เพียงทำให้ร่างกายของ Ian Curtis รวน และอาการลมบ้าหมูก็กำเริบมากขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ความเครียดโหมเข้ารุมเร้า Ian Curtis โดยที่ผู้ชมกลับเข้าใจว่าอาการต่างๆ เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง จนกระทั่งเขาตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกินยากล่อมประสาท แต่ไม่สำเร็จ

Joy Division ตกลงจะไปออกทัวร์ในอเมริกาช่วงเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน แต่ Curtis แอบบอกคนสนิทไม่กี่คนว่าเขาที่จริงแล้วเขาอยากพัก เขาแกล้งทำเป็นตื่นเต้นกับทัวร์ที่จะมาถึงเพราะไม่อยากทำให้เพื่อนๆ ในวงและค่ายผิดหวัง ในช่วงนั้นชีวิตสมรสของเขากับ Deborah Curtis ก็พังทลายลง(พวกเขาเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกันและตกลงปลงใจแต่งงานกันตอนที่ Ian อายุ 19 และแฟนสาวอายุ 18) มีการวิเคราะห์ว่าปัจจัยสำคัญๆ สามประการคือ ปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัญหาเรื่องการที่ภรรยาสาวไม่มีส่วนร่วมใดๆ เลยในชีวิตนักดนตรีของสามี และการที่สามีหนุ่มไปพัวพันกับหญิงสาวชาวเบลเยี่ยมตอนที่ไปออกทัวร์ยุโรป

ช่วงเย็นของวันที่ Joy Division กำลังจะออกเดินทางไปทัวร์ในอเมริกา Ian Curtis กลับไปที่บ้านของเขาเพื่อขอร้องให้ภรรยายกเลิกคำร้องขอหย่า จากนั้นก็ขออยู่คนเดียวตามลำพังก่อนที่จะขึ้นรถไฟกลับไปในวันรุ่งขึ้น แต่ในวันถัดมา Deborah ก็พบร่างไร้ชีวิตของสามีแขวนอยู่บนขื่อในห้องครัว

หลังจากการเสียชีวิตของนักร้องนำ Joy Division ก็ออกอัลบั้มที่สอง Closer ซึ่งบันทึกเสียงไว้ก่อนหน้านั้นแล้วและซิงเกิ้ล Love Will Tear Us Apart ได้กลายเป็นเพลงที่ติดชาร์ทสูงสุดของวง Joy Division ออกอัลบั้มเต็มมาแค่สองอัลบั้มเท่านั้น หลังจากการเสียชีวิตของ Ian Curtis สมาชิกที่เหลือก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมาใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งเสียงชื่นชมและรายได้ วงนั้นคือ New Order

*สนใจชีวิต Ian Curtis สามารถไปหาหนังเรื่อง Control มาดูได้ (กำกับโดย Anton Corbijn เชียวนะ)

When the routine bites hard
And ambitions are low
And the resentment rides high
But emotions won’t grow
And were changing our ways,
Taking different roads
Then love, love will tear us apart again.

Song: Love Will Tear Us Apart

Tuesday, August 12, 2008

20 ปีพันธุ์หมาบ้า @ RCA


ขอเล่าหน่อยนะ
เสาร์ 9 ที่ผ่านมา มีโอกาสรับชวนไปงาน 20 ปีพันธุ์หมาบ้า ที่่ร้าน Cosmic  RCA
ร้าน Cosmic นี้ก็จัดงานบ่อย นับว่าก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง scene ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
ได้ยินข่าวคราวอยู่เรื่่อยๆ แต่ก็ไม่สบโอกาสเสียที

งานนี้พี่ชาติไม่ได้จัดเอง แต่น้องๆ (แต่น้องๆ ของพี่ชาติก็เป็นพี่เราอยู่ดี) จัดให้ เคยมีจัดไปแล้วรอบนึงที่ร้านประตูสีฟ้า คราวนั้นก็ว่าเป็นภาคนักเขียน ส่วนคราวนี้ก็ว่าเป็นภาคนักร้อง
เราไปเป็นคนดำเนินรายการ (ฟังดูเป็นทางการมาก) คือนั่งถามคำถามคนที่ยินดีมาร่วมงาน ส่วนใหญ่ก็รู้จักกันหมด ทั้งตุลย์ โย่ง และตั้ม (Monotone) นั่งคุยกันไปได้สักพัก เป้ Slur ก็ตามมาร่วมสมทบ เป้เป็นคนเดียวที่ไม่เคยรู้จักกันเป็นส่วนตัว วงสนทนานั้นก็สวยงามไปตามสภาพและเป็นกันเองอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ เนื่องจากมีขวดเหล้าแบน ที่แปะฉลากเสียใหม่เป็นฉลากเดียวกับที่เป็นปก พันธุ์หมาบ้า อันใหม่ (เขียนโปรยไว้ว่า 'บ่มหมักมา 20 ปี ในถังไม้โอ๊ค') แถมยังมีการสูบบุหรี่กันอย่างเปิดเผย

