Tuesday, August 28, 2007

"เริ่มเลยสิคะ"


เอ้า...อ่านนี้ไปพลางนะ
พิมพ์ครั้งแรกที่ happening ฉบับสิงหานี่เอง
พี่วิภว์เขียนแนะนำไว้ว่า

หลังจากเขียนบทความกับ happening มาแล้วเมื่อตอนฉบับปฐมฤกษ์
วชิราก็กลับมาเขียนให้เราอีกครั้ง นอกจากจะเป็นนักเขียน-บรรณาธิการ
ที่หลายๆ คนรู้จัก (ช่วงหลังๆ ยังเป็นดีเจเสียด้วย) วชิรายังสนใจงานศิลปะอย่างจริงจัง
หนนี้เขาเขียนเล่าถึงศิลปินระดับประเทศท่านหนึ่ง
ที่เขามีโอกาสได้สัมผัสงานอย่างใกล้ชิด วชิราฝากบอกว่า
ใครสนใจมีประสบการณ์ใกล้เคียงกับเขา ก็สามารถไปชมงาน 100 ปีมีเซียม ยิบอินซอย
ได้ที่อะเบ้าท์คาเฟ่ ถนนไมตรีจิตต์ ใกล้วงเวียน 22 กรกฎา กรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2550 สอบถามรายละเอียดโทร 0-2623-1742


เป็นศิลปะ!
Happening arts
เรื่องและภาพ วชิรา

“เริ่มเลยสิคะ”

บ่ายวันนั้นอากาศร้อนอ้าว อะเบ้าท์คาเฟ่ดูโล่งตา
มีเพียงสามสี่ชีวิตเคลื่อนไหวไปมาในที่นั้น
ไม่น่าแปลกใจอะไรนัก ถ้าไม่นับวันเปิดงาน
ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนในแวดวงมาพบปะสังสรรค์
พื้นที่ทางศิลปะที่ไหนๆ ก็เป็นเช่นนี้

เงียบจนเกือบร้าง คนน้อยถึงบางครั้งไม่มี

ผลงานบนผนังหรือบ้างที่วางตั้งอยู่บนพื้น ดูสงบและเปล่าเปลี่ยว
เป็นความโดดเดี่ยวแบบหมู่คณะ
พลันนึกสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าภาพที่เห็นตรงหน้า
คือผู้คนคราคร่ำ เสียงพูดคุยจ๊อกแจ๊ก สลับเสียงโทรศัพท์มือถือ
บ้างในบางครั้ง แต่เพียงวินาทีถัดมา เจ้าของกระบอกก็พร้อมจะรีบรุด
ออกไปกรอกธุระปะปังของตนเองด้านนอก
หนุ่มสาวเดินหนุงหนิงจับมือ ชี้ชวนกันชื่นชม
บ้างสีหน้าบึ้งตึงบูดเบี้ยว
บ่งบอกความไม่เข้าอกเข้าใจในสิ่งที่พบเห็นตรงหน้า
เด็กเล็กชี้ชวนตั้งคำถามให้ผู้ปกครองที่คอยเดินตามกำกับดูแล
บ้างส่งเสียงกระจองอแง หิวข้าว เบื่อ หรืออยากออกไปวิ่งเล่น

กลิ่นของความสดชื่นมีชีวิตชีวา ตลบอบอวลอยู่ในจินตนาการ
.........

ผมพูดได้เต็มปากว่าไม่ใช่ ‘คอ’ ศิลปะตัวยง
ทั้งไม่ได้เล่าเรียนศึกษาอย่างเป็นระบบระเบียบ
และทั้งไม่ได้ผลิตสร้างหรือให้กำเนิดผลงานศิลปะ
ให้เป็นที่โจทย์จันแก่ชาวโลกแต่อย่างใด
จำไม่ได้เสียแล้วว่าความสนใจใน ‘สิ่งที่เรียกกันว่า’ ศิลปะนั้น
เกิดขึ้นเมื่อไหร่และอย่างไร
รู้ตัวอีกทีก็สามารถจินตนาการหลายบรรทัดข้างต้น
ออกมาได้เป็นคุ้งเป็นแคว

ซึ่งถ้าคุณมีประสบการณ์การเที่ยวชมหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์
ในประเทศของเราอยู่บ้าง
ผมคิดว่านั่นก็เพียงพอที่จะเกิดอารมณ์ขันขื่น
กับบรรยากาศดังกล่าว-ที่ไม่มีอยู่จริง
เป็นภาพสะท้อนความทุลักทุเลแห่งประเทศชาติ
จากสายตาประชาชนตาดำ

