Sunday, December 14, 2008

F>O>D>E>21>2nd Anniversary/ 'Breathless' Opening Party: WE ARE THE DESTROYER (Welcome to the Disco!)


ทะลุหูขวา ครั้งที่ 21 ฉลองครบรอบสองปี!
Fall On Deaf Ears 21>2nd Anniversary
"WE ARE THE DESTROYER"

(Welcome to the disco!)
as a part of 'Breathless' Opening Party

Date: Friday 19th December 2008
Time: 21.00-00.00 HRS
Venue: Punna Place (Nimman Soi 6)


visit www.beautifulbreathless.com

or www.rabbithood.net

or call 086 663 0303 for more detail

supported by British Embassy
------------------------------

สวัสดีหน้าหนาว
ช่วงนี้เชียงใหม่อากาศดีเชียว กลางวันก็ไม่ร้อนเกินไป กลางคืนบางคืนก็หนาวยะเยือกที่เดียวบวกลบคูณหารเข้ากับบรรยากาศการเมืองที่น่าขยะแขยงแล้วนั้น ก็พอให้รู้สึกดีกับชีวิตได้บ้าง

งานหูคราวนี้ได้ฤกษ์จัดงานฉลองครบสองปีเสียที ที่จริงต้องจัดตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่ก็เลื่อนมา ที่เลื่อนก็เพราะอยากเอามารวมกับงานปาร์ตี้เปิดโครงการ 'ใจหาย' (Breathless) ให้เป็นงานเดียวกันไปเลย

'ใจหาย' คืออะไรนะ?

ใจหายคือโครงการล่าสุดของ Rabbithood ที่ทำร่วมกับ ภาคีคนฮักเจียงใหม่ และ British Council โดยได้รับการสนับสนุนจาก สถานทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย เราทำงานกันมาหนึ่งเดือนกว่าแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดตัวอย่างเป็นทางการกัน แต่ตอนนี้ก็ถึงเวลานั้นแล้วล่ะ

ใจหายเป็นโครงการศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วยชิ้นงานย่อยๆ จำนวน 7 ชิ้น เน้นจำเพาะไปที่ปัญหาสภาพหมอกควันในเชียงใหม่ รายละเอียดอื่นๆ ของโครงการนั้น สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ www.beautifulbreathless.com
ได้เลย

สำหรับงานเปิด+งานฉลองครบรอบสองปีนี้ เราทำเป็น Disco Night ตั้งชื่องานว่า WE ARE THE DESTROYER ชื่องานอาจจะแปลกๆ ไปหน่อย แต่มันก็มีที่มาที่ไปนะ เพราะว่าปาร์ตี้เปิดตัวนี้ก็เป็นหนึ่งในชิ้นงานเจ็ดชิ้นของ 'ใจหาย' ด้วย

เราจะจัดปาร์ตี้กันสนุกสนานตามปกติ แต่คราวนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่เราจะคำนวณพลังงานที่ใช้ไประหว่างความสนุกสนานนั้น ออกมาเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น ทั้งไฟฟ้า แก้ว ขวด ยานพาหนะที่ใช้มากัน ฯลฯ จากนั้นทีมงานก็จะคำนวณออกมาเป็นตัวเลข แล้วก็มี graphic artist ทำออกมาเป็นภาพ ฉายขึ้นบนจอ ในขณะที่เรากำลังสนุกสนานสุดเหวี่ยงกัน จากนั้นเราจะสรุปข้อมูลทั้งหมดที่ได้แล้วเอาไปใช้ในงานชิ้นต่อๆ ไป

ไม่เพียงเท่านั้น (สำนวนรายการขายของในทีวีตอนดึก) เรายังมีฟุตเทจหนังสารคดีของ เจ-สันติภาพ อินกองงาม ที่มาถ่ายทำโครงการ 'ใจหาย' ตั้งแต่ต้น เปิดฉายให้ชมเป็นครั้งแรกที่งานนี้ด้วย

เอาล่ะ หอมปากหอมคอแต่เพียงเท่านี้นะ เพราะงานคราวนี้ไม่เหมือนกับที่จัดๆ มาทุกครั้ง ขอเวลาไปเตรียมงานก่อน ขอเชิญชวนญาติมิตรทุกท่านมาร่วมเฉลิมฉลองด้วยกัน (ถือโอกาสฉลองปีใหม่ไปด้วยเลยละกัน) แล้วพบกันที่ ปันนาเพลส นิมมานฯ ซอย 6 นะ (สถานที่เจ๋งมาก!)