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของเราที่ร่วมวงสนทนาโดยดื่มและดูดไปด้วย
(และมีเวลาอ่านทวนซ้ำไปได้แค่ครึ่งเล่ม เพราะเพิ่งผ่านอุบัติเหตุชีวิตชนิดหาที่เปรียบไม่ได้มาหมาดๆ)

อันที่จริงคุยกันไว้แต่แรกแล้วว่า เราทำสิ่งนี้เพื่อจำลองบรรยากาศแบบในหนังสือ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติของการใช้ชีวิตของคนจริงๆ เหมือนเวลาที่เราล้อมวงกินดื่มคุยกันเรื่องหนังสือ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในชีวิตจริง บังเอิญในบรรดาพวกเรา บางคนดูด บางคนดื่ม ก็ปล่อยไปตามธรรมชาตินั้นๆ (เป้ ที่มาสมทบทีหลัง เดินมาพร้อมขวดชาเขียวแล้วถามเย้าว่า "พันธุ์หมาบ้า ดื่มชาเขียวได้มั้ยครับ" พวกเราก็ตอบว่า ได้สิ ไม่เห็นเป็นไรเลย)

เนื้อหาที่คุยกันก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่เกี่ยวพันกับหนังสือเล่มนี้ ตามแต่ละมุมกันไป
ไฮไลท์น่าจะอยู่ตอนที่เชิญ พี่เปี๊ยก มาขึ้นเวทีด้วย ซึ่งพี่เปี๊ยกนี้เองก็คือ เล็กฮิป ในหนังสือ
การได้พูดคุยกับตัวละครในหนังสือเป็นเรื่องตื่นเต้นที่ไม่คุ้นเคยเลย (ยกเว้นตัวละครในหนังสือตัวเองที่รู้จักกันอยู่แล้ว) แถมยิ่งพี่เปี๊ยกเลือดกำเดาไหล ต้องยัดทิชชู่ไว้ในรูจมูก ถามแกแกก็ว่า "ไม่ได้มา RCA บ่อย ไม่ชิน"

มีตอนนึงช่วงระหว่างรอพี่เปี๊ยก ตั้มก็ขอถามกลับว่าเรากับพันธุ์หมาบ้าเป็นยังไง
ตอนนั้นนึกอะไรไม่ออก ก็ดันปากไวตอบไปว่า อ่านตอนเรียนมหาลัย อะไรในนั้นก็ทำมาหมดแล้วยกเว้นยิงคน
ไอ้พวกนั้นก็สงสัยใหญ่เลยว่า พี่ขายเสื้อผ้าด้วยเหรอ เคยเปิดร้านที่สยามด้วยเหรอ
ก็เลยนึกขึ้นได้ว่า เออว่ะ ชีวิตคนๆ หนึ่งคงไม่มีใครสามารถทำทั้งหมดแบบที่ตัวละครทุกตัวในหนังสือทำไว้รวมกัน ก็เลยนึกได้ว่า เออ เป็นไปไม่ได้จริงๆ สงสัยสมองคงจะประมวลผลเรื่องสิ่งละอันพันละน้อยในนั้น ในความหมายที่เป็นท่ีต่อต้านของสังคมส่วนใหญ่

คิดอยู่ตลอดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะได้รับการบรรจุให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนมัธยม
ตอนหลังมีกล้องมาสัมภาษณ์ก็พูดไปแบบนี้ วัยรุ่นไทยควรมีโอกาสได้ใช้วิจารณญาณ ควรมีโอกาสได้เห็นโมเดลชีวิตแบบต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของโมเดลชีวิตที่ผู้ใหญ่บอกกันต่อๆ มาว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูก
ยาเสพติดหรือคำหยาบๆ ในหนังสือเป็นเรื่องเล็ก เรารู้สึกว่าเรื่องที่ใหญ่กว่าคือการได้เห็นชีวิตของคนกลุ่มนี้ ซึ่งรับรองว่าไม่ได้เห็นบ่อย อันนี้ต่างหากที่รู้สึกว่าสำคัญกว่า

