Tuesday, August 7, 2007
สิงห์สนามหลวง
วันก่อนนั่งรื้อไฟล์ในเครื่อง
เพราะต้องหารูปถ่ายที่เคยไปเที่ยวให้ GM
แต่หาไม่เจอ กลายว่าเจอไฟล์งานเก่าๆ ที่เคยทำไว้
เลยกะว่าจะเอามาแปะที่นี่ แทนที่จะเก็บทิ้งคาไว้ในเครื่อง
ชิ้นนี้เขียนให้ GM ขออภัยที่จำฉบับไม่ได้
(เดี๋ยวจะหามาให้) แต่จำได้ว่า เป็นฉบับครบรอบ 20 ปีของ GM
ที่รวบรวมสัมภาษณ์คนที่เป็น KEY MAN ในสาขาต่างๆ
เราได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์พี่สุชาติ เรื่องวัฒนธรรมการอ่าน
ในช่วงที่งาน 'สัปดาห์หนังสือ' ประเภทลดแลกแจกแถม
กำลังฟูฟ่องในบ้านเรา
ลองอ่านดูละกันนะ
ขอบคุณ พี่หนุ่ม-โตมร และ GM ครับ
‘สิงห์สนามหลวง’ สนทนา:
วัฒนธรรมหนังสือและวัฒนธรรมการอ่าน
วชิรา
“ภาพรวมของบ้านเราตอนนี้เห็นชัดเจนว่ามันเป็นทุนนิยมเต็มขั้น
และอยู่ในกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสิบปีที่แล้ว
มันก็มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์นั่นแหละ”
สุชาติ สวัสดิ์ศรี แสดงทรรศนะต่อบ้านเมืองของเรา
ในรอบสิบปีที่ผ่านมา
“แต่ถ้าเทียบกับเมื่อยี่สิบปีก่อน มันยังเห็นไม่ชัดนัก”
อดีตบรรณาธิการเครางามแห่งสังคมศาสตร์ปริทัศน์
และ ช่อการะเกด เสริมท้ายให้เข้าประเด็น ’20 ปี GM’
“อย่างน้อยที่สุดเรื่องโลกาภิวัตน์ยังไม่เข้ามามีบทบาท
ส่วนใหญ่ยังอยู่ในการต่อสู้ของสงครามอุดมการณ์
เป็นซ้าย เป็นขวา เป็นสังคมนิยม เป็นเสรีประชาธิปไตย
ในบรรยากาศของยุคสงครามเย็น
ต่างฝ่ายต่างก็มีอุดมการณ์ของตัวเอง
แต่หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย สงครามเย็นจบสิ้น
แมวทุกสีก็เซ็งลี้ได้เหมือนกันหมด”
โลกาภิวัตน์-คำใหม่เมื่อสิบปีก่อน
ซึ่งถ้าความทรงจำไม่เลอะเลือนเกินไป
คำนี้น่าจะร่วมยุคสมัยเดียวกับ ‘อัศวินแห่งคลื่นลูกที่สาม’
ล่าสุด ‘สิงห์สนามหลวง’ ของพี่ๆ น้องๆ
และผู้อ่านในแวดวงวรรณกรรมเพิ่งเสนอแนวคิดเรื่อง
‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ในวันที่แมวทุกสีล้วนเซ็งลี้กันถ้วนทั่ว!
ผ่านหน้ากระดาษของ เนชั่นสุดสัปดาห์
“แต่วันนี้เราไม่คุยเรื่องการเมืองใช่ไหม?”
เจ้าของบ้านต้นไม้ร่มครึ้มแห่งทุ่งสีกันดักคอขณะทักทาย
.........
