Tuesday, August 19, 2008

โพรง (5): เบื่อคนเบื่อคนบ่น


โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา
www.rabbithood.net


เบื่อคนเบื่อคนบ่น

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตั้งแต่มาอยู่เชียงใหม่ ผมมักได้ยินกลุ่มคำซ้ำๆ ทั้งจากคนที่อาศัยอยู่ที่นี่และนักท่องเที่ยวจากที่อื่นไม่กี่คำ ยกตัวอย่างเช่น ‘เมืองนี้ชิลจริง’ ‘คืนนี้ไปเที่ยวไหน’ หรือในกรณีที่มีร้านดังเพิ่งเปิดใหม่ ก็มักได้ยินว่า ‘ไป (ชื่อร้าน) มาหรือยัง’ หลายๆ คำโดยส่วนตัวถือเป็นคำต้องห้าม เรียกว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าได้อุตริพูดออกมาให้ฟุ่มเฟือยรูหูคนฟัง โดยเฉพาะคำว่า ‘ชิล ชิล’

นี่ไม่นับรวมพวกบทสนทนาป้องปากนินทากันว่าใครเป็นแฟนกับใคร ใครเลิกกับใคร หรือใครไปแอบคบใคร ที่มักลอยละล่องมาเข้ารูหูอยู่เนืองๆ

จับแพะ
ชนแกะเอาเองว่าคงเป็นบรรยากาศของเมืองขนาดเล็กที่เอื้ออำนวยให้การไปไหนมาไหนใช้เวลาไม่มาก ผู้คนจึงมีเวลาเหลือเฟือสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อหย่อนกันมากเข้าก็ยานจนกลายเป็นหนึ่งกิจวัตรในชีวิตประจำวันไปเฉยๆ อย่างนั้น

อันที่จริงถ้าการพักผ่อนหย่อนแบบ ‘เย็นใจ’ ไม่ว่าจะตามร้านกาแฟหรือพื้นที่นอกชานบ้านเพื่อนกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของคนเราจริงๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่ายินดีที่แสดงให้เห็นว่าประชากรที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ภูมิศาสตร์ของตัวเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นประชากรประเภทที่ไม่เร่งรีบจนลนลานเหมือนประชากรในเมืองใหญ่ทั่วๆ ไป

จัดอยู่ในหมวดผู้ใช้ชีวิตช้าๆ (ทว่ามั่นคง)

แต่
ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าในหมวดหมู่ประชากรผู้นิยมใช้ชีวิตช้าๆ นั้น พวกเขาตั้งใจบรรจุความหมายของการใช้ชีวิตเช่นนี้ลงไปในกิจวัตรประจำวันเพื่อให้สมดุลกับหน้าที่การงานหรือความรับผิดชอบที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง หรือเป็นเพียงข้ออ้างของการหลีกหนีจากภาระหน้าที่ที่พึงกระทำ

สอง
ประการนี้ผิวนอกดูคล้ายกัน แต่เนื้อในกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
สิ่งที่เหลือเชื่อที่สุดและเป็นคำที่ผมได้ยินบ่อยที่สุดในเชียงใหม่คือการบ่นว่า ‘เบื่อ’ และ ‘ไม่มีอะไรทำ’

ขยี้
หูหลายครั้งเพื่อความแน่ใจว่าไม่ได้ฟังผิดไป แต่ถ้อยคำเหล่านั้นก็ยังพรั่งพรูออกมาระลอกแล้วระลอกเล่า จากผู้คนหลากเพศหลายวัย จากทางโน้นทีทางนี้ที ฟังบ่อยๆ เข้าจนเกือบหลงเชื่อว่ามันเป็นความจริง

แต่โชคดีที่มันไม่จริง

เป็น
ไปได้ว่า ‘ทางเลือก’ ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั้นมีค่อนข้างจำกัด หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าในเมืองที่ขนาดใหญ่โตนี้ ควรจะมีทางเลือกให้ประกอบกิจกรรมในชีวิตมากกว่าที่มีอยู่ พลเมืองตาดำๆ อย่างเราๆ จะได้ไม่ต้องฝากความหวังไว้แค่ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ หรือว่าผับบาร์ เพียงอย่างเดียว

