{essay}
เงียบ
มีเหตุจำเป็นบางประการที่ทำให้ผมต้องนั่งจ่อมตัวอยู่หน้าเครื่องโทรทัศน์เป็นเวลาติดกันยาวนานราวสองเดือนครึ่ง เนื้อในนั้นประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด เดินเหินไปมาขวักไขว่ สีหน้าอาการเคร่งเครียดเร่งรีบ บรรยากาศที่ทำงานถูกจัดขึ้นหลวมๆ ปึกกระดาษเอกสารวางพะเนินอยู่บนโต๊ะ เคียงข้างแฟ้มเอกสารสีดำที่เรียงตัวซ้อนกันขึ้นสูง บางครั้งภาพฉายให้เห็นช่วงเวลาเวลาประชุมที่สีหน้าของผู้คนเหล่านั้นมักจะเคร่งขรึมผิดปกติ สูทสีเข้มเกลื่อนจอ พร้อมเลขาสาวสวยตามติดข้างกาย
ตัดภาพมาที่บ้านเห็นประตูอัลลอยด์บานเขื่อง มีคนรับใช้ที่คอยจิกตาสอดรู้สอดเห็น ชนชั้นเจ้านายเคลื่อนไหวเชื่องช้า พร้อมบ่าวไพร่ที่แบ่งข้างเป็นฝักฝ่าย อาหารการกินจืดชืด ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก เก้าอี้ชนิดหลุยส์ขนาดใหญ่อ้าแขนรอก้นงอนงามของเจ้าของหย่อนกระแทกลงไปด้วยความเกรี้ยวกราด
บางครั้ง เอ่อ...ก็ถูกใช้เป็นเตียงชั่วคราว ยามที่ใครสักคนมีปัญหารุมเร้าจนเมามาย (น่าสังเกตว่าคนเหล่านั้นไม่เคยดื่มเพราะมีความสุข เกือบทั้งหมดวิ่งเข้าหาการดื่ม เวลาที่มีความทุกข์ทั้งนั้น ทั้งที่ในชีวิตจริง คนเราก็สามารถดื่มบนพื้นฐานของการมีความสุขได้เช่นกัน)
ส่วนใหญ่นอกเหนือจากการกระทำ พวกเขามักจะพูด พูด พูด และพูดใส่กัน นานๆ ครั้งจะนุ่มนิ่มนวลหู แต่ส่วนใหญ่แล้วน้ำเสียงที่ใช้ เมื่อประกอบกับหน้าตาถมึงทึง ล้วนโหนขึ้นสูงปรี๊ดราวกับหมายจะทำลายแก้วหูของผู้ชมให้แหลกสะบั้นในบัดดล
เคราะห์ดีที่เครื่องรับโทรทัศน์ของผมมีรีโมตควบคุมเสียงได้จากระยะไกล
.........
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการแสดงออกในละครโทรทัศน์นั้น มักใช้คำพูดและสีหน้าเป็นหลัก อันนำมาซึ่ง ‘ท่าทาง’ ของคนที่กำลังเครียด การพลิกข้อมือมองนาฬิกาขณะกำลังรอใครสักคน การ ‘บอกกล่าว’ สิ่งที่กำลังจะทำออกมาเป็นเสียงให้เราได้ยิน (เช่น “คอยดูเถอะ เดี๋ยวชั้นจะแก้แค้นให้สาสม”) รวมถึงการบอก ‘สิ่งที่คิด’ ออกมาในรูปคำรำพึงรำพันกับตัวเอง
(“เค้าจะรู้มั้ยนะ ว่าชั้นเจ็บปวดเพียงไหน ที่เห็นเค้าไปกับผู้หญิงคนนั้น...”)
