Thursday, April 17, 2008
โพรง (1): THANK YOU FOR READING
โพรง เป็นคอลัมน์ใหม่ อันที่จริงก็ไม่ใหม่มากนัก มันคือการตัดส่วน essay ที่อยู่กับคอลัมน์ ทะลุหูขวา เมื่อก่อนนี้ ออกมามีพื้นที่ของตัวเอง เพื่อที่จะไม่ต้องอิงกับเนื้อหาของวงดนตรี แบบที่เคยเขียนอยู่ประจำ พร้อมกับฉวยโอกาสนี้ ฝึกหัดทำภาพประกอบคอลัมน์ไปพลางๆ
ตั้งใจจะเขียนถึงสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ที่พบ ที่เห็น ที่คิด และรู้สึก ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ด้วยความเชื่อส่วนตัวว่า 'ทุกๆ เมือง ล้วนมีโพรงเป็นของตัวเอง' ขึ้นกับว่าใครจะเห็นหรือไม่เท่านั้น
ขอเชิญรับชม
โพรง
เรื่องและภาพโดย วชิรา
Thank You For Reading
คำเตือน: การสูบบุหรี่ขณะอ่านหนังสืออาจทำให้ควันเข้าตา
ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ชอบอยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่ง โดยเฉพาะในเวลาที่เรารู้สึกโล่งสบาย สังเกตร้านกาแฟใหญ่น้อยที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็นนั่นก็ได้ เกือบทุกร้านมักมีพื้นที่ด้านนอกไว้ให้บริการ การแบ่งพื้นที่แบบนี้ดูผิวเผินก็เหมือนไม่มีอะไรพิเศษ เป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังการแบ่งนอก-ในนี้ ได้กลายเป็นการจัดสรรสัดส่วนการใช้พื้นที่ของคนสองประเภทไปโดยปริยาย
คนที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่
มันเป็นแบบนี้มาเนิ่นนาน
ช่วงหลายเดือนให้หลัง ตั้งแต่มีการประกาศกฏหมาย (หรือว่า ‘คำสั่ง’ ผมก็ไม่แน่ใจนัก) สนับสนุนนโยบายการควบคุมการสูบบุหรี่ (anti-smoking policy) ก็เกิดกระแสเสียงขานรับอื้ออึง แม้จะพิศวงงงวงยกันเป็นส่วนใหญ่ว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่ว่าห้ามสูบบุหรี่นั้นครอบคลุมความหมายถึงอะไรบ้าง แต่แน่นอนว่านโยบายนี้เป็นที่ถูกใจคนที่ไม่สูบและย่อมสร้างความขัดใจแก่ผู้ที่ติดบุหรี่ ซึ่งเป็นนโยบายที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก เพราะเชื่อกันว่าจะช่วยยับยั้งและลดทอนประมาณของผู้สูบบุหรี่ลงได้ (ผมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจำเพาะเจาะจงไปที่ประชากรในเมืองใหญ่มากกว่าคนที่เดินเหินเย็นใจริมทางเท้าในหมู่บ้านชนบท)
ยังความแปลกใจมาสู่มนุษย์โลกตาดำๆ อย่างผมเป็นอย่างยิ่ง ว่าในเมื่อบุหรี่เป็นศัตรูร้ายของมวลมนุษยชาติได้มากมายขนาดนี้ ทำไมกลับสามารถซื้อหาได้ง่ายดายพอๆ กับกระดาษชำระ
ผมไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าอิทธิพลของธุรกิจบุหรี่นั้นมากมายมหาศาลขนาดไหนและส่งผลไปถึงกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มใดในโลกกลมๆ นี้บ้าง จึงคิดได้แต่เพียงว่า นี่อาจเป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตในโลกใบนี้
ทุกคนในโลกล้วนเข้าใจตรงกันว่าสารพิษในบุหรี่นั้นเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ในเมื่อคนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิเสรีภาพในการขาย ทำไมคนบางกลุ่มจึงไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการสูบ
เท่าๆ กับสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ไม่สูบ
ยืนยันพร้อมขีดเส้นใต้อีกครั้งว่าผมไม่ได้สนับสนุนให้คนสูบบุหรี่ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับธุรกิจบุหรี่ และชอบอยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่ง แต่อดไม่ได้ที่จะคิดถึงสิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมีในการเลือกใช้ชีวิตของเขา