อ้อ..ใครจะแต่งตัวดิสโก้มาก็ไม่ว่ากันเน่อ (เราพยายามแต่งเป็น จอห์น ทราโวลต้า ใน Saturday Night Fever แล้ว แต่คิดว่าไม่น่าจะเหมาะ!)

ขอขอบคุณ สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ครับ

วชิรา
RabbitHood
http://www.rabbithood.net/

Friday, December 12, 2008

Gallery See Scape: Soft Opening


มีข่าวมาแจ้งให้ทราบ ไม่ใช่งานของ RH แต่เป็นงานของเพื่่อน RH
สำหรับแฟนๆ ของ See Scape ที่ปิดปรับปรุงไปพักใหญ่นั้น
ขณะนี้ก็ถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ที่จะเผยโฉมใหม่เสียที
จากเดิมที่เป็นเพียงร้านกินดื่ม ขณะนี้ปรับใหม่เป็นแกลเลอรี่ขนาดเล็ก
(ยังมีเครื่องดื่มขนาดเล็กให้บริการเช่นเดิม)

จะมีงาน soft opening วันเสาร์นี้ (รายละเอียดตามในโปสเตอร์)
ว่างๆ มาพบกัน มีเล่นดนตรีสดด้วยนะ

^^
RH

Thursday, December 11, 2008

โพรง (8): ใจหาย (เสมือนคำนำ)



รอจะเขียนเรื่องนี้มาหนึ่งปีเต็ม
ลองอ่านดูนะ

...........

พิมพ์ครั้งแรกใน HIP เดือนพฤศจิกายน 2551

โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา

www.rabbithood.net


ใจหาย (เสมือนคำนำ)

ผมเป็นคนหนึ่งที่เผลอมองดวงไฟวิบวับสีส้มกลมลอยละลิ่วขึ้นบนท้องฟ้า โยกซ้ายเยกขวาไปตามบงการของลม เรียงรายเป็นสายพลิ้วไหว สยายไกลสายตาออกไป

ยิ่งผนวกเข้ากับสัมผัสแรกเริ่มของลมหนาวที่เพิ่งเดินทางไกลมาทักทายเบาๆ ก็ยิ่ง...

ในช่วงขณะเคลิบเคลิ้มนั้น เสียงของความหมายทางศาสนาดังแว่วอยู่ไกลลิบ แผ่วบางคล้ายเสียงกระซิบของแมลงวันที่กระพือปีกอยู่อีกฟากของท้องฟ้า ไม่มีใครใส่ใจความจริงเหล่านั้น ผมแทบไม่ได้ยินอะไรเลย

แม้กระทั่งจากตัวเอง

แล้วจู่ๆ ก็นึกสงสัยว่า ลวดที่ยึดเส้นรอบทรงกลมของโคมสวยงามเหล่านั้น มันไปตกสุมอยู่ที่ไหนกันบ้าง
แล้วอีกนานไหมกว่ามันจะสลายไป
.........

ผมเดาว่าทุกคนน่าจะมีคำถามที่ตัวเองต้องตอบบ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่นในช่วงเวลาจบมัธยม ก็ต้องคอยตอบคำถามว่าจะเรียนคณะอะไร หรือช่วงที่ใกล้เรียนจบ ก็ต้องคอยคำถามว่าจบแล้วจะไปทำอะไร (หรือช่วงที่ถึงวัยมาตรฐาน ก็ต้องคอยตอบคำถามว่า เมื่อไหร่จะแต่งงาน) ผมเองก็มี

คำถามเหล่านี้แตกต่างกันตามช่วงเวลาต่างๆ กันของชีวิต

ตั้งแต่โยกย้ายมาอยู่เชียงใหม่ คำถามหนึ่งที่ต้องตอบบ่อยคือทำไมจึงเป็นที่นี่ เข้าใจว่าผู้ที่ถามก็คงมีเหตุจูงใจแตกต่างกันไป บางคนอาจสงสัยเพราะมาแบบไม่มีปี่ขลุ่ย บางคนรู้ว่าตั้งใจมาแค่เดือนเดียว บ้างอาจทำไปตามหน้าที่ (บ้างก็อาจรู้สึกว่ามาทำไม เขาอยู่ของเขากันดีๆ )