หลายครั้ง ผมก็อดรำพึงออกมาไม่ได้ว่า (“เค้าจะรู้มั้ยนะ ว่าไม่ต้องให้ตัวละครพูดออกมาก็ได้ ดูจากสถานการณ์ก็รู้แล้วว่า หล่อนเสียใจขนาดไหน”)
ถ้าการพูดเป็นช่องทางหนึ่งของการ ‘สื่อ’ เนื้อหาที่คนเราคิดอยู่ข้างใน เราย่อมรู้กันดีอยู่ว่ามนุษย์เรามีการสื่อสารหลายทาง มีช่องทางอื่นที่จะสามารถสื่อ ‘สาร’ ชนิดเดียวกัน ในทางกลับกัน, ในฐานะที่เป็นผู้รับสาร เราจะสามารถ ‘รับสาร’ ได้เช่นกัน ลำพังการ ‘ฟัง’ สิ่งที่คนอื่นบอก ไม่น่าจะเป็นวิธีเดียวที่เราจะได้รับเนื้อหา
อย่างน้อย คุณก็กำลังอ่านอยู่ในขณะนี้
เป็นโชคและลาภที่มนุษยชาติมีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ภาษา
ประดิษฐกรรมทางภาษา ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน พูดหรือเขียน ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับต้นๆ ของโลก ตามสายตาของผม เพราะมันสามารถแผ่ขยายขอบเขตการอธิบายสิ่งที่อยู่ใจมนุษยชาติให้กว้างไกลออกไปจากพรมแดนเดิม
คล้ายเป็นการกำหนด ‘ค่ากลาง’ ให้คนจำนวนมากไว้ใช้สื่อสารระหว่างกัน
แต่การพูดกันมากขึ้น จะทำให้คนเราเข้าใจกันมากขึ้นจริงหรือ ในบางครั้งบางสถานการณ์ ยิ่งพูดมากเท่าไหร่ สถานการณ์อาจยิ่งเลวร้ายลงไม่ใช่หรือ (ถึงตรงนี้ กรุณารำพึงออกมาว่า “นี่มันทำให้ชั้นนึกถึงนักการเมืองปากไวบางคน ที่ยิ่งพูดมากเท่าไหร่ ทุกอย่างก็ยิ่งดูแย่ลงทุกที ไม่รู้เหมือนกันนะว่า เค้าจะรู้ตัวมั้ย”)
อย่างไรเสีย แม้สิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดของโลกก็ย่อมมีข้อบกพร่อง ‘ค่ากลาง’ ที่ถูกคิดค้นไว้ให้สื่อสารระหว่างกันนั้น จำเป็นต้องใช้ประกอบกับคุณสมบัติบางประการของผู้ใช้-อย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะอยู่บนพื้นฐานของการซื่อสัตย์กับสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ในใจตัวเอง
ยังไม่ต้องพูดถึงความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี ให้ยากแก่การนิยาม เพราะด้วยแง่มุมหลากหลายของมิติทางภาษา การตีความคำ ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี นั้นย่อมสามารถพลิกพลิ้วให้เกิดมิติที่เอื้อประโยชน์ส่วนตนได้ไม่ยากเย็น
คนที่ชีวิตได้เคยเฉียดใกล้ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ความรัก’ น่าจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี คำหวานที่พรั่งพรูออกมาจากปากของคู่รักนั้น ไม่ว่าจะพยายามทำความเข้าใจอย่างไร ไม่ว่าสภาพจิตใจจะเข็มแข็งหนักแน่นเพียงใด ก็ยังยากต่อการ ‘ค้น’ ให้ ‘พบ’ ความหมายที่แท้จริงของมัน
เราเกือบทุกคนล้วนยินยอมพร้อมใจหลงไหลเคลิบเคลิ้ม ไปกับอารมณ์สิเน่หาของถ้อยคำ
เสียดายที่ผมไม่ใช่ผู้สันทัดกรณี จึงไม่สามารถอธิบายอะไรไปได้มากกว่านี้ แต่เท่าที่นึกออก ผมยังคงตราตรึงภาพของตัวละครสองตัวในนิยายขนาดย่อมที่เคยผ่านตามาช้านาน เป็นเรื่องราวความของชายหนุ่มอายุน้อยและหญิงสาวสูงวัย ความรักของทั้งคู่หมิ่นเหม่ทว่าหนักแน่น ทั้งสองพบกันที่ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสที่สามีฝ่ายหญิงอยากพาไปเปิดหูเปิดตา ฝ่ายชายเป็นนักศึกษาหนุ่มเล่าเรียนอยู่ที่นั่น และต้องรับเป็นธุระจัดการดูแลให้ความสะดวก
