Friday, July 27, 2007

ทะลุหูขวา (3): Rufus Wainwright


ชิ้นนี้ของเดือนกรกฎาคม เอามาแปะช้าหน่อย ขออภัย
เขียนตอนที่เชียงใหม่กำลังจะเลือกตั้งนายกเทศมนตรี
ทั้งเมืองอุดมไปด้วย ปรัชญา หลักการ และคำโฆษณา
อันนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง
แล้วจู่ๆ เพลงนี้ของรูฟัสก็โผล่เข้ามา พอเหมาะพอดี
ขอเชิญติดตาม และถ้ามีโอกาสขอชวนให้ลองฟัง

ทะลุหูขวา
text and artwork by วชิรา
Fall On Deaf Ears by vajira


ขอขอบคุณ NOKIA 5700 XpressMusic

{artist}
Rufus Wainwright

รูฟัส เกิดเมื่อปีค.ศ.1973 ในมหานครนิวยอร์ก
แต่เนื่องจากพ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เล็ก
เขาจึงอาศัยอยู่กับแม่ที่ มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา
เริ่มเล่นเปียโนเมื่ออายุ 6 ขวบ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล
Genie Award จากเพลง I’m A-Runnin เมื่ออายุเพียง 14 ปี

รูฟัสแสดงตัวว่าเป็นเกย์ตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น ในช่วงอายุ 14 นี้เอง
เขาถูกล่วงเกินทางเพศในสวนสาธารณะ Hyde Park ในกรุงลอนดอน
รูฟัสเล่าภายหลังว่า “ผมบอกเขา (ผู้ชายที่หิ้วมาจากบาร์) ว่า
อยากไปดูคอนเสิร์ตที่สวน ผมแค่คิดว่ามันคงโรแมนติกดี
ที่จะเดินเล่นตอนกลางคืนในสวนสาธารณะด้วยกัน แต่เขากลับข่มขืนผม
ปล้นผม แล้วก็พยายามจะบีบคอผม”


รูฟัสออกอัลบั้มแรกในชื่อเดียวกับตัวเขาเมื่อปี 1998 และได้รับการบันทึก
จากนิตยสาร Rollingstone ว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี
เขาเคยออกทัวร์กับ Sean Lennon ในช่วงปีเดียวกันนั้น
แล้วจึงออกทัวร์เดี่ยวของตัวเองในเวลาต่อมา
รูฟัสทำงานกับศิลปินต่างๆ มากมาย ระหว่างปี 2001-2004
เขาออกทัวร์กับ Tori Amos, Sting, Ben Folds และ Guster


ช่วงต้นค.ศ.2000 รูฟัสเริ่มติดยา (crystal meth) จนถึงขั้นตาเกือบบอด
อาการติดยาของเขาหนักหน่วงขึ้นถึงขีดสุดในช่วงปี 2002
รูฟัสพูดถึงช่วงเวลานั้นว่าเป็น ‘the most surreal week of his life’
ในช่วงเวลานั้น เขาต้องการใครสักคนช่วยชี้ทางชีวิตให้
แล้วทันทีที่โทรศัพท์ไปหา Elton John เพื่อนรัก
ผู้ที่ภายหลังเป็นคนโน้มน้าว นำส่ง และจัดการดูแลเขาให้ไปเข้ารับการบำบัด
ปัจจุบัน รูฟัสไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธว่าเขายังคงเลิกใช้ยาหรือไม่

เพลงส่วนใหญ่ของรูฟัส มีน้ำเสียงไปทางอุปรากร วรรณคดี
และวัฒนธรรมป็อป
เนื้อเพลงกว่าครึ่งเป็นมุมมองความรักของเขาที่มีต่อชายหนุ่ม
จนกระทั่งในยุคหลังนี่เอง
ที่รูฟัสเริ่มบรรจุเนื้อหาเรื่องการเมืองลงในเพลงอย่าง
Waiting for a dream, Gay Messiah และ Going to a town.

Release the star เป็นอัลบั้มที่ 5 ในรอบสิบปี
รูฟัสบินไปทำงานชุดนี้ที่ Berlin
โดยใช้บรรยากาศ ‘โรแมนติกแบบเยอรมันโบราณ’ เป็นแรงบันดาลใจ
และนี่เป็นอัลบั้มแรกที่เขาโปรดิวซ์ให้ตัวเอง
(โดยมี Neil Tennant แห่ง Pet Shop Boys
เป็น Executive Producer ให้)
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rufuswainwright.com/



{lyric}
Going To A Town

I'm going to a town that has already been burned down
I'm going to a place that is already been disgraced
I'm gonna see some folks who have already been let down.
I'm so tired of America


I'm gonna make it up for all of the Sunday Times
I'm gonna make it up for all of the nursery rhymes
They never really seem to want to tell the truth
I'm so tired of you America


