Wednesday, September 9, 2009

โพรง: ด.ก.ท.ท.ล.ก.บ.ท. (แห่งประเทศไทย) (2)

โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา

www.rabbithood.net

ด.ก.ท.ท.ล.ก.บ.ท. (แห่งประเทศไทย) (2)

ท่าทีของคนระดับบริหารจำนวนไม่น้อยที่แสดงออกผ่านสื่อ ทำให้ผมเข้าใจเอาเองว่าประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรานั้นยังไม่สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงในภาคธุรกิจชนิดอื่นๆ ได้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมพัฒนาช้าจัง) ดังนั้นเมื่อประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจทีไร การท่องเที่ยวจึงเป็น ‘ไม้ตาย’ ทุกครั้งในการฟื้นฟู นัยว่าต้นทุนต่ำ เกิดผลเร็ว แล้วก็เริ่มต้นตามแบบแผนด้วยการเอาคนดัง (พี่เบิร์ด) มากระหน่ำโฆษณา ชักชวนให้พี่น้องประชาชนออกไปเที่ยวกันเยอะๆ (ตอนนี้เพิ่มเป็นนิชคุณอีกคนนึงแล้ว เหตุผลก็คงเป็นเพราะว่านิชคุณนั้นเป็นนักร้องนักเต้นที่ทำงานหนักจนไปโด่งดังในเกาหลี เราก็สวมรอยฉวยเอาความภูมิใจใน ‘ความเป็นคนไทย’ มาใช้สอยตามระเบียบ) ราวกับว่าประชาชนตาดำๆ อย่างเรานั้น พอเห็นดารานักร้องบอกให้ออกไปเที่ยว เราก็จะเก็บกระเป๋าออกไปเที่ยวตามเขา

โดยไม่มีการบอกให้คำนึง คำนวณ บริหารจัดการระบบระเบียบการเงินในกระเป๋าตัวเองที่อย่างไรก็ไม่มีวันทัดเทียมกับคนดังๆ เหล่านั้น

นินทากันในหมู่จิ๊กโก๋ซอย 13 ว่า ชะรอยเราคงต้องยกโขยงไปกราบไหว้น้องแพนดี้กันบ้าง เพราะแค่ผลุบหัวออกมาจากตัวแม่เท่านั้น ประเทศเชียงใหม่ก็คึกคักขึ้นราวปาฏิหาริย์

แม้จะอดคิดไม่ได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน เราได้มีการปรนเปรอสิงสาราสัตว์ชนิดอื่น ทั้งในและนอกสวนสัตว์อย่างน้องแพนดี้นี้บ้างหรือไม่ (จิ๊กโก๋แก๊งค์เดิมกระซิบว่า ไม่ต้องถึงกับปรนเปรอหรอกลูกพี่ แค่ ‘ดูแล’ ให้เหมาะสมกับคุณภาพชีวิตของสัตว์แต่ละชนิดก็พอแล้ว) ผมคิดว่าก็ยังพอรับเรื่องการตลาดแบบ ‘สัตว์พระเอก’ ได้ไม่ยาก เพราะคงไม่ต่างจากระบบเชิดชูฮีโร่ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในทุกๆ วงการ โดยเฉพาะกับนักกีฬาที่เมื่อประสบความสำเร็จอะไรมา ก็จะถูกรุมตอมทันทีที่เท้าแตะสนามบิน

เชียงใหม่กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ท่องเที่ยว ท่องเที่ยว และท่องเที่ยว ตั้งแต่เมื่อไหร่ผมก็ไม่ทราบ แต่เดาว่าคงเพราะมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ภูมิอากาศที่ยังมีฤดูให้ใช้สอย และทรัพยากรประเพณีวัฒนธรรมระดับชาติที่ ‘ใหญ่’ พอที่จะ ‘ขาย’ ให้กับคนต่างถิ่น วิธีที่ง่ายที่สุดก็แค่สลับสับเปลี่ยน ‘พระเอก’ กันขึ้นมานำก็เท่านั้น (นี่ถ้าน้องนกได้แชมป์โลกในระดับอาชีพ ต่อไปคงมีการจัดทัวร์ไปเที่ยวบ้านน้องเขาแน่ๆ) เพราะเมื่อลองเทียบกับ ‘พระเอก’ ของจังหวัดอื่นๆ แล้ว ก็ยังไม่เห็นจังหวัดไหนมีตัวเลือกให้เลือกได้มากมายขนาดนี้