ความรักของทั้งสองแตกต่างสิ้นเชิงจากความรักดาษดื่นที่พบเห็นได้ทั่วไป
ฉากกลางๆ ของ ‘ข้างหลังภาพ’ ที่ ‘ศรีบูรพา’ เขียนไว้เมื่อพ.ศ. 2480 ระหว่างที่ครบกำหนดสองเดือนในญี่ปุ่น คุณหญิงกีรติมาพบนพพรเพื่อกล่าวคำอำลา ขณะนั้นความรักของนพพรที่มีต่อคุณหญิงกำลังพลุ่นพล่านเกินเยียวยา
ช่วงนาทีนี้คือช่วงเวลาสุดท้ายที่ทั้งสองจะได้อยู่ด้วยกันเป็นส่วนตัว
คุณหญิงกล่าวคำอำลาขึ้นว่า “เธอจงตั้งหน้าศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จสมความปรารถนา อยู่ทางเมืองไทย ฉันจะภาวนาเอาใจช่วยเธอ”
นพพรตอบว่า “ขอให้คิดถึงผมตลอดเวลาด้วย ขอจงเห็นใจในความรักภักดีของผม”
“ฉันรับรองว่าจะปฏิบัติตาม แล้วมีอะไรอีกนพพร?” คุณหญิงถาม
“ผมมีคำพูดอีกตั้งล้านคำที่จะพูด แต่เวลามีไม่พอ ผมอยากจะเลือกสรรคำพูดเพียงร้อยคำ เพื่อที่จะให้คุณหญิงเข้าใจความทั้งล้านคำนั้น แต่ผมก็นังนึกหาคำไม่ออก” นพพรว่าต่อ
คุณหญิงได้ฟังดังนั้นจึงตอบกลับไปว่า “เธอจงพูดเท่าที่จะพูดได้ ส่วนที่เหลืออยู่นั้น ฉันจะอ่านจากดวงตาของเธอ”
จากนั้นนพพรสบตาคุณหญิงแล้วพูดขึ้นว่า “จงอ่านดูเถิด ผมยังไม่รู้ที่จะพูดว่ากระไร”
ลำพัง ‘ค่ากลาง’ ที่พวกเรามีไว้ใช้สื่อสารกันนั้น จริงอยู่อาจทำให้การสื่อสารจะหว่างพวกเราง่ายขึ้น ตรงขึ้น และอาจทำให้ชัดเจนขึ้น แต่การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ค่ากลางของเราทำหน้าที่ไม่ได้ถนัดนัก
ถึงเวลานั้น ความเงียบจะทำหน้าที่ของมันเอง โดยไม่ต้องการคำอธิบาย
เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ แต่มักหลงลืมไป
หรือไม่ก็พ่ายแพ้แก่ความพลุ่นพล่านในใจตัวเอง
Friday, December 14, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
11 comments:
....................................................
(เงียบพอมั้ย?)
^^
โห ล้ำมาก
มากซะแอ็บสแตรกเชียว
-_-'
...........
-_-
(เงียบแล้วก็ปิดตาด้วย 55 )
อาจเพราะมีสิ่งที่ที่เอื้อ(สื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งหลาย) ทำให้การพูดมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น(ทั้งๆ ที่บางครั้งเรายังไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูดไป)
รวมถึงความวุ่นวายรอบตัว(รวมถึงใจ)ทำให้คนเราไม่คุ้นชินกับความเงียบด้วยกระมัง การทำความเข้าใจกับความเงียบในบางครั้งจึงเป็นสิ่งที่ยาก
แต่สำหรับเรา เราชอบความเงียบ เพราะรู้สึกว่ารายละเอียดของแต่ละคน จะซ่อนอยู่ในความเงียบมากกว่าคำพูดที่พูดออกมา
: )
(จะงงอีกมั้ยเนี่ย )
พี่โจ้คะ
เพิ่งดูหนังเรื่อง "ข้างหลังภาพ"ไปเมื่อวานก่อนนี่เองค่ะ รอบสองในหนึ่งปี
ชอบฉากที่พี่โจ้เล่าเหมือนกัน เพราะคุณหญิงให้นพพรพูดแค่ร้อยคำที่นพพรพูดได้ ส่วนที่เหลือคุณหญิงจะอ่านจากดวงตาของเขาเอง คุณหญิงเข้าใจความรู้สึกของนพพรได้แค่เพียงมองตา
แต่แปลกนะคะที่นพพรไม่เข้าใจความรักที่คุณหญิงแสดง แปลกที่นพพรแน่ใจว่าคุณหญิงรักตัวเอง(มากๆ)เมื่อวันที่เธอใกล้ตาย ทั้งที่จริงเธอก็รักเขาพร้อมกับที่เขารักเธอ นพพรอยากได้ยินคำพูด แต่คุณหญิงบอกเขาด้วยการกระทำ