Making my own way home
Ain't gonna be alone
I got a life to lead America
I got a life to lead

Tell me do you really think you go to hell for having loved?
Tell me and not for thinking every thing that you've done is good
(I really need to know)
After soaking the body of Jesus Christ in blood
I'm so tired of America
(I really need to know)


I may just never see you again or might as well
You took advantage of a world that loved you well
I'm going to a town that has already been burned down
I'm so tired of you America

Making my own way home
Ain't gonna be alone
I got a life to lead America
I got a life to lead
I got a soul to feed
I got a dream to heed
And that's all I need


{essay}
บ้านของฉัน

ต่อไปนี้คือเรียงความเรื่อง ‘บ้านของฉัน’
บ้านของฉันประกอบไปด้วยพ่อ แม่ แล้วก็ ฉัน
แน่นอน, เวลาพูดถึงบ้าน เรามักไม่กล่าวถึงสิ่งก่อสร้าง

บางคนพยายามเรียกองค์ประกอบทั้งสามนี้ว่า ครอบครัว
แต่ฉันก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า
การกำหนดความสมบูรณ์พร้อมไว้ล่วงหน้า
ว่าความหมายของครอบครัว ‘ต้อง’ ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกนั้น
จะทำให้ชีวิตสุขสงบจริงหรือ

ฟังดูไม่ค่อยยุติธรรมกับคนอื่นๆ นัก ที่พวกเขาหลายคน
ไม่มีสิทธิ์มี ‘ความสมบูรณ์พร้อม’ เหมือนเพื่อนๆ ของฉันที่โรงเรียน
หลายคนไม่มีพ่อ หลายคนขาดแม่ จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่
พวกเขาถูกบรรจุไว้ในกลุ่มบุคคลผู้มีองค์ประกอบ ‘ไม่สมบูรณ์’
เป็นที่เรียบร้อย
ทั้งที่ความไม่สมบูรณ์พร้อมนั้น
ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย

ทันทีที่มีคนระบุว่าสิ่งนี้ ‘ครบ’
นั่นหมายความว่าการ ‘ขาด’ ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
ครอบครัวประกอบด้วยลำพังพ่อกับฉัน
หรือแม่กับฉัน หรือพ่อกับแม่ ไม่ได้หรือ
หรือแม้กระทั่งฉันคนเดียว เป็นครอบครัวไม่ได้ใช่ไหม

แต่นับว่าฉันยังโชคดีมาก บ้านของฉันอยู่ในเมือง จะอธิบายยังไงดี
เพราะที่จริงมันก็คือการที่มีบ้านหลายๆ บ้านมาปลูกอาศัยอยู่รวมๆ กัน
จนกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ แล้วด้วยความใหญ่ของมันนี่เอง
ทำให้ต้องมีคนอาสามาดูแลจัดการสารทุกข์สุกดิบให้กับบ้านต่างๆ
ที่ปักหลักกระจายตัวอยู่ทั่วอาณาบริเวณ
ถึงเวลา เขาก็เสนอตัวมาให้พวกเราเลือก เอ่อ...ที่จริงฉันไม่ได้ต้องการ
พวกเขานักหรอก
แต่จู่ๆ ใครก็ไม่รู้บอกว่า พวกฉัน ‘จำเป็น’ ต้องมีพวกเขาไว้คอยดูแล

ตลกดี ที่อยู่ดีๆ ฉันก็ถูกยัดเยียดข้อหาให้ว่า ‘ดูแลตัวเองไม่ได้’
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีบางคนอาสามาช่วย ‘เสริมสร้าง’ ครอบครัว
ให้อบอุ่นและเป็นสุข
นี่ยิ่งตลกกว่า-ก็ไหนว่าครอบครัวประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก
แล้วคนๆ นั้นเป็นใคร
อยู่ดีๆ จะอุปโลกตัวเองมาช่วยดูแลครอบครัวฉัน
ให้อบอุ่นและเป็นสุข

ที่ตลกที่สุด ทั้งที่เป็นบ้านของตัวเองแท้ๆ
ฉันกลับไม่สามารถ ‘เรียกร้อง’ อะไรกับพวกพี่ป้าน้าอา
ที่อาสามาดูแลเมืองที่ฉันอาศัย หรือกระทั่งไม่สามารถแสดง
ความ ‘ไม่เห็นด้วย’ ในสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาทำ
ตอนแรกฉันคิดว่ารู้สึกอยู่คนเดียว แต่ก็เปล่า
เพื่อนที่อยู่บ้านข้างๆ ก็รู้สึกเหมือนกัน เขายังบอกอีกว่า
เพื่อนที่อยู่ข้างๆ บ้านของเขาก็รู้สึกแบบเดียวกัน