แต่ถึงจะมีทางให้เลือกไม่มากนัก ผมก็ยังเห็นว่าพอมีทางให้เดินไปได้อยู่ดี

ขออนุญาตเล่าประสบการณ์ส่วนตัว

ในบรรดากลุ่ม
เพื่อนที่ผมพอจะมีอยู่บ้างที่นี่ (ถ้าพวกมันมาอ่านเจอบรรทัดนี้เข้าก็คงพูดว่า ‘ใครเพื่อนมึง’) ต่างคนเขาก็มีหน้าที่ภาระที่ต้องรับผิดชอบกันไปตามสภาพ ตกเย็นว่างๆ เสร็จจากงานเราก็พบปะกันบ้าง ช่วงไหนเจอกันบ่อยเกินไป ก็ห่างๆ กันไปบ้าง ตามระยะที่เหมาะสมของแต่ละบุคลิกที่มีความต้องการไม่เท่ากัน

ก็ถือเป็นข้อดีของการพบกันตอนโต ปัญหาจุกจิกเล็กน้อยก็สามารถคลี่คลายได้ง่ายขึ้น

เรื่อง
นี้เกิดเมื่อจู่ๆ ผมก็อุตริคิดทำกระเป๋าผ้า ซึ่งไม่เกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนแต่อย่างใด จริงอยู่การลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้และควรเป็นหนึ่งในหลายๆ สำนึกที่ประชากรโลกควรร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติ แต่เราต่างก็รู้กันอยู่ว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้กระเป๋าผ้าน้อยมาก เมื่อเทียบสัดส่วนกับการสร้างปัญหาจากกลไกทางการเมืองและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา ในเวลาภาวะวิกฤตเช่นนี้

กระเป๋าผ้าของผมจึงเกิดขึ้นจากความอยากทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองพอเข้าใจอยู่บ้าง เนื่องจากสะสมและใช้สอยมันมายาวนาน

แต่ก็นั่นแหละ ผมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนช่วย จึงไปเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจาก ‘ไอ้เกี๊ยง’

ไอ้เกี๊ยงนั้นจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยย่านชานเมืองกรุงเทพมหา
นคร พื้นเพเป็นชาวเชียงใหม่ ปัจจุบันช่วยที่บ้านดูแลกิจการแผงพระ เวลาว่างขณะเฝ้าแผงก็ประดิษฐ์โน่นนี่เอาไปฝากขายตามร้านต่างๆ เช่น เสื้อผ้า พวงกุญแจ กระเป๋า ฯลฯ โดยส่วนตัวผมมองว่าสิ่งประดิษฐ์ของไอ้เกี๊ยงนั้นน่าตาแปลกๆ ค่อนไปทางพิลึกพิลั่น ถ้าไปตกอยู่แถวๆ ทะเลทรายก็อาจเชื่อได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่ร่วงลงมาจากกระเป๋า (ผ้า) ของมนุษย์ต่างดาวเผ่าไหนสักเผ่า แต่สิ่งนี้เองกลับทำให้งานของไอ้เกี๊ยงมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร

ด้วยความเป็นคนช่างประดิษฐ์ ไอ้เกี๊ยงจึงมีชีวิตวนเวียนอยู่แถวๆ กาดหลวงราวกับเป็นบ้านที่สี่ (บ้านที่สองของมันคือแผงพระ บ้านที่สามคือบ้านเพื่อน)

และด้วยความที่ไอ้เกี๊ยงเป็นคนมีน้ำใจ มันจึงตกปากรับคำพาผมไปเดินกาดหลวงเพื่อหาซื้อผ้ามาทำกระเป๋า

สารภาพว่าตั้งแต่มาอยู่เชียงใหม่ ผมไปกาดหลวงเพียงไม่กี่ครั้ง ทุกครั้งไปเพื่อซื้อของกินจำพวกหมูทอด ไส้อั่ว น้ำพริกกลับไปฝากผู้มีอุปการะคุณทางบ้านตามคำสั่งเท่านั้น ไม่เคยไปซื้อหามากินเองหรือไปเพื่อกิจธุระอย่างอื่นมาก่อน

กาดหลวงที่ไอ้เกี๊ยงพาผมไปเดินจึงไม่ใช่กาดหลวงที่ผมคุ้นเคยเลยสักนิด

ร้าน
ขายผ้ามากหน้ากลายตาเรียงรายอยู่ตามขอบถนนและในตรอกซอกซอย มันพาผมเดินเข้าร้านนั้นออกร้านนี้ ทักทายเจ้าของร้านบางคนที่มันรู้จักสนิทสนม รวมถึงญาติมิตรคนรู้จักที่เดินจับจ่ายซื้อของอยู่ ไอ้เกี๊ยงเดินทักไปเรื่อยราวกับส.ส.ที่กำลังเดินหาเสียง ผิดกันก็แต่ว่ามันรู้จักมักคุ้นกับคนเหล่านั้นจริงๆ ไม่ได้ยกมือไหว้ปะหลกๆ เพื่อขอคะแนนเฉพาะในช่วงก่อนเลือกตั้ง