จะมีสักกี่คนคะที่เข้าใจอวจนภาษาที่อีกฝ่ายแสดงออก และอวจนภาษาที่เข้าใจนั้นตีความได้ถูกต้องตามที่ผู้ส่งแสดงออกมา
ถ้าไม่ใช่คนที่มีช่องทางในการสื่อสารตรงกัน คนที่มีข้อมูลในเรื่องคล้ายกัน อวจนภาษาคงใช้การไม่ดีเท่าคำพูด
มาอ่านเงียบๆอยู่นาน วันนี้คงต้องอาศัยภาษาเขียนในการสื่อสารแล้วล่ะค่ะไม่อย่างนั้นพี่โจ้คงไม่ได้ยิน 55
ดีใจนะครับ ที่เริ่มเห็นหลายๆ คนออกมาแสดงความเห็นกันบ้าง ทักทายกันบ้าง ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันบ้าง
ทำให้รู้ว่า จริงๆ ก็พอมีคนที่อ่านอยู่เหมือนกัน
ถึงแม้จะตั้งใจไว้ว่า เข้ามาอ่านเฉยๆ ก็ได้ ไม่ต้อง 'เม้นท์' ถ้าไม่มีความเห็นอะไร (พยายามชวนกันหลีกเลี่ยงข้อความประเภท 'เม้นท์ละนะ...ว่างๆ ไปเม้นท์ให้เราบ้าง' หรืออะไรเทือกๆ นั้น)
แต่การได้แชร์ความรู้สึกบางอย่างร่วมกัน นานๆ ครั้ง นานๆ หน ก็รู้สึกดีไม่น้อยเลย
การ 'สื่อสาร' ระหว่างกันนั้นน่าสนใจมากกกกกก
ไม่เฉพาะกับคนหรือสัตว์หรือต้นไม้เท่านั้น
เราไม่มีวันรู้ว่า ก้อนหินริมถนนสองก้อนที่วางอยู่ติดกันโดยมีล้อรถทับอยู่ข้างบน มันสื่อสารอะไรกันหรือเปล่า? อาจะจะมีหรืออาจจะไม่ หรืออาจจะมีในรูปแบบที่มนุษย์อย่างเราๆ ยังจิตนาการไปไม่ถึง
ทั้งหลายทั้งปวง ความคลุมเครือ เป็นคุณสมบัติสำคัญของการมีชีวิตอยู่ในโลก จนกว่าเราจะเข้าใจ 'บางอย่าง' ที่เป็นกุญแจไปสู่ความเข้าใจ 'ทั้งหมด'
ไม่รู้เหมือนกันว่าไอ้ 'บางอย่าง' ที่ว่านั้นคืออะไร
เพราะมันสุดแสนจะคลุมเครือ
",
แวะมาเม้นต์
..
จะมีปัญหาหรือเปล่า..ที่ว่าเม้นต์บ่อยไป..จนเกินงาม
คงไม่มี:P
(ถ้ามีก็ต้องฝึกให้ชิน..เข้าใจนะ..55)
เพิ่งนั่งอ่าน..เบื่อ..นั่งทำงานดึกดื่น
(อีกหลายๆ..บทความจะค่อยๆไล่อ่าน..
ถ้านอนดึก..อย่าโพสถ์ถี่..)
..
เคยพยายามพูดตามบทละครไทย
แล้วเกิดอาการงงๆ.."หล่อนน่ะมันผู้หญิงชั้นต่ำ"
ในชีวิตประจำวันเราไม่เห็นพูดกันด้วยคำอย่างนี้เลย..ไก่กามาก..ประหลาดดี..พูดเสร็จกรี๊ด..วี้ดวาย...(ที่น่ากลัวก็คือเด็กเล็กก็มักจะแสดงอาการเหมือนนางร้ายในละครหลังข่าว)
สักพักจะมีคุณแม่ขา..เข้ามาปลอบประโลม..แล้วก็สอนแทคติกวิธีจับผู้ชายให้คุณลูกขา..เกาะแขนเกาะขา
เห็นแล้วฮาดี..โลกไปไกลแค่ไหน..เราเนเวอร์เช้นจ์
..
บางทีก็ชอบความเงียบ..ถ้าเงียบหมายถึงความสงบและรับรู้ได้..แต่ไม่ชอบความเงียบ..ที่ให้ตีความเอง
เพราะอะไรที่ตัวเองคิดออกมา..ร้อยละเยอะๆมักเลวร้ายกว่าความเป็นจริง..บางเรื่องต้องเงียบบางเรื่องต้องพูด--ตามเทศะ--กาล--มิติ--
ถ้าเรื่องของคนสองคนคงไม่ต้องพูดเยอะ
ไปทำงานต่อ
ความเงียบ อาจทำให้ปัญหา หรืออะไรๆ คลี่คลายได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่จำเป็นต้องไปดิ้นรนทำอะไร..เชื่ออย่างนี้
ขอบคุณที่มา 'เม้นท์'
มีที่ไหนจะให้เราไป 'เม้นท์' บ้างก็บอกนะ
555
ตกลงจะเอายังไง
ขยันก็ว่า ขี้เกียจก็บ่น
*_*
ล้อเล่น...
อัพตามสภาพล่ะกัน
อย่าลืมไปดูละครเวที "ข้างหลังภาพ" มีคนบอกว่าฉากอลัง เด็กนิเทศฯเก่าคงจะชอบกัน
Post a Comment