Monday, April 9, 2007

April Map


แผนที่ของเดือนเมษา
เอ่อ...วันงานจริงๆ ไม่หวือหวาอย่างในรูปหรอกนะ
^^

Wednesday, April 4, 2007

Copying Beethoven


Ludwig van Beethoven: The vibrations on the air are the breath of God speaking to man's soul. Music is the language of God. We musicians are as close to God as man can be. We hear his voice, we read his lips, we give birth to the children of God, who sing his praise. That's what musicians are.

Copying Beethoven (2006)
a film by Agnieszka Holland

Sunday, April 1, 2007

MO Shop: ช่องหน้าต่างนั้นมองเห็นก้อนเมฆ


ชิ้นนี้เขียนให้ IMAGE ในคอลัมน์ Deco ตามคำชักชวนของพี่หมี (เจ้าเก่า)
บอกแกไปว่าไม่เคยเขียนเรื่องทำนองตกแต่งมาก่อน แต่จะลองดู

ที่หน้าสารบัญของ IMAGE เขียนแนะนำไว้ว่า
บางคนชื่อ 'วชิรา' บอกว่า 'ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์' เป็น 'พระเจ้าของเข้าของ'
ด้วยความซุกซนหยิบโน่นผสมนี่อยู่เป็นนิจ ซึ่งเราคงเคยเห็นมาไม่น้อย
จากงานศิลปะสร้างสรรค์ของเขา
IMAGE DECO ขอนำเสนอ MO Shop ที่เป็นทั้งแกลลอรี่แสดงงานศิลปะ
ผนวกร้านจำหน่ายสินค้าและสถานที่เพื่อการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์
ย่านท่าแพ ใจกลางเมืองเชียงใหม่
หากยังไม่สบโอกาสไปเยือนด้วยตัวเอง ขอเชิญท่องไปกับสีสัน รายละเอียด
และความสดใหม่จากฝีมือการตกแต่งและจัดการของไทวิจิต-ด้วยภาพไปพลางก่อน

รูปที่เห็นอยู่ในรูปคือฝีมือของ อ้น-ชัยวัฒน์ กังสัมฤทธิ์ ช่างภาพของ IMAGE
ถ้าใครอยากเห็นเพิ่มเติม คงต้องรบกวนที่แผง
หรือจะย้อนดูโปสเตอร์/ใบปลิว กิจกรรมหูของเดือนมีนาก็ได้
รูปนั้นคือส่วนหนึ่งของผนัง MO Shop (ชั้นหนึ่งใกล้ๆ บันได)
หรือหาโอกาสแวะไปดูด้วยตัวเองก็ยิ่งดีใหญ่

ขอบคุณพี่หมี พี่มอ อ้น และน้องๆ ที่ MO Shop ด้วยครับ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร IMAGE ฉบับมีนาคม 2550

Image Deco
MO Shop: ช่องหน้าต่างนั้นมองเห็นก้อนเมฆ
วชิรา

'God is in the detail.'
ข้อความของสถาปนิกชาวเยอรมัน Mies van der Rohe (1886-1969)
เขียนด้วยลายมือบนผนัง เตะตาผมขณะเดินอยู่บนพื้นตะแกรงของชั้นสอง
อันที่จริงมันซุกตัวอยู่ด้านหลังของชั้นวางหนังสือรูปร่างหน้าตาคล้ายบอลลูนคำพูดในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น บนผนังเดียวกันมีบอลลูนชั้นหนังสืออีกสองสามอัน แต่ละอันล้วนมีข้อความซุกซ่อนอยู่

ลายมือขยุกขยิกนั้น เป็นของไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์-ศิลปินนักเล่นแร่แปรธาตุที่มีแฟนๆ จำนวนไม่น้อยเฝ้าติดตามผลงานของเขามาโดยตลอด ด้วยความสามารถในการผสมผสานความงามจากชิ้นส่วนวัสดุให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันได้อย่างไหลลื่น
กระถางต้นไม้ พรม ตู้ใส่ของ โคมไฟ กรอบใส่รูป เก้าอี้ และอื่นๆ อีกมาก ล้วนเคยเป็นหัวข้อในผลงานของเขา

ในบางขณะ ผมรู้สึกเองว่าไทวิจิตเหมือนเป็นพระเจ้าของข้าวของ ไม่ใช่ในความหมายที่ยิ่งใหญ่หรือจำต้องเคารพสักการะ แต่เป็นในมุมซุกซนของการหยิบโน่นผสมนี่ คละนั่นปนโน่น คล้ายสามารถเสกสร้างให้เศษวัสดุที่ไม่มีใครใส่ใจให้กลับฟื้นคืนชีวิตในความหมายใหม่

ถ้ามีพระเจ้าให้ค้นหาอยู่ในรายละเอียด
ก็น่าจะมีพระเจ้าองค์เดียวกันนั้นอยู่ในไทวิจิต
.........