เพื่อความสะดวกในการสื่อสารระหว่างเรา
ผมใคร่ขอเชิญชวนให้ซุกความคิดเรื่อง ‘อะไรคือศิลปะ’
และ‘อะไรไม่ใช่ศิลปะ’ ไว้ในการเป๋ากางเกงก่อน
เรื่องนี้เริ่มต้นที่บ้านหลังหนึ่ง, ละแวกถนนสาทร กรุงเทพมหานคร

เมื่อหลายปีก่อน ครั้งที่ผมเพิ่งริเข้าไปศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดม
ซึ่งถ้าจำไม่ผิด, ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาหรรษาที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต
ค่าที่หลายสิ่งรอบตัวเป็นสิ่งใหม่ ท้าทาย
และชี้ชวนให้ลิ้มลองราวกับว่าเส้นทางของมันไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นช่วงเวลาที่พลังและเวลาในชีวิตมีมากมายเหลือเฟือ
เราจึงเที่ยว เที่ยว เที่ยว และเรียนหนังสือบ้างในบางโอกาส

ธรรมดาของคนหนุ่ม
ที่มักหลงเข้าใจว่าตนเองคือนกขมิ้นอ่อนสีเหลืองสด
บ้านหลังนั้นจึงต้องคอยเปิดประตูต้อนรับพวกเราเสมอๆ ยามค่ำคืน
อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก
บ้านเพื่อนคนไหนๆ ก็เปิดประตูต้อนรับนกขมิ้นตัวปลอมได้ทั้งนั้น
เพียงแต่บ้านหลังนั้นมีบางอย่างแตกต่าง
ไม่นับความโอบอ้อมอารีย์ที่สมาชิกในบ้านมีต่อพวกเรา
ไม่นับต้นไม้ใหญ่น้อยที่คอยปกคลุมยามตื่นของเราให้ร่มครึ้ม
ไหนจะยังไม่รวมถึง ‘หมูก้อน’ อันแสนเอร็ดอร่อย
ที่นานๆ ครั้งจะวางรอเราอยู่บนโต๊ะอาหาร
หนังสือทั้งไทยและเทศมากหน้าหลายตาบนชั้นวาง
ที่จายตัวอยู่ทั่วไปแล้ว
บ้านหลังนั้นยังประกอบด้วยสิ่งของอีกสองอย่าง
คือภาพเขียนและรูปปั้น
ซึ่งเกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงและน้ำมือของเจ้าของบ้าน
และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักชิ้นงาน
ของคุณย่าของเพื่อน-มีเซียม ยิบอินซอย

“เมื่อดิฉันเริ่มเขียนภาพ ดิฉันเขียนเพราะ
คิดอยากจะมีภาพประดับผนังบ้านตัวเอง”
ประโยคเริ่มต้นในอารัมภบทของหนังสือ
‘สวนศิลป มีเซียม ยิบอินซอย’ (Misiem’s Sculpture Garden)
-หนังสือที่รวบรวมภาพผลงานทั้งปั้นและวาดของเธอ

เริ่มเขียนภาพ-อาจฟังดูโรแมนติกชวนฝัน
หากมันร่วงจากปากหญิงสาวแรกรุ่นราวพิกุลแรกของต้น
แต่กับมีเซียมไม่ได้เป็นอย่างนั้น, เธอเริ่มวาดรูปครั้งแรกเมื่ออายุได้ 42 ปี

“ฉันหันมาสนใจศิลปะช้ามาก ฉันอายุสี่สิบสองแล้ว
เมื่อกลับจากยุโรปหลังจากพาลูกสาวไปรักษาโรคโปลิโอ
สิบสี่เดือนที่อยู่ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ในเดนมาร์ก
ฉันได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ
และสถาบันซึ่งมีงานชิ้นเยี่ยมตั้งแสดงอยู่...
“เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย
ฉันพบว่าภาพเขียนบนผนังห้องต่างๆ ในบ้านนั้นช่างจืดชืดไร้ชีวิต...
น่าแปลกใจว่าภาพเหล่านั้นไม่เคยก่อความรำคาญให้ฉันมาก่อนเลย
แต่บัดนี้ มันกลับรบกวนใจฉันทุกครั้งที่แลเห็น
ฉันเริ่มตระหนักว่า
นัยน์ตาฉันถูกฝึกให้รู้จักแยกแยะศิลปะชั้นเลิศออกจากศิลปะพื้นๆ เสียแล้ว”

จากข้อความในบท ‘ชีวิตศิลปินของฉัน’ มีเซียมเขียนเล่าว่า
เธอฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์มูเน ซาโตมิ ชาวญี่ปุ่น
เพื่อฝึกวาดรูปอย่างจริงจัง เธอวาด วาด วาด และวาด
จนกระทั่งได้รับรางวัล ‘จิตรกรเหรียญทองประจำชาติ’
อันหมายถึงการได้รับรางวัลเหรียญทอง
จากการประกวดในนิทรรศการแห่งชาติสามครั้งซ้อน
คือในปีพ.ศ.2492, 2493, 2494