ผมไม่เคยสนิทสนมกับภูเขา มันเป็นความหมายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน-ผมติดภูเขา
ติดภูเขาก็เหมือนติดละครทีวี ถึงเวลาก็อยากดู

หนักเข้าสำหรับบางคน ถึงเวลาก็ต้องดู

จากคนที่เคยอยู่ในเมืองหลวง สภาพแวดล้อมเบียดเสียดไปทั่วทุกท้องถนน การได้ดำรงชีวิตในเมืองขนาดกระทัดรัด เป็นสวรรค์ที่ไม่ไกลเกินไปและไม่ต้องรอนาน ผมไม่ได้รังเรียจรังงอนกรุงเทพฯ ที่ยังคงสถานะเป็นบ้านเกิดนะครับ เพียงแต่พยายามจะอธิบายว่าสภาพของเมืองที่แตกต่าง บุคลิกของเมืองที่ไม่เหมือนกัน ทำให้การจัดสัดส่วนการใช้ชีวิตนั้นแตกต่างตามไปด้วย

ผมเพิ่มช่วงเวลาสั้นๆ นั่งดูภูเขาในตอนเช้า-ทุกวัน ไม่มีวันหยุด (เคล้าเสียงก่อสร้างคอนโดฯ ที่เพิ่งงอกขึ้นมาในช่วงปีหลัง) จนกระทั่งวันหนึ่ง ภูเขาดอยสุเทพที่คุ้นเคยก็หายไปต่อหน้าต่อตา

ถ้าจำไม่ผิด เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดในราวปีพ.ศ. 2550 ช่วงนั้นเชียงใหม่ปกคลุมด้วยฝุ่นหมอกควัน ฟ้าทั้งฟ้ากลายเป็นสีอมเทา หันไปทางไหนก็เห็นคนใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูกเดินกันไปมา ผมรู้สึกคล้ายกำลังอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลที่ทุกคนเป็นคนป่วย

ผมเองก็ด้วย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว ในช่วงที่ผมยังไม่มา สภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแอ่งกระทะ ฤดูกาลและวัฒนธรรมการเพาะปลูกของชาวเขา การบุกรุกเข้าเขมือบพื้นที่ป่าของชาวเมือง ขยะใบไม้มากมายที่ไม่รู้จะเอาไปทิ้งที่ไหน ความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ความหละหลวมของกลไกของรัฐ ผนวกเข้ากับสภาพอากาศทั่วทุกมุมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย การแห่แหนกันมาของคนต่างถิ่น ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ทำให้เราต้องเงยหน้ายอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

จะไปโทษใครได้ล่ะครับ นอกจากตัวเอง

ครั้งหนึ่งบนเครื่องบิน ที่ไหนสักแห่งบนท้องฟ้า ระหว่างกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ ผมนั่งติดกับคุณป้าคนหนึ่ง แกเป็นครู เป็นคนเชียงใหม่แท้ๆ เมื่อบทสนทนาดำเนินไปได้สักระยะ ผมถามแกว่ารู้สึกยังไงที่เชียงใหม่เติบโตขึ้นมาก คุณป้าตอบว่าแกไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก เพราะว่าบ้านแกอยู่ออกไปทางนอกเมือง นานๆ จะเข้าเมืองมาสักครั้งหนึ่ง เข้ามาทีไร แกก็สังเกตว่ารถบนถนนเยอะขึ้น นักท่องเที่ยวเยอะขึ้น และคนต่างถิ่นที่ย้ายมาอยู่ก็เยอะขึ้นด้วย

“แต่ยังไงป้าก็รู้สึกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองอบอุ่น”

เมื่อสิ้นเสียง ผมค่อนข้างแน่ใจว่าคุณป้าไม่ได้หมายความถึงอุณหภูมิความร้อนในอากาศ แต่คงมีความหมายอื่น และถ้าไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป ผมรู้สึกว่าคุณป้าไม่ได้กีดกันคนต่างถิ่น-อย่างผม เพราะไม่มีเนื้อหาใดของการสนทนาที่จะทิ่มแทงการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ของผู้มาอยู่ใหม่