ถ้าภาพรวมของบ้านเราตอนนี้เป็นจริงอย่างที่
เอนไซโคปีเดียเคลื่อนที่วัย 61 ของวงการวรรณกรรมว่าไว้
สภาวะ ‘ทุนนิยมเต็มขั้น’ ก็น่าจะลุกลามไปทั่วหัวระแหง
ไม่จำกัดเฉพาะแวดวงใดแวดวงหนึ่ง
ไม่เว้นแม้แต่แวดวงหนังสือ
“ทุนนิยมทำให้วงการหนังสือปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก
ก็เห็นชัดว่าอย่างน้อยที่สุด พอคุณลงทุนคุณก็ต้องการได้กำไร
ผิดจากเมื่อ 30 หรือ 50 ปีก่อน หรือแม้แต่ในช่วงสมัย
ของ ‘กลุ่มสุภาพบุรุษ’ (โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์)
ในยุคนั้น การเกิดขึ้นของหนังสือ
มันเกิดขึ้นเพราะคนมีอุดมคติเข้ามาทำงาน
พูดง่ายๆ ก็คือว่าผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
หรือผู้ที่เป็นเจ้าของหนังสือ
ส่วนใหญ่แล้วมากกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์จะเป็นนักเขียน
นักหนังสือพิมพ์” สุชาติเท้าความ
“มันมาเปลี่ยนแปลงช่วงแรกๆ
ตั้งแต่เริ่มยุค ‘งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข’
ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์)
ที่ทุนนิยมเริ่มเข้ามาอย่างเป็นระบบมากขึ้น
เริ่มมีการกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์
นักเขียนที่มีอุดมคติเข้าคุกไปบางส่วน
ทำให้เกิดหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่งานเขียนอีกรูปแบบหนึ่ง
เป็นงานเขียนประเภทชีวิตครอบครัว ชีวิตพาฝัน
เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า ‘นิยายน้ำเน่า’
ในลักษณะของการที่ไม่ต้องสนใจเรื่องราวทางอุดมคติ
ทางสังคม ทางการเมือง แต่สนใจรสนิยมมวลชนมากกว่า
เจ้าของปัจจัยการผลิตก็คือคนที่เข้ามาลงทุน
ใช้วิธีจ้างคนมาเป็นบรรณาธิการ
จ้างคนมาเป็นนักเขียนประจำ สิ่งที่เริ่มเห็นชัดเจน
ว่ามีการแบ่งงานกันทำก็ในช่วงตั้งแต่หลังพ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
เจ้าของปัจจัยการผลิตกับคนที่เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์
เริ่มเป็นคนละพวกกัน
“เพราะฉะนั้น เขาก็จะดูแค่ว่าทำยังไงให้ขายได้”
สิงห์ฯ เรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ในภาพรวมว่า
‘มันเกิดอาการพันธุ์ใหม่’-สำนักพิมพ์พันธุ์ใหม่
หนังสือพิมพ์พันธุ์ใหม่ บรรณาธิการพันธุ์ใหม่
และนักเขียนพันธุ์ใหม่
คือมีลักษณะที่มองเห็นว่าการทำธุรกิจหนังสือเหมือนเป็นการทำสินค้า
และเป็นที่มาของบรรณาธิการประเภท CEO
คือคนไหนดังก็ไปหาคนนั้น
ฟังดูโหดร้าย หดหู่ และสิ้นหวังชะมัด
“ที่จริงก็ไม่เสียหายอะไรหรอก ในต่างประเทศมันก็มี
แต่บังเอิญโชคไม่ดีที่ ‘พื้นที่ทางปัญญา’ ของบ้านเรา
ในลักษณะที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับ ‘วัฒนธรรมทางด้านการอ่าน’
ความหลากหลายของงานเขียนเชิงคุณภาพ มันไม่ค่อยมี”