กล้ำกลืน-เพื่อนฉันใช้คำสวย (กว่าฉัน)

ใครกันนะ ทำให้ฉันและเพื่อนๆ ต้องตกอยู่ในสภาวะแบบนี้
อย่าพูด-พ่อกับแม่สอนฉันระหว่างรับประทานอาหาร
ในฐานะที่ครอบครัวเรายังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
อย่าสงสัย-คุณครูที่โรงเรียนสอนฉัน
ในฐานะที่เรามีหน้าที่ศึกษาตำราที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น
อย่าถาม-เพื่อนๆ ที่โรงเรียนสอนฉัน เพราะพวกเขารู้ดีว่า
ไม่มีใครตอบคำถามในเรื่องพวกนี้ได้ถูกต้องนักหรอก
ฉันเลยชอบเก็บตัว ฟังเพลง เพราะเวลาที่ฟังเพลง
ฉันไม่สงสัย ไม่พูด ไม่ถาม ปล่อยให้เพลงแต่ละเพลง
เคลื่อนไหลไปตามจังหวะ เวลา และล่องลอยไปในอากาศ
ใครเขาจะทำอะไรก็ปล่อยเขา

นี่อาจเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง แต่ฉันก็จนใจ
ถึงจะดูเหมือนว่าฉันไม่ทำอะไรเลย
แต่ก็ขอสารภาพว่าลึกๆ แล้วฉันรู้สึกเสียใจ
ถ้าเพียงแค่พวกเขาเรียนรู้ที่จะฟัง
หลายอย่างที่แย่ๆ อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้-ถ้าพวกเขารู้จักฟัง

ฉันจึงคิดว่าต่อไปนี้ ถ้ามีโอกาสพบเจอตัวเป็นๆ
จะชวนพวกเขามาฟังเพลงที่บ้าน
โลกนี้มีเพลงไพเพราะอีกมาก อย่างเช่นที่ Rufus Wainwright
กำลังขับร้องอยู่ตอนนี้ ในห้องแคบๆ เงียบๆ ของฉัน ในบ้านเล็กๆ
ร่มรื่นของพ่อกับแม่ ในเมืองใหญ่ๆ วุ่นวายไม่สิ้นสุดของพวกเขา

แล้วถ้าบังเอิญพี่ป้าน้าอาเหล่านั้นสละเวลามาปรากฏตัวได้จริงๆ
ฉันก็มีคำถามอยากจะถาม-ส่วนตัว
อยากรู้ว่าสถานะของเราที่เป็นอยู่นี้
เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ใช่ไหม?


พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับเดือนกรกฎาคม 2550


4 comments:

Anonymous said...

หลายคนกำลังพยายามจัดสรรครอบครัวให้ออกมาเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ว่านี่คือ พ่อ แม่ ลูก หรือ ใครก็แล้วแต่

ในรายละเอียดแล้ว อะไรคือความหมายของ ครอบครัวที่แท้จริงกันแน่

แต่ที่แน่ๆ การแสดงความคิดเห็น สงสัย หรือตั้งคำถามสมควรเกิดขึ้นในสังคมที่เรียกว่า ครอบครัว ได้ โดยปราศจากคำว่า อย่า เพราะเราหรือใครต่างถือว่า ได้รวมอยู่ในครอบครัวเดียวกันแล้วไม่ใช่หรือ

...

โลกนี้ยังมีเพลงไพเราะอีกมากมายจริงๆ

: )

Anonymous said...

ได้เห็นโปสเตอร์งานทะลุหูครั้งหน้าจากข้างๆ
น่าเอ็นดูเชียว
และถ้ามองไม่ผิด(สายตาสั้น)
มีคุณเพชร ด้วยหรือนี่
ดีจัง

^^

Anonymous said...

นั่นสิ การบัญญัติความหมายของครอบครัว
ให้กลายเป็นภาพชวนฝันรัญจวนใจ
พ่อแม่ลูกทำกิจกรรมร่วมกัน ยิ้มแย้ม
อาจทำให้ความหมายจริงๆ ของมันเบี่ยงเบนไปก็ได้

ส่วนงานหูคราวหน้า จัดพิเศษ เป็นงาน 80s
tribute ให้กับอัลบั้มแรกของพี่เพชร
เนื่องในโอกาสกำลังจะครบ 20 ปี
แล้วก็ในโอกาสที่พี่เพชรกำลังจะมาเชียงใหม่

เดี๋ยวรออ่านจดหมายข่าวละกันนะ
^^

Unknown said...

เพิ่งฟัง Across the universe ไปเมื่อกี้นี้เองลุง เสียงแกมีเอกลักษณ์ดีเนอะ หอนๆ โหยๆ เหงาๆ เออ...ว่าแล้วก็หิว ไปหาอะไรกินล่ะ

บัว...