ซ้ำร้ายเมื่อจำเพาะเจาะจงมาที่ประเทศไทยของเราอันเป็นประเทศที่กลิ่นของศีลธรรมอันดีงามตลบอบอวลไปทั่วหัวระแหง ซองบุหรี่จึงเพิ่มเติมภาพประกอบสุดอัปลักษณ์ให้เป็นที่น่ารังเกียจ คนสูบบุหรี่จึงถูกสายตาพิฆาตจากคนรอบข้างว่าเป็นคนเลว อันเป็นสายเดียวกับที่ใช้มองคนที่ปล้นฆ่า ชิงทรัพย์ หรือข่มขืน ยิ่งวันยิ่งแสดงออกชัดเจน ขานรับนโยบายการ ‘ห้าม’ นี้อย่างทันควัน (ตามสไตล์)
ขณะที่เราพร้อมจะยกมือไหว้คนที่แต่งตัวดี ภูมิฐาน ยิ้มแย้มกับการคอรัปชั่น หรือทำเป็นไม่สนใจ ปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ราวกับว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา
ในภาพยนตร์เรื่อง Thank You For Smoking (เขียนบทและกำกับโดย Jason Reitman) ตัวละครเอกเป็นล็อบบี้ยิสต์ให้องค์กรค้าบุหรี่ เขาเป็นคนพูดเก่ง ฉลาด หลักแหลม ซึ่งแน่นอนว่าต้องถูกต่อต้านจากคนรอบข้างรวมถึงผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ในรัฐบาล หลังจากที่ต่อสู้กับปัญหาต่างๆ นานา ฉากท้ายๆ ของหนัง ตัวละครตัวนี้ต้องตอบข้อซักถามสำคัญที่ว่า “ถ้าลูกของคุณอายุ 18 แล้วอยากสูบบุหรี่ คุณจะให้เขาสูบไหม” (เขามีลูกชายที่เขารักมากหนึ่งคน)
เขานิ่ง คิด และตอบช้าๆ ว่าเขาจะเป็นคนซื้อบุหรี่ซองแรกให้ลูก
ผมชอบคำตอบนี้ แม้จะไม่รู้ว่าถ้าเวลานั้นมาถึง เขาจะทำอย่างนั้นจริงๆ ไหม หรือถ้าเป็นตัวผมเอง ถ้าวันหนึ่งผมมีลูก ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ผมจะสามารถทำแบบนั้นกับลูกๆ ของผมได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นการเคารพในการเลือกใช้ชีวิตของผู้อื่น แทนที่จะบังคับให้เขาเลือกแต่สิ่งที่เราตัดสินให้เสร็จสรรพว่าดี
ความดี-เลว นั้นน่าจะมีอยู่จริง แต่ก็น่าจะเป็นคนละความหมายกับลำพังแค่การแต่งตัวดี ตระเวณเข้าวัดเข้าวา ทำบุญ 18 วัด ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ หรืออื่นๆ อีกนานัปการตามแต่จะสรรหามาปกหุ้มคลุมกาย
การเปิดโอกาสให้ได้คิด พิจารณา ไตร่ตรอง และตัดสินใจเลือกเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองอาจช่วยให้เรามองทะลุเปลือกปลอมๆ เหล่านั้นเข้าไปได้
เราจึงอาจมีโอกาสได้เห็นร้านกาแฟที่มีสัดส่วนพื้นที่สำหรับผู้สูบบุหรี่อย่างพอเหมาะพอควร และไม่รีบร้อนตัดสินความดีเลวของใครคนใดคนหนึ่งจากเพียงวัตถุเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างคีบนิ้วของเขา
หมายเหตุ
ในหนังเรื่อง Thank You For Smoking ไม่ปรากฏตัวละครตัวไหนเลยที่สูบบุหรี่ และเมื่อดูจบแล้วก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกอยาก หรือไม่อยากสูบบุหรี่แต่อย่างใด
พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP เมษายน 2551
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
4 comments:
บรรทัดฐานของคน และผลประโยชน์ ที่แทบไม่มีใคร สงสัย
Hello. This post is likeable, and your blog is very interesting, congratulations :-). I will add in my blogroll =). If possible gives a last there on my blog, it is about the Aluguel de Computadores, I hope you enjoy. The address is http://aluguel-de-computadores.blogspot.com. A hug.
แมวน้ำๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
..น่าจ้งจ่านจัง พี่โจ้ๆๆ
อ่านคอมเม้นท์ของคุณ kradarndum ไม่ค่อยเข้าใจแฮะ...
Post a Comment