รอยยิ้มและแววตาของคุณป้า จริงใจและเป็นมิตร

เวลานั้นผมฉุกคิดได้ว่า นี่เราจะมาเสวยความสะดวกสบายในเมืองอบอุ่นของคุณป้าผู้นี้แต่เพียงอย่างเดียวหรือ ถ้าวันหนึ่งภูเขาที่มองทุกวันจู่ๆ ก็หายไป แล้วเราจะทำอย่างไร หนี-ย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ที่ดีกว่า แล้วทิ้งซากเมืองแสนหวานไว้กับผู้ที่ไม่คิดจะย้ายไปไหนเพียงเพราะว่าที่นี่คือบ้านของเขาหรอกหรือ

บ้านที่เคยอบอุ่น...ของเขา

ด้วยความที่ไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อมอาชีพ ทั้งยังไม่มีคุณสมบัติใดๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อนกลไกเพื่อต่อสู้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน เพียงแต่รู้สึกว่าถ้าเรามีโอกาสได้อาศัยอยู่ในเมืองที่เราชอบ ก็ควรช่วยกันรักษามันไว้ อย่างน้อยความรู้สึกชอบจะได้ยืนระยะยาวนานขึ้น

บ้านขนาดใหญ่ที่ผู้อยู่อาศัยช่วยกันดูแล อย่างไรเสียก็น่าจะทั่วถึงกว่าการจ้างวาน

ผมคิดว่าความชอบของคนเรานั้นมีวันหมดอายุ สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัย ระยะเวลาของมันจึงเป็นเรื่องยากเกินคาดเดา แต่กว่าจะถึงวันนั้น ผมรู้เพียงว่าเมืองที่ไม่มีผู้คนกินนอนเคลื่อนไหว สุดท้ายก็เป็นได้เพียงโบราณสถาน

ที่นักท่องเที่ยวจะทุ่มเทความสนใจก็เฉพาะเวลามีการแสดงแสงสีเสียง
.........

เมื่อช่วงต้นปี ผมลงไปงานแต่งงานเพื่อนสนิทที่บนเกาะหมาก จังหวัดตราด ก่อนไปเพื่อนๆ ก็โทรมาย้ำว่า อย่าลืมขนโคมลอยติดไม้ติดมือไปด้วย กะว่าจะไปจุดกันหลังพิธีแต่งงาน ผมฟังแล้วก็อิดออด อ้อมแอ้มว่าอย่าจุดเลย เพราะถ้ามันลอยไปตกที่ทะเล ใครจะเป็นคนเก็บ เพื่อนได้ยินเข้าก็ไม่ว่าอะไร

จนเมื่อหลังเสร็จพิธี พวกเขาก็จุดโคมลอยกัน บอกว่าซื้อมาจากแถวๆ ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ

โคมลอยที่วันนี้ความหมายของมันได้เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีแต่เก่าก่อนโดยสิ้นเชิง

ผมมองเห็นความสนุกสนานของเพื่อนๆ ยามเมื่อพวกเขาพยายามจะทำให้โคมเหล่านั้นลอยละล่องขึ้นบนท้องฟ้า แล้วก็ไม่รู้จะพูดอะไร

ดวงไฟวิบวับสีส้มกลมดวงแล้วดวงเล่าลอยละลิ่ว โยกซ้ายเยกขวาไปตามบงการของลม เรียงรายเป็นสายพลิ้วไหว สยายไกลสายตาออกไป
ก่อนจะกลืนหายไปกับความมืดมืดของท้องฟ้า และตกลงไปที่ไหนสักแห่งกลางทะเล

มันคงลอยเคว้งคว้างอยู่อย่างนั้น ท่ามกลางกระแสคลื่น วันดีคืนร้าย ลูกปลาโง่ๆ สักตัว อาจพยายามเติมเต็มความหิวโหยด้วยการเข้าแหวกว่ายเข้าไปพิสูจน์ และอาจทุรนทุรายจนตาย โดยที่ญาติพี่น้องก็ไม่รู้สาเหตุ

ความโง่ของมันมีราคา
และเป็นราคาขึ้นกับการตัดสินใจของเรา

ทะลุหูขวา (19): artist: The Rosebuds


พิมพ์ครั้งแรกใน HIP เดือนพฤศจิกายน 2551

ทะลุหูขวา [Fall On Deaf Ears]
www.rabbithood.net

The Rosebuds

The Rosebuds เป็นวงดนตรีจากเมือง Raleigh (ราลีห์-เมืองที่ได้ฉายาว่าเป็น “City of Oaks” เพราะว่าต้นโอ๊คเยอะมาก) นอร์ธคาโรไลนา สหรัฐอเมริกา สมาชิกปัจจุบันประกอบด้วย Ivan Howard (ร้อง/กีต้าร์/กลอง/เบส/คีย์บอร์ด/โปรแกรม) และ Kelly Crisp (ร้อง/คีย์บอร์ด/กลอง/กีต้าร์) Howard และ Crisp พบกันครั้งที่เรียนมหาวิทยาลัยใน Wilmington และย้ายไปอยู่เมืองราลีห์พร้อมๆ กัน ที่นั่นพวกเขาได้พบ Billy Alphin (มือกลอง) และก่อตั้ง The Rosebuds ขึ้นมาด้วยกัน จนเมื่อค่าย Merge Records ได้ค้นพบเดโมของพวกเขาในช่วงต้นปี 2003 และออกอัลบั้มแรกในเดือนตุลาคม

Robert Herrick กวีแห่งศตวรรษที่ 17 ได้ให้ความหมายของคำ rosebud (กุหลาบตูม) ว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ความสุขที่โบยบินไปอย่างรวดเร็วของวัยหนุ่มสาว’ (เขาเป็นกวีชาวอังกฤษ ที่มีชีวิตอยู่ในระหว่างปีค.ศ. 1591-1674 บทกวีที่มีชื่อเสียงของเขาชื่อ "To the Virgins, to Make Much of Time" ซึ่งเป็นบทกวีในหมวด carpe diem หรือ ‘ฉวยวันเวลาไว้’ บทกวีชิ้นนี้มีความตอนต้นว่า Gather ye rosebuds while ye may, Old Time is still a-flying: And this same flower that smiles today To-morrow will be dying.) ขณะที่ Orson Welles ได้สร้างคำว่า ‘Rosebud’ ให้เป็นคำพูดปริศนาสุดท้ายก่อนตายของ Charles Foster Kane ในภาพยนตร์ตำนานเรื่อง Citizen Kane ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความทรงจำในวัยหนุ่มที่ยากจะคลาย ซึ่ง Ivan และ Kelly ก็ได้ทำดนตรีของ The Rosebuds ออกมาเป็นเช่นนั้น-อ่อนวัย แต่ซับซ้อน มหัศจรรย์แต่ไม่เพ้อฝัน ไม่ใช่ความเหมือนจริง แต่เป็นความจริง และนี่อาจจะเป็นวิถีแท้ๆ ของคนหนุ่มสาว

ดนตรีของ The Rosebuds แตกต่างกันไปตามอัลบั้มต่างๆ เหมือนสัตว์ในตำนานที่แปลงตัวเพื่อหลบเลี่ยงการถูกจับ พวกเขาไม่ใช้เวลาไปกับการพยายามนิยามแนวดนตรีของตัวเอง อัลบั้มแต่ละชุดจึงเป็นเพียงผลลัพธ์ที่เกิดจากความสงสัยใหม่ๆ เท่านั้น ในอัลบั้มใหม่ ‘Life Like’ The Rosebuds กลับมาหาดนตรีอคูสติก เปิดเผยช่วงเวลาของพวกเขาภายหลังอัลบั้มเฮฟวี่-ซินธ์-แดนซ์-ป็อป Night of the Furies ที่ออกมาในปี 2007 Crisp บอกว่าบางทีพวกเขาต้องการที่จะขับไล่ความเกรี้ยวกราดและความเป็นอิสระจากสิ่งที่หลงผิด ที่มีสาเหตุมาจากพายุที่โหมกระหน่ำหนักหน่วงตลอดทั้งปี และความหงุดหงิด ผิดหวัง หมดกำลังใจกับสภาวะการเมืองที่อ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ ที่ไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร (รู้สึกคุ้นๆ แฮะ)

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ http://www.therosebuds.com/ (เว็บสวยมาก)

All this talk of what has come
The history books have left it out
Never mentions finding love
And all the facts they don't own
So maybe we should call the prince and press alright
Tell them to rewrite those books for the lovers' rights
For the lovers' rights
.

SONG: The Lover’s Right
ALBUM: Birds Make Good Neighbors