ความหลากหลาย ดูราวจะเป็นกุญแจสำหรับทุกสิ่งในตอนนี้
“วัฒนธรรมการอ่าน กับ วัฒนธรรมหนังสือ มันคนละเรื่องกันนะ
เรามีแท่นพิมพ์มาตั้งแต่สมัยหมอบรัดเลย์ เมื่อ 130 ปีที่แล้ว
จนเดี๋ยวนี้ก็ต้องถือว่าวงการหนังสือเบิกบานไม่ใช่น้อย
มีปริมาณหนังสือมากขึ้น ส่วนวัฒนธรรมการอ่าน
มันจะเกิดขึ้นหลังจากที่คุณมีค่านิยม
มีการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ระบบมหาวิทยาลัย
เป็นขั้นเป็นตอน อะไรก็ตามที่จะสร้างความเข้มแข็ง
ในการอ่านตามวุฒิภาวะของคุณ
“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าหากวัฒนธรรมการอ่านของเราเข้มแข็งนะ
เด็กชั้นเตรียมอุดมฯ นี่ต้องได้อ่านหนังสือของนักเขียนอย่าง
หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง หรือ มาลัย ชูพินิจ กันแล้ว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการอ่านของเรามันไม่เข้มแข็ง ไม่หลากหลาย
วัฒนธรรมการอ่านของเรามันดูเหมือนมีข้อจำกัด”
ท้ายเสียงของสิงห์ฯ ดูอ่อนเบา เพราะสำหรับเขา,
ข้อจำกัดที่ว่าคือ-ปรัชญาทางการศึกษา
“ระบบการเรียนการสอนและปรัชญาการศึกษาของเราที่ผ่านมา
ในช่วงรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยมันล้มเหลว เอาง่ายๆ เช่น
ค่านิยมเรื่องภาษาไทย ผมอ่านในบันทึกของ อบ ไชยวสุ (ฮิวเมอร์ริสต์)
แกบันทึกไว้ว่า ‘ใครก็ตามที่ตกวิชาภาษาไทยจะถูกปรับตกหมดทุกวิชา’
ในยุคของผมก็ยังเห็นอยู่เลยว่าภาษาไทยมีบทบาทมาก
ตอนนั้นผมเติบโตและอ่านหนังสือออกโดยหนังสืออ่านเล่น
แล้วค่อยๆ เขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการเลื่อนลำดับของชั้นเรียน
ผมไม่ดูถูกรสนิยมตลาดนะครับ มันเป็นรสนิยมที่สร้างตัวตน
สร้างค่านิยม ทำให้ตัวผมมีวัฒนธรรมการอ่าน
แต่ผมคิดว่ามันจะต้องเติบโตไปตามวุฒิการศึกษา
และทำให้เรามีรสนิยมการอ่านที่หลากหลายขึ้น
“คิดดูแล้วกัน หนังสือแนวสร้างสรรค์เมื่อพ.ศ. 2471-2472
หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงพิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม
ถ้าผมจำไม่ผิดนะ ขายหมดภายใน 6 เดือน
ตอนนั้นคนไทยมีประชากรก็คงประมาณ 8 ล้านคน
ต้องพิมพ์ซ้ำ คนสมัยก่อนมีการศึกษาขนาดไหน
ที่จะมาซื้อหนังสือประเภทนี้
แต่ปัจจุบัน หนังสือในลักษณะเชิงคุณภาพ
2,000-3,000 เล่มกลับยังมีปัญหา”
“พวกเขาจะอยู่รอดได้อย่างไรในระยะยาว
กับสังคมซึ่งไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนค่านิยม
ที่จะให้เห็นความสำคัญในเรื่องปัญญาสร้างสรรค์เชิงคุณภาพ”
สิงห์ฯ ทิ้งคำถามที่ไม่คลายความสงสัย
มองกลับไปอีกฟาก เราอาจเห็นการสนับสนุน
การส่งเสริมการอ่านผ่านสัปดาห์หนังสือปีละสองครั้ง
หรือกระทั่งการพยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองหนังสือ’