หลังจากที่ทดลองนั่งเก้าอี้เล่นอยู่หลายตัว ผมตัดสินใจจ่อมตัวเองลงบนชุดรับแขกขนาดกะทัดรัดสีขาว พร้อมกาแฟอุ่นๆ ที่มีไว้ให้บริการคนที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม
นั่งมองผ่านผนังกระจกใสบานใหญ่ออกไปด้านนอกเห็นประตูวัดอุปคุตตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ฝั่งตรงข้าม ระหว่างเรามีรถราขวักไขว่ไหลมาจากสะพานนวรัตน์ พุ่งตัวอย่างรีบเร่งคล้ายกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปยังทิศทางเดียวกัน ตามกรอบบังคับกะเกณฑ์ของเส้นถนน

แม้ใครไม่สังเกตก็ต้องเห็น ตึกสูงสามชั้นสีเหลืองมะนาว (สด) ยืนลำดับไหล่อยู่ตรงกลางระหว่างสองตึกเก่าแก่ คนที่เหลียวหน้ากลับมามอง จะพบโลหะตัวอักษร M และ O ขนาดใหญ่ ดักสายตาอยู่ พร้อมคำเขียนภาษาอังกฤษติดผนังกำกับไว้ว่า Functional Objects

โลหะอักษร M และ O นั้นสีถลอกปอกเปิก

อันที่จริง MO Shop เป็นแขนงหนึ่งในโครงการ MO Hotel โรงแรมในความหมายกว้างๆ ของบูติกโฮเตลขนาด 12 ห้อง รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดพิสดาร
คล้ายกล่องสี่เหลี่ยมมน 12 กล่องวางซ้อนทับกันไปมา ออกแบบและตกแต่งภายในโดย
ไทวิจิต ตามหลักโหราศาสตร์ผสมผสานระหว่างไทยและจีน ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี

ไม่ต่างจากโรงแรมใหญ่ๆ ทั่วไป ที่มีร้านขายของไว้ให้บริการลูกค้าแต่ MO Shop กลับแสดงสถานะก้ำกึ่งกว่า เพราะนอกจากจะอยู่คนละที่กับตัวโรงแรม (ห่างกันราวห้านาทีเดิน) ยังถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงประสบการณ์-ตามนิยามของไทวิจิต ทั้งที่อยู่ในรูปวัสดุอุปกรณ์และผลงานต่างๆ ทั้งที่สร้างขึ้นและสะสมมายาวนาน
ที่สำคัญกว่านั้นคือพื้นที่นี้ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แต่เพียงลำพังประสบการณ์ของไทวิจิตคนเดียว มันยังถูกเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในแวดวง ‘ศิลปะ’ และ ‘ออกแบบ’ ที่เขานิยมชมชอบในผลงาน

ผมจำใจเขียนสองคำนั้นแยกกันเพื่อความสะดวกในการจัดหมวดหมู่ให้เข้าใจ แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองส่วนผสมผสาน กลมกลืน ขัดแย้ง ต่อสู้ และดำเนินไปด้วยกันใน MO Shop
ไม่ต่างกับบ้านหรือห้องที่ประกอบด้วยสิ่งของคละอย่าง

ใครที่ผ่านเข้าไปช่วงเวลานี้จึงมีโอกาสได้เห็นประสบการณ์ของคนทำงานศิลปะร่วมสมัยอย่าง อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, เกศ ชวนะลิขิกร, อภิชาติ จำปาทอง, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, ปราบดา หยุ่น ผ่านงานหล่อ ปั้น แกะ พิมพ์ วาด ของพวกเขา เคล้าไปกับเก้าอี้ โคมไฟ ไดอารี่ กระเป๋า ของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข, PLANET 2001, ANGO และนักออกแบบท่านอื่นๆ ที่ประดับประดาอยู่ร่วมกันในอาคารปูนเปลือยสูงสามชั้นนี้
รวมถึงบอลลูนคำพูดที่วางขายหนังสือของสำนักพิมพ์ OPEN อยู่ชั้นล่าง กลุ่มหนังสือที่ไทวิจิตเล่าว่าหาซื้อตามร้านหนังสือไม่ค่อยได้ เลยติดต่อนำมาวางขายไว้ที่นี่เสียเลย