จากนั้นพี่ชาติก็ขึ้นไปอ่านนิยายเรื่องใหม่ของแกพอสังเขป ทิ้งท้ายว่าให้ไปซื้ออ่านต่อเอง (555)

จากนั้นนักดนตรีที่ชักชวนกันมาแบบพี่ๆ น้องๆ ก็มาร่วมเล่นดนตรีสด สนุกสนานกันไปตามระเบียบ
เมามายกันถ้วนหน้า เท่าที่จำได้ก็รู้สึกว่า บรรยากาศนั้นยิ้มแย้มนัก

นอกจากตัวงานแล้วก็รู้สึกดีที่ได้เจอเพื่อนๆ ได้รู้จักคนใหม่ๆ อย่าง ไทร อำนาจ ศิระวงษ์ธรรม และเป้
ไทรนั้นเราไม่เคยรู้จักเลย แต่คืนนั้นได้ยืนฟังเพลงที่เขาเล่น กีต้าร์ตัวเดียว ร้องเอง ฟังแล้วรู้สึกชอบมาก เลยไปถามตุลย์ว่าคนนี้ใคร ตุลย์ก็อธิบายให้ฟัง หลังจากนั้นตอนงานใกล้เลิก ไทรก็เดินมาหาเรา บอกว่าเพิ่งไปขอเบอร์พี่มาจากพี่ตุลย์ แล้วก็วิ่งไปที่รถไปเอาซื้อดีมาให้ พยายามจะซื้อ แต่ไทรก็ไม่ยอม บอกว่าติดตามงานพี่มานานแล้ว เออ...เรื่องก็กลับกลายเป็นอย่างงั้นไป (เอาซีดีกลับมาฟังแล้วยิ่งชอบใหญ่ มีโอกาสควรไปหาฟังกันดูนะ อัลบั้มชื่อ มหรสพชีวิต) ส่วนเป้นั้นชื่อเสียงของเขาเดินทางมาถึงก่อนตัวเขา แต่ก็ยังไม่เคยได้ฟังงานเขาเสียที มีตอนนึงเป้ ถามว่า "พี่ไม่เคยฟัง Slur จริงๆ เหรอครับ นึกว่ามุก" ได้ยินแล้วก็รู้สึกเสียใจ ก็ตอบไปว่า ยังไม่เคยฟังจริงๆ แต่มีความตั้งใจมาตลอดว่าจะหามาฟัง ก็ยังไม่สบโอกาสเสียที อธิบายไปว่าเพลงของวงใหม่ๆ ตั้งแต่ยุคหลัง Monotone แล้วก็มีโอกาสฟังน้อย เพิ่งได้ฟัง Richman Toy ไปเอง (ตั้มเรียกว่ายุค Post Monotone) จำได้ว่าวันนั้นขอโทษขอโพยเป้ไปจากใจจริง เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร คุยกันไปคุยกันมาก็เลยรู้ว่ากลายเป็นเขาที่เคยผ่านตางานที่เราทำมา เรื่องก็กลับกลายเป็นอย่างนั้นไป...

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแล้วก็รู้สึกว่าแวดวงของคนทำงานนี้น่ารัก เอื้อเฟื้อ และถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไปกันมา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้วงการมันขับเคลื่อนไป

ตอนที่พี่ชาติเดินกลับ ก็สวัสดีแก แล้วบอกว่าถ้าพี่ชาติมีอะไรให้ช่วยบอกเลยนะครับ
แกก็ตอบกลับมาว่า "เหมือนกันนะ ถ้ามีอะไรให้ รับใช้ ก็บอกได้เลย" แล้วก็สวมกอดลากัน ก่อนที่แกจะกลับบ้านไป

ฟังแล้วก็แอบอึ้งไปนิดนึง เพราะแกใช้คำว่า รับใช้ ทั้งที่จริงๆ คนขนาดแกไม่ต้องพูดแบบนี้กับเราก็ได้ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้สนิทสนมกันเท่าไหร่เลย บ้านแกที่ปากช่องก็ยังไม่เคยไปด้วยซ้ำ (แต่อยากไปเที่ยวมาก) แต่ก็ทำให้เข้าใจได้ตามที่เคยรู้มาได้ว่า พี่ชาติเป็นคนน่ารัก ทั้งกับเพื่อนๆ และน้องๆ

เสียดายที่ไม่มีรูปงานให้ดู เพราะตั้งใจไม่เอากล้องไป (กลัวทำหายเอง)
ถ้าขอรูปจากใครๆ มาได้ จะเอามาให้ดูนะ
; )