เราต่างรู้กันดีว่าประชากรส่วนใหญ่ของเชียงใหม่ ‘ทั้งจังหวัด’ นั้นอยู่มีชีวิตอยู่ในภาคเกษตรกรรมไม่ใช่ท่องเที่ยว แต่ระหว่างที่ยังรอคอยความหวังจากภาครัฐในการทำให้พี่น้องเกษตรกรเหล่านั้นลืมตาอ้าปากได้ด้วยตนเอง ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ยืนและเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้มาเยือนจากต่างถิ่น โดยไม่ต้องนอบน้อม อ้อนวอน แบมือขอสตางค์จากการค้าขายสินค้าที่ระลึกในฤดูท่องเที่ยว (เท่านั้น!) การตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวคงไม่ใช่เรื่องเสียหายมากนัก ถ้าประกอบขึ้นจาก ‘เนื้อหา’ ที่เหมาะสม

เนื้อหาที่เหมาะสมนี่เองที่จะกำหนดท่าทีต่างๆ

ผมคิดว่าความเหมาะสมพื้นฐานที่สุดในโลกคือการ ‘คำนึง’ ถึง ‘ความเป็นคน’ ของประชากรในพื้นที่ (รวมถึงมองการสัตว์ทั้งหลายในฐานะที่เป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ อย่างเท่าเทียมกัน) และการมอง ‘พื้นที่’ ในฐานะที่เป็น ‘ที่อยู่อาศัย’ ของคนที่ต้องตื่น นอน กิน ทำงาน พักผ่อนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ไม่ใช่ปริมาณ ‘ตัวเลข’ ทางเศรษฐกิจ ที่คำนวณจากปริมาณของนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว

ผมยังไม่เคยเห็นแพนด้าตัวเป็นๆ สักครั้ง ไม่ว่าตัวพ่อ ตัวแม่ หรือตัวลูก แต่เท่าที่เห็นจากการประโคมข่าวในทีวีหรือบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ก็รู้สึกได้ว่ามันต้องน่ารักมากแน่ๆ ผมจึงไม่มีปัญหาใดๆ กับ ‘แพนด้าสโนว์โดม’ ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพราะบ้านเกิดเมืองนอนของพวกมันก็คงเย็นสบายกว่าบ้านเรา จะมีก็แต่คำถามโง่ๆ ว่าไอ้ ‘ระบบทำความเย็นขนาดใหญ่’ ที่ท่านใช้อยู่นั้น มันส่งผลให้อุณหภูมิโลกเหนือเชียงใหม่ร้อนขึ้นกว่าเดิมอีกไหม? เพราะเมื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิ 25 องศาของเครื่องปรับอากาศในบ้านที่เรารณรงค์เรียกร้องกันตลอดมา กับอุณหภูมิ -5 องศาที่ท่านว่ามานั้น มันเป็นตัวเลขที่ชวนตกใจไม่ใช่น้อย (ซึ่งถ้าไม่ส่งผลอะไรเลยก็จะเป็นพระคุณมหาศาล)

รวมถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อหวัดในหมู่นักดูแพนด้า ผมก็เดาว่าท่านคงเตรียมการไว้แล้วใช่ไหม?

ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้ใช้บริการ ผมก็ปลาบปลื้มกับ ‘แผ่นกรองอากาศที่ดีที่สุด’ ในเครื่องบินทุกลำของการบินไทย ซึ่งถ้าสนนราคาค่าตั๋วไม่สูงจนเกินไปนัก ต่อไปเวลาที่ต้องเดินทางอีก ผมก็คงสนใจระบบดูแลอากาศในห้องโดยสารของท่านเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าท่านคงเตรียมรับมือกับสถานการณ์ไข้หวัดมาเป็นอย่างดี

ผมบอกไปแล้วว่าเป็นความบังเอิญที่เหตุการณ์ทั้งสามเรื่องนี้เกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก และทำให้ได้ฉุกคิดเรื่อง ‘ท่าที’ นี้ขึ้นมา

ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว

ความรู้สึกคล้ายๆ เพื่อนที่เรียนโรงเรียนประถมมาด้วยกัน เมื่อเรียนจบก็แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง แล้วจู่ๆ วันหนึ่งก็โทรศัพท์มาหา (เอาเบอร์มาจากไหนไม่รู้) ถามไถ่ด้วยน้ำเสียงเป็นมิตรที่สุดในโลก ชวนคุยนานาสารพัดเรื่อง เพื่อที่จะขายประกันชีวิตให้ในที่สุด

หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้ ผมเคยถามตัวเองว่าทำไมจึงรู้สึกไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้นเลย แล้วก็ได้คำตอบว่าที่แท้ผมไม่ได้รังเกียจอาชีพขายประกัน เพราะไม่ว่าอาชีพไหนก็มีศักดิ์ศรีเท่ากัน เพียงแค่ไม่นิยม ‘ท่าที่’ เช่นนี้ของคนเหล่านั้น

คิดได้ดังนี้แล้วก็ปล่อยให้มันผ่านไป ไม่ได้เก็บเอามาเป็นธุระในใจ

แต่เรื่องที่ยังเป็นธุระในใจก็คือ ผมยังคิดไม่ออกว่าการห่วงไยชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชาติ ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ ‘ถูกต้อง’ โดยไม่ห่วงภาพลักษณ์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คิดถึงแต่เม็ดเงิน ‘มากจนเกินไป’ นั้น มันส่งผลเสียอะไร

ในสถานการณ์แบบนี้ ผมกลับคิดว่า ‘ความไม่รู้’ ต่างหาก ที่จะสร้างให้เกิดความวิตกกังวล เพราะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา มองไม่เห็นอนาคต ไม่รู้ต้องทำตัวอย่างไร และสุดท้ายก็เลือกที่จะเก็บตัว ไม่ออกไปไหน เพราะไม่ว่าใครต่างก็รักชีวิตตัวเองและคนรอบข้างทั้งนั้นไม่ใช่หรือ

‘ความรู้’ จะทำให้เรารู้ว่าควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะสามารถช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายนี้ได้ แล้วก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติสุข (ซึ่งก็อาจหมายถึงการออกไปเที่ยว ‘ในบ้านของเราเอง’ ได้อย่างสบายใจ)

ในฐานะประชาชนตาดำๆ ที่มีรายรับเทียบไม่ได้เลยกับดาราหรือนักร้อง ผมจึงพึงใจที่จะอ่านฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องหวัด 2009 ของคุณ CHAMP ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ เขียนเองหรือเปล่าก็ไม่รู้ และส่งต่อๆ กันมาจากใครก็ไม่รู้ มากกว่าการเคลิ้มฝันไปกับโฆษณาวิวทิวทัศน์สวยๆ ที่เห็นในทีวี

เพราะผมดันเชื่อที่ได้ยินมาจากทีวีเหมือนกันว่า ประชาชนต้องมาก่อน
แต่เดี๋ยวก่อน..ทีวีก็บอกอีกเหมือนกันนี่นาว่า เศรษฐกิจของชาติต้องมาก่อน


เอาละสิ....แล้วตกลงว่าอันไหน ‘ต้องมาก่อน’ กันแน่ล่ะ?


(ติดตามอ่านฟอร์เวิร์ดเมลฉบับเต็มของคุณ CHAMP ได้ที่ http://iamvajira.blogspot.com/2009/08/2009-ffw-mail.html
)

No comments: