พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2550
{artist}
Sufjan Stevens
Sufjan Stevens เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง
และเป็นนักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด (มาก!)
เขาเกิดที่เมืองดีทรอยท์ มลรัฐมิชิแกน
เริ่มต้นเดินในเส้นทางดนตรีด้วยการเป็นสมาชิกวง Marzuki เป็นวงดนตรีโฟล์ค
ออกอัลบั้มกันได้ 2 ชุด Stevens ตัดสินใจแยกตัวและเตรียมออกอัลบั้มเดี่ยว
เขาเป็นนักดนตรีประเภท ‘หัดเอง’ Stevens
กระหน่ำเพลงโซนาตาของโมสาร์ทบนของเล่นคาสิโอตั้งแต่เด็ก
ต่อมาโตขึ้น เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขากลายเป็นผู้ช่ำชองโอโบ, ขลุ่ย,
แบนโจ, กีตาร์, ไวบราโฟน (ระนาดฝรั่ง), เบส, กลอง, เปียโน และอื่นๆ
ช่วงเวลาแถวๆ นั้น เขาเริ่มหัดร้องเพลง แม้ว่าเพื่อนๆ จะไม่สนับสนุนนัก
เขาซื้อเครื่องอัดคาสเสตต์ 4 แทรก ลงมือทำคอนเส็ปต์อัลบั้มความยาว 90 นาที
แต่ปรากฏว่าเพลงที่ออกมามีเสียงเหมือนวงเครื่องลมสมัยยุคกลาง
(ช่วงคริสตศตวรรษที่ 12-15) กำลังแกว่งดาบ
และคบไฟต่อสู้กับมังกร 12 หัว (ว่าไปโน่น!)
ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย Stevens จัดการตกแต่ง
คัดเลือก และเรียบเรียงเพลงเหล่านั้นใหม่
จนกลายเป็นอัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรก A Sun Came
ที่ออกในค่ายเพลงโฮมเมดของพ่อเลี้ยง Lowell Brams
หนึ่งพันแผ่นถูกส่งไปวางขายที่ไหนบ้าง ดูคล้ายจะไม่มีใครให้ความสนใจเลยแม้แต่น้อย
หลังจากนั้น Sufjan Stevens ย้ายไปนิวยอร์ก
สมัครเข้าเรียนต่อเรื่องวิชาการเขียนและพยายามจะจบมหากาพย์นิยายของเขา
ซึ่งก็ไม่สำเร็จ และดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจเช่นเคย
เขาเบื่อตัวหนังสือ และหันกลับไปหาเครื่องอัด 4 แทรกอีกครั้ง
ทำเพลงอิเลคโทรนิคเกี่ยวกับสัตว์ใน 12 จักรราศีของชาวจีน
และกลายมาเป็นอัลบั้มที่สอง Enjoy Your Rabbit
ซึ่งเขาพบว่ามันถูกนำไปลดราคาในชั้นซีดีมือสอง
ในร้านขายซีดีและแผ่นเสียงชื่อดังในนิวยอร์ก ภายในเวลาแค่สองสัปดาห์
Stevens ถือว่านั่นเป็นการสรรเสริญ แต่ค่ายต้นสังกัดไม่ได้คิดอย่างงั้น
พ่อเลี้ยงยืนกรานให้เขาเขียนเนื้อเพลงลงไปในทำนอง
Stevens หันกลับไปหาหนังสืออีกครั้ง
และเริ่มเขียนเรื่องแต่งลงไปในโครงสร้างของเพลง
เขาเริ่มตระเวนออกไปอัดเสียงตามบ้านคน ทีละบ้านกับเครื่องมือบ้านละชิ้น
จนออกมาเป็นอัลบั้ม Greetings from Michigan: The Great Lake State
พ่อเลี้ยงของเขาชอบมาก
และตัดสินใจว่าจะต้องนำอัลบั้มนี้ออกไปสู่ประชาชนในวงกว้างให้ได้
พวกเขาเริ่มจัดการค่ายเพลงของตัวเองอย่างจริงจัง
ตั้งใจทำให้เป็นค่ายเพลงจริงๆ (ชื่อ Asthmatic Kitty)
และในที่สุดประชาชน รวมทั้งนักวิจารณ์ทั้งหลายก็ชื่นชอบเขา
และในช่วงเวลานั้นเองที่ Stevens ประกาศโปรเจกต์ Fifty Stages ออกมา
โดยเขาจะเขียนเพลงที่เกี่ยวข้องกับ 50 รัฐของอเมริกา
ตั้งใจจะใช้เวลา 1 รัฐ ต่อ 1 อัลบั้ม ต่อ 1 ปี
ซึ่งนั่นหมายความว่า โปรเจกต์นี้จะต้องใช้เวลาถึง 50 ปี กว่าจะเสร็จ!
ช่วงระหว่างฤดูหนาวของปี 2004 Stevens ใช้เวลาสี่เดือนเก็บตัว
อ่านหนังสือ อ่านอัตชีวประวัติ อ่านบทกวีของ Carl Sandburg
และนิยายของ Saul Bellow (นักเขียนรางวัลโนเบลปี 1976)
นักเขียนสองท่านนี้มีรากฐานอยู่ในรัฐ Illinois
ไม่นานจากนั้น หลังจากที่ค้นคว้าอย่างหนัก
Stevens เริ่มต้นใช้สัญชาตญาณของตัวเองทำงาน
และได้ผลลัพท์ออกมาเป็นอัลบั้ม Come on Feel the Illinoise
ซึ่งมียอดจำหน่ายมากกว่า 500,000 แผ่นใน Illinois
และได้รับรางวัลมากมายถล่มทลายจากหลายสถาบัน
ทั้งศิลปินยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม และอาร์ตเวิร์คยอดเยี่ยม
(อันที่จริง อัลบั้มนี้ออกมาล่าช้าเล็กน้อย เนื่องจากมีปัญหาทางกฏหมาย
เรื่องการใช้ตัวการ์ตูนซุปเปอร์แมนบนหน้าปก
จนต้องแปะสติ๊กเกอร์ทับตัวซุปเปอร์แมนลงบนแผ่นเสียง 5,000 แรก ก
ารพิมพ์ปกรุ่นต่อมาได้เว้นว่างตรงรูปซุปเปอร์แมนไว้
และกลายเป็นลูกโป่งสามลูกในปัจจุบัน)
เมษายนปี 2006 Stevens นำเพลงอีก 21 แทรกที่เขาคัดมาจาก
ตอนที่ทำอัลบั้ม Illinoise ออกมารวมอยู่ในอัลบั้ม The Avalanche
และหลังจากนั้นเขาเขียนเพลงใหม่ออกมาอีกมากมาย
โดยมี Oregon, Rhode Island และ Minnesota อยู่ในรายชื่อรัฐถัดไป
และหลังจากนั้นก็มีรายชื่อของ New York Album, California
และ Arkansas เผยออกมา
แต่แล้วในปี 2006 นี่เองที่มีคำประกาศในอัลบั้มรวมเพลงของค่าย Asthmatic Kitty ว่า
“Sufjan Stevens จะไม่ทำเพลงโปรเจกต์ 50 รัฐ อีกต่อไปแล้ว”
แต่มันอาจเป็นมุก เพราะหลังจากนั้น ข้อความนี้ก็ถูกเปลี่ยนไปกลายเป็นเรื่องพับผ้า (บ้าบอมาก!)
เพลงส่วนใหญ่ของ Stevens ให้น้ำหนักไปกับการสำรวจความหมายส่วนตัว
ของความศรัทธา ครอบครัว ความรัก และสถานที่
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.sufjan.com