ทั้งหมดว่ามานั้น คือผลจากการจัดการของเขา

บนชั้นสาม ไทวิจิตจัดการให้เป็น Print Making Studio สำหรับเก็บและทำงานภาพพิมพ์ ทั้งของเขาเองและของคนอื่นๆ ที่ไทวิจิตตระเตรียมจะชักชวนมาทำอะไรสนุกๆ ร่วมกันบ้าง หรือเมื่อ MO Hotel ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการแล้วนั้น พื้นที่บนชั้นนี้ก็อาจเป็นที่ทำกิจกรรมสนุกๆ ของลูกค้าของโรงแรมก็เป็นไปได้
โดยมีช่างพิมพ์ (Printer) ไว้คอยดูแลให้คำแนะนำ
จินตนาการว่าถ้าคุณมาเที่ยวเชียงใหม่ แล้วมีของที่ระลึกเป็นผลงานภาพพิมพ์ของตัวเองติดมือกลับบ้าน
กระบวนการง่ายๆ แต่งดงามนี้ รอเพียงเวลาที่จะเกิดขึ้น

โดยภาพรวม MO Shop อาจเป็นแกลเลอรี่ขายผลงานศิลปะหรืองานออกแบบเก๋ๆ หรือเป็นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่หลงใหลการตกแต่ง
แต่บนมิติของสิ่งมีชีวิต MO Shop คือกลุ่มก้อนของชุมชนทางศิลปะที่จะค่อยๆ เคลื่อนตัวไปด้วยกัน

คนทำงานที่ดี ย่อมต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา-ไทวิจิตเชื่ออย่างนั้น
ชีวิตของ MO Shop ก็น่าจะอยู่ในหลักการเดียวกัน
บนชานพักบันได ระหว่างชั้นสองขึ้นสาม ต้นไม้เล็กๆ ในกระถางรูปทรงประหลาด อันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ของไทวิจิตกำลังผลิใบ

ระหว่างบรรทัดบนแก้วกาแฟ ผมอ่านพบข้อความหนึ่งว่า
“ตอนที่ผมเป็นเด็กเล็ก เหนือหลังคาบ้านขึ้นไป ผมมองเห็นท้องฟ้าและปุยเมฆล่องลอย
เป็นกลุ่มเป็นก้อน คล้ายรูปร่างของบางสิ่งบางอย่าง เป็นรูปร่างของความรู้สึกใหม่ ไม่คุ้นเคยแต่แจ่มชัด น่าทึ่ง บางทีดูคล้ายรูปร่างของสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางลีลาดูคล้ายท่วงท่าของสัตว์ชนิดต่างๆ บ้างดูฉงนแปลกตา บางครั้งดูมหึมา แฝงเร้นพลังลี้ลับ บางครั้งดูผิดเพี้ยนชวนฝันเกินจริง บางครั้งดูสงบนิ่งราบเรียบ ประสบการณ์เกี่ยวกับการรับรู้รูปทรงต่างๆ ของเด็กเล็ก สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่มีสีสัน จากก้อนเมฆเหนือท้องฟ้าเหล่านั้น”

บรรทัดล่างของข้อความ ลงชื่อ ไทวิจิต บันทึกไว้เมื่อ 31 พ.ค. 2543

ขณะนี้ปี 2550 และผมกลับขึ้นไปบนชั้นสามอีกครั้ง
ไม่ได้กลับขึ้นไปทำภาพพิมพ์ของตัวเอง แต่กลับไปหาช่องหน้าต่างบานนั้น ที่ถูกเจาะใส่กระจกใสไว้บนหลังคาให้แสงสว่างส่องผ่านเข้ามา
หยุดยืนมองไปข้างนอก เห็นก้อนเมฆลอยเกลื่อน เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่ซ้ำในรายละเอียด

ดูมีชีวิตอย่างไรบอกไม่ถูก