หลังจากตระเวณซื้อผ้าที่ในกาดหลวงตลอดหนึ่งสัปดาห์โดยมีไอ้เกี๊ยงเป็นผู้นำทาง สายตาของผมที่มีต่อกาดหลวงก็เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสายตาที่มองงานฝีมือชิ้นเล็กชิ้นน้อยของหนุ่มสาวเชียงใหม่ก็เปลี่ยนไปด้วย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่นิยมประดิษฐ์ประดอยข้าวของเครื่องใช้ บ้างก็เอาไว้ใช้เอง บ้างก็แบ่งสรรปันส่วนออกมาขาย หารายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับตัวเอง

นี่อาจเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่

หลายท่าน
แนะนำให้ผมลองไปเดินถนนคนเดินบ้าง ก็จะพบว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่มานานแล้ว (เพื่อนบางคนหัวเราะ เรียกผมว่า ‘ไอ้บ้านนอก’ เพราะเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่รู้ประสีประสา) เหมือนกับที่กรุงเทพฯ ก็มีสวนจตุจัตรไว้รองรับงานฝีมือหลากหลายรูปแบบจากผู้ผลิตรายย่อย ผมฟังแล้วก็ว่าจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมดูบ้าง ถ้าไม่ติดว่าผู้คนที่แห่แหนกันไปเดินถนนคนเดินนั้นแน่นขนัดเกินกว่าจะรู้สึกสบาย สบาย

แต่ไม่ต้องรอจนถึงวันอาทิตย์ หลังจากที่หมกมุ่นอยู่กับผ้า ผ้า และผ้า ผมก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่ากระเป๋าผ้าสวยๆ ที่คล้องอยู่บนไหล่ของใครต่อใครที่เดินไปเดินมาในวันธรรมดาๆ นั้น หลายต่อหลายใบเกิดขึ้นด้วยวิธีเดียวกันนี้

แอบสงสัยว่าเจ้าของผลงานเหล่านั้นจะนั่งบ่นว่าชีวิตของเขา ‘น่าเบื่อ’ หรือ ‘ไม่มีอะไรทำ’ บ้างหรือไม่

ผมเหมาเอาเองว่าไม่ พวกเขาอาจจะเหนื่อยและอยากพัก หรือหาเวลาไปนั่งหย่อนใจตามร้านกาแฟบ้าง แต่นั่นก็เป็นช่วงการพักผ่อนของชีวิต ซึ่งทุกคนก็ต้องการอยู่แล้ว

พิสูจน์ได้จากชีวิตไอ้เกี๊ยง ที่ตั้งแต่รู้จักกันมา ผมก็เห็นมันหาอะไรทำได้ตลอดเวลา ไม่เคยเห็นมันบ่นว่าเบื่อชีวิตเลยสักครั้ง (ยกเว้นเวลาเฝ้าแผงพระ)

นี่เราใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดียวกันใช่ไหม

*พิมพ์
ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับเดือนสิงหาคม 2551

5 comments:

Anonymous said...

มานั่งพิจาราณดูตัวเอง
อาการ เบื่อ มักเกิดขึ้นเพราะ คน มากที่สุด
ก็มันทำให้เราเหนื่อยนี่นา
ส่วนวิธีแก้ก็จะเดินออกไปจากตรงนั้น ง่ายๆ ว่าเดินหนี (เหมือนไม่ค่อยดีเลยเนอะ)
โอ้...สงสัยเพราะเหตุนี้ เลยไม่ค่อยมีใครคบ 55

แต่เราไม่เคยเบื่อชีวิตนะ

^^

Anonymous said...

บทความนี้เคยเอาเอาลงแล้ว....งง

Anonymous said...

สนุกดี^^

Anonymous said...

เอ่อ...เคยเอาลงแล้วจริงดิ
งงเหมือนกัน บอกที่ให้หน่อย ซ้ำกับคราวไหน?

Danu said...

กระเป๋าผ้า สมัยนี้ สวยๆทั้งนั้นเลยครับ ยิ่งทำเองด้วยแล้ว ลายมันจะสวยดีครับ