โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา
www.rabbithood.net
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา
www.rabbithood.net
ชะตากรรมของคนหนุ่มสาว (ในเมือง)
บ่ายวันหนึ่ง ผมผ่านไปเยี่ยมเพื่อนแถวๆ ทิพย์เนตร ระหว่างที่นั่งคุยกัน ชะโลมคอด้วยน้ำเย็นแก้วแล้วแก้วเล่า พลันเหลือบไปเห็นบทสัมภาษณ์ที่ตัวเองเคยทำไว้เมื่อหลายปีก่อน เป็นบทสัมภาษณ์ที่ผมและทีมนิตยสาร a day เดินทางไปสัมภาษณ์ คริสโตเฟอร์ ดอล์ย ในช่วงที่เขามากำกับภาพให้กับหนัง Last Life In The Universe ของคุณเป็นเอก รัตนเรือง
ในบทสัมภาษณ์ช่วงท้าย ผมถามเขาว่าคิดอย่างไรกับคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน (ถามเมื่อพ.ศ. 2545) คริสถามกลับว่า “หนุ่มสาวที่ไหนล่ะ” ผมเห็นเขามีโอกาสเดินทางไปทำงานตามที่ต่างๆ ของโลกจึงตอบกลับไปว่า หนุ่มสาวทั่วโลกโดยรวมๆ เท่าที่เขาพบเห็น
ผู้กำกับภาพระดับโลกตอบกลับทันทีว่า “ขี้เกียจ ผมคิดว่าพวกคนหนุ่มสาวขี้เกียจเกินไป”
หกปีผ่านไป ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่คริสแสดงทรรศนะไว้นั้นเป็นจริงหรือไม่
.........
ในบรรดาคนที่ผมมีโอกาสคบค้าสมาคมอยู่ด้วยที่เชียงใหม่ จำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย หลายๆ ครั้งที่เรานั่งคุยกัน ความอัดอั้นในใจโยงไยไปถึงบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของพวกเขาก็พรุ่งพรูออกมา
น้ำเสียงเหล่านั้นบอกถึงความอ่อนล้า ที่ต้องเขี่ยวเข็ญคนหนุ่มสาวในสังกัดให้ดำเนินชีวิตไปข้างหน้า เราประเมินกันคร่าวๆ ตามประสาคนที่เคยผ่านช่วงเวลาการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมาก่อนว่าน่าจะเป็นเรื่องการขาดความกระตือรือล้นในการดำเนินชีวิต ทั้งที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้อยู่ในช่วงวัยที่มีพลังชีวิตเหลือเฟือ ร่างกายสดชื่นแข็งแรง และที่สำคัญคือมี ‘เวลา’ ให้ใช้จ่ายเหลือเฟือในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องแบกภาระความรับผิดชอบใดๆ ที่มากเกินจำเป็น
ยิ่งสภาพแวดล้อมแบบเชียงใหม่ที่อุดมไปด้วยกิจกรรมมากมายหลายแขนงไม่เว้นแต่ละวัน ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจที่จะค้นหา ‘ความกระตือรือล้น’ ที่พวกเราตั้งข้อสังเกตกันเองว่า ‘มีน้อย’ ไปสักหน่อยนั้น ว่ามันหายไปไหน
โดยส่วนตัวผมคิดว่าความกระตือรือล้นของคนหนุ่มสาวที่นี่นั้นมีอยู่ ไม่เชื่อลองสละเวลาเดินสำรวจความคึกคักตามสถานบันเทิงยามค่ำคืนดูสิครับ คุณจะเห็นพลังชีวิตมากมายขับเคลื่อนอยู่ในบรรยากาศเหล่านั้น หรือถ้าคุณมีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขาบ้าง ก็จะได้รู้ว่ามีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยเบื่อหน่ายกับการออกไปท่องราตรีอย่างที่ทำอยู่ในเวลานี้
นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปริมาณผับบาร์ผุดขึ้นราวดอกเห็ดฤดูฝน ผิดกันก็แต่ว่าดอกเห็ดผับบาร์หน้าตาเหมือนๆ กันที่เราเห็นผุดซ้ำๆ อยู่ที่นี่นั้น มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว
ไม่ต้องเรียนจบเศรษฐศาสตร์ ใครๆ ก็รู้ว่าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นในตลาด ก็ย่อมมีการสนองตอบ
ความกระตือรือล้นที่จะออกไปเที่ยวกลางคืนเป็นความเลวร้ายจริงหรือ-ไม่จริงหรอก ผมเถียง
แต่ความกระตือรือล้นที่จะออกไปเที่ยวทุกคืนนี่สิ-ผมคิดว่าคงมีความผิดพลาดอะไรสักอย่างเกิดขึ้นแน่ๆ
ถ้าเราจะคุยเรื่องนี้กันต่อ ผมใคร่ขอความกรุณาทุกท่านช่วยถอดหน้ากากศีลธรรมปลอมๆ ออกไปก่อน ยิ่งศีลธรรมประเภทที่แบ่งแยก ‘ฉันดี แกเลว’ ภายใต้กิจกรรมต่างๆ นานาที่สรรหามาแบ่งแยกความดีเลวของคนนั้น ยิ่งต้องเอาไปเก็บไว้ให้ห่าง เพราะเราต่างรู้กันดีอยู่แก่ใจว่า พลังขับเคลื่อนสำคัญในช่วงวัยหนุ่มสาวนั้นเกิดขึ้นจากแรงขับทางเพศเป็นหลักใหญ่ (หรือสำหรับบางคนอาจเป็นทั้งหมด)
คนที่ตระเวณทำบุญเป็นร้อยๆ วัด ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนดี...ไม่ใช่หรือ
ศิลปินสำคัญๆ หลายๆ คนในโลกต่างยอมรับหน้าชื่นตาบานว่าจุดเริ่มต้นการทำงานของพวกเขาก็เริ่มจากความต้องการเป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม
ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน
แต่ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือระยะทางจากจุดเริ่มต้นไปสู่กระบวนการพัฒนาตัวเองและผลงานของเขาเหล่านั้นจนชื่อเสียงของพวกเขาเลื่องลือมาเข้ารูหูของเราต่างหาก เพราะคนที่ลงมือทำอะไรสักอย่างย่อมรู้ดีว่าเส้นทางการยืนระยะทำงานอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้ใดๆ ทั้งสิ้น
มันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกลีบกุหลาบหอมกรุ่นที่โรยรอไว้บนเตียงในคืนแต่งงาน
ผมเดาว่าแรงขับของการออกไปตะลอนยามค่ำคืนก็น่าจะมาจากจุดเริ่มต้นไม่ต่างกัน ผู้ชายแต่งตัวหล่อออกไปดูผู้หญิง ผู้หญิงแต่ตัวสวยออกไปดูผู้ชาย หรือผู้ชายอาจจะออกไปดูผู้ชาย และผู้หญิงออกไปดูผู้หญิง ก็ไม่ว่ากัน ความแตกต่างประการเดียวคือกระบวนการที่ดำเนินไปของมัน
น้อยแสนน้อยที่ได้ยินว่า พวกเขาออกไปซึมซับดนตรีดีๆ นักร้องดีๆ หรือกระทั่งบรรยากาศดีๆ
ถ้าการเที่ยวกลางคืนเป็นกิจกรรมหลักในชีวิตของใครสักคน ถึงตอนนี้ผมยังมองไม่ออกว่ากระบวนการของมันนั้นจะเดินทางไปสู่หนใด ช่วงเวลาของกิจกรรมเที่ยวกลางคืนนั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์ใดๆ บ้างหรือไม่
เอาล่ะ ถ้าคุณมีโชค คุณอาจได้คู่ไปครอง ซึ่งอาจจะยั่งยืนหรือชั่วครู่ชั่วยาม ก็ว่ากันไป แต่เมื่อพบคู่แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าพลังทางเพศที่ขับเคลื่อนในชีวิตคุณจะเปลี่ยนแปลงไปใช่หรือไม่
ย้ำอีกครั้งนะครับว่านี่เราไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องนี้ในสถานะที่ใครดีเลวกว่าใคร เพราะคำถามที่ตามมาของผมคืออะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้กับคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย ซึ่งจะว่าไปก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นเฉพาะที่เชียงใหม่ หนุ่มสาวที่ไหนในโลกก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก
ภาพของคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตกลางคืนเป็นหลัก สะท้อนว่ากลางวันไม่น่าสนใจสำหรับพวกเขาใช่หรือไม่?
ผมคิดว่าความโชคร้ายประการหนึ่งของคนหนุ่มสาวคือพวกเขาไม่ค่อยมีโอกาสได้จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับตัวเองมากนัก เพราะอำนาจการควบคุมความเป็นไปในชีวิตกลับตกไปอยู่ในมือของคนที่โตกว่าและมีหน้าที่โดยชอบธรรมที่ต้องประพฤติปฏิบัติ
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือพวกเขาไม่มีโอกาส ‘ออกแบบ’ บรรยากาศการเรียนการสอนของตัวเอง ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองเสียเงินมาเรียนแท้ๆ หรือในทางกลับกัน กระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยก็ไม่เอื้อให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะสมกับเขา
นี่พูดเฉพาะช่วงเวลาหลักตอนกลางวันของคนหนุ่มสาวที่มีโอกาสร่ำเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้นนะครับ ยังไม่พูดถึง บรรยากาศอื่นๆ ของเมือง เช่น ร้านหนังสือที่มีหนังสือมากพอสำหรับคนที่ชอบอ่าน ร้านซีดีที่มีซีดีมากพอสำหรับคนชอบฟังเพลง ห้องสมุดสำหรับคนที่อยากมาแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนโดยไม่ต้องมีกฏกติการุงรัง สนามกีฬาสำหรับคนที่ชอบออกกำลังกาย โรงหนังที่มีหนังให้เลือกหลากหลายกว่าหนังฮอลลีวู้ด พิพิธภัณฑ์ที่เหมาะสมกับรสนิยมและยุคสมัย ลานกว้างๆ ที่ร่มรื่นเพียงพอให้คนที่ชอบแต่งตัวให้ออกมาเดินเฉิดฉาย และอื่นๆ อีกมากมาย
เป็นความจริงที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่นะครับ แต่น่าสนใจว่ามันมีในปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ ตั้งวางอยู่ในทำเลแบบใด และที่สำคัญคือมีบรรยากาศที่เหมาะสมกับคนหนุ่มสาวหรือไม่
ถ้านึกภาพไม่ออก ลองเปรียบเทียบกับทำเลและบรรยากาศของผับบาร์ที่มีอยู่ตอนนี้ก็ได้ครับ แล้วถ้าได้คำตอบว่าไม่ อย่างนั้นเราจะไปคาดหวังอะไรกับกระบวนเจริญเติบโตของคนหนุ่มสาวในเมืองของเราล่ะครับ
ต้นไม้ที่ได้ดินดีก็ย่อมเจริญเติบโตงอกงาม
แต่ถ้าในสภาวะที่ดินสมบูรณ์ไม่พอ ต้นไม้เองอาจต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้ามีความต้องการเจริญเติบโตงอกงาม ก็เห็นจะไม่มีวิธีอื่นนอกจากแข็งใจ อดทน และพยายามแทงรากไปหาผืนดินที่อุดมสมบูรณ์กว่า
แน่ละ...ถ้าขี้เกียจก็จบกัน