“เป็นเรื่องของการสร้างภาพประเภทหนึ่ง ฐานมันยังไม่แข็งแรงเลย”
ชายวัย 61 วิเคราะห์ “ที่จริงผมก็เห็นด้วยนะ มีเป้าหมายไว้
ไม่เสียหลายอะไร อย่างน้อยคงดีกว่าให้เป็นเมืองโสเภณี
ซึ่งถ้าสามารถสร้างความเข้มแข็งในระดับรากฐานการอ่านของคนได้จริง มันก็ดี
แต่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องเป็น ‘วาระแห่งชาติ’
ในลักษณะที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา
ไม่ใช่แค่การดำเนินการในระดับเอกชน
“ภาษาไทยเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมของเรา
ดังนั้นถ้าหากคุณให้ความสำคัญกับภาษาไทยอย่างเข้มแข็งแล้ว
มันจะก่อให้เกิดการอ่าน การเขียน
หรือการพิมพ์หนังสือในเชิงคุณภาพ
อย่างน้อยแม้ว่าจะไม่ทั้งหมด
แต่ผมเข้าใจว่ามันจะทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น”
ทางเลือก-ที่ฟังดูอาจจะมีช่องที่เหลือว่างเพียงน้อยนิด แต่ก็มี
และยังรอคอยการเลือกจากใครหลายคน
ภาพจาก http://www.sarakadee.com/feature/2002/07/images/art_01.jpg
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
5 comments:
แม้จะมีทางเลือก แต่สิ่งที่ถูกเลือกส่วนใหญ่มันก็เป็นลักษณะเดิมๆ และยังคงความเหมือนหรือคล้ายกัน เกาะกลุ่มกันเข้าไว้ เพราะความนิยมของคนหมู่มากมักเข้ามามีอิทธิพลได้โดยง่าย (คงเพราะเรายังไม่แข็งแรงพอจริงๆ)
ถ้าเราเอาป้ายหนังสือขายดีหรือการจัดอันดับหนังสือออกไป จะเป็นยังไงหนอ แล้วร้านหนังสือหรืองานหนังสือสมัยก่อนเป็นยังไงหนอ อยากรู้จัง
: )
เออ...จริงด้วย
อยากรู้เหมือนกันแฮะ
เคยอ่าน นักเขียนหนุ่มเเละความบันดาลใจอันหลากหลาย (ภาคเเปล)ของลุงสุชาติ เเกเขียนไว้ตรงคำนำว่า
"อย่างไรก็ช่างมันเถิด ผมนั้นยินดีที่จะเปิดกระโหลกตัวเองกับสาวโรงงานที่พยายามรู้จักตอลสตอย มากกว่าสาวมหาวิทยาลัยที่ชอบอ่านเเค่การ์ตูน"
ไม่เห็นด้วยว่ะพี่
คุณเอี่ยว
ฉันมาช้าเป็นปี
คุณสุชาติเขากำลังสรรเสริญเมียเขา--คุณศรีดาวเรือง
ผู้หญิงที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงเลย เคยผ่านอาชีพงานระดับล่างมาก่อนที่จะมาเป็นนักเขียนคุณภาพ คนไม่จบมัธยมปลาย แต่สามารถอ่านเขียนหนังสือสองภาษาได้อย่างดี เขียนนิยายได้ถึงขั้นไทยเทศนำไปแปล/ไปทำงานวิจัย ผู้หญิงที่เขาชมคือเมียของเขา
โห...มาช้าเป็นปีจริงๆ ด้วย
แต่ยังยังดีกว่าไม่มาเลยนะ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ
ไม่รู้ว่าไอ้เอี่ยวจะได้มาเห็นมั้ย
เราคิดว่าเข้าใจบริบทของทั้งคู่ คือทั้งไอ้เอี่ยวและพี่สุชาติ เข้าใจว่าพูดกันคนละบริบท พี่สุชาติน่าจะหมายถึงการพยายามสร้างการเรียนรู้ เปรียบเทียบเอาจากตอลสตอยและการ์ตูน ในขณะที่ไอ้เอี่ยวคงหมายถึง การให้คุณค่าของเนื้อหา เปรียบเทียบจากตอลสตอยและการ์ตูนเช่นกัน
เสียดายแฮะ ทำยังไงจะได้คุยกันต่อล่ะเนี่ย ^^
Post a Comment