จนเมื่อเสน่หาในงานวาดจืดจาง
มีเซียมหันความสนใจไปสู่งานปั้น
และฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ศิลป พีระศรี
เธอปั้น ปั้น และปั้น จนวาระสุดท้ายของชีวิต
ถ้ารู้จักสังเกต ผมเชื่อว่าเราน่าจะเคยผ่านตาผลงานปั้นของเธอมาบ้าง
อย่างน้อยสักครั้ง ค่าที่มันประกอบอยู่กับสถานที่ต่างๆ มากมาย

บ้านหลังนั้นยังอยู่ แต่นกขมิ้นตกใจตื่นหมดแล้ว
ภาระหน้าที่ได้ช่วยบอกเตือนว่า
หมดเวลาของการค่ำไหนนอนนั่นเสียที
แต่ผลพลอยได้จากการเตร็ดเตร่ในช่วงเวลานั้น
ทำให้ผมค่อยๆ ซึมซับสิ่งละอันพันละน้อย ที่ประกอบขึ้นในบ้าน
มันดูสดชื่นและไม่เงียบเหงา
พอกล้อมแกล้มได้ว่ามันมี ‘ชีวิต’ เคลื่อนไหวอยู่ในนั้น

ผมอาจจะโชคดี ที่มีโอกาสได้คลุกคลี
และเป็นไปได้มากว่าผลงานต่างๆ ของคุณย่าของเพื่อน
ได้ช่วยกระชับนัยน์ตาของผมให้คมชัดขึ้น
และเป็นไปได้อีกมากว่าผลพวงจากช่วงเวลานั้น
ส่งต่อมาให้ความสนใจในโลกศิลปะแนบแน่นอยู่จนทุกวันนี้
ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับศิลปะนั้น
สืบเนื่องยาวนานและมีที่ท่าว่าจะดำรงอยู่ต่อไป
ตราบเท่าที่คนเรามีแรงผลักดันมากพอ

น่าแปลกที่เราต้องการทั้งการผลักและการดัน
เพื่อนำพาตัวเองไปสู่โลกที่ไม่คุ้นเคย,
ทั้งๆ ที่มันก็เป็นโลกเดียวกัน

ผมคิดเอาเองว่าคำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ ‘อะไร’ ที่ทำให้เราห่าง
หรือทำ ‘อย่างไร’ ที่เราจะมีโอกาสได้ใกล้ชิด
หรือจะไป ‘ที่ไหน’ จึงจะได้พบกับโลกใหม่ใบนั้นที่ไม่คุ้นเคย
แต่คำถามสำคัญน่าจะอยู่ที่ ‘เมื่อไหร่’
เพราะเมื่อเริ่มต้น ทุกอย่างก็จะตามมา

เริ่มเขียนภาพ-จึงอาจไม่ใช่แค่วลีโรแมนติกเบาบางอีกต่อไป

ในข้อเขียนชิ้นเดิม
มีเซียมได้เล่าถึงความกระตือรือล้นขณะเดินทางไปพบคุณครูซาโตมิ
เพื่อขอเรียนวาดรูปกับท่าน
“คุณวาดรูปเป็นบ้างไหม? ” เขาถาม
ฉันกลัวว่าเขาจะไม่ยอมรับฉันเป็นศิษย์
จึงรีบตอบว่า “ดิฉันชอบออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับให้ตัวเองค่ะ”
เขายอมจำนนต่อความจริงจังและความกระตือรือร้นของฉัน
ถามว่า “คุณจะเริ่มเมื่อไหร่? ”

“เริ่มเลยสิคะ พรุ่งนี้เช้า”

Tuesday, August 14, 2007

ทะลุหูขวา (4) : เพชร โอสถานุเคราะห์

คอลัมน์ของเดือนนี้ สำหรับผู้ที่หาอ่านใน HIP ไม่ได้
เขียนจากเพลงพี่เพชร แม้ว่าเพลงนี้จะไม่ใช่เพลงที่เพราะที่สุด
ไม่ฮิตเท่า ไม่ใช่ผู้วิเศษ หรือ ดิ้นกันมั้ยลุง
แต่เราชอบความหมายของ 'การตื่น'
ที่ไม่ใช่แค่ 'ลุกจากที่นอน'แต่คิดไปได้ถึง 'การฟื้นจากหลับ'
ขอเชิญรับชม

ทะลุหูขวา
text and artwork by วชิรา
พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับสิงหาคม 2550

ขอขอบคุณ M MAX ครับ

{artist}
เพชร โอสถานุเคราะห์

เพชร โอสถานุเคราะห์เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นเด็กซุกซน
ชอบคุยและส่งเสียงดัง นอกจากนั้นยังชอบนั่งในลอยเป็นประจำ

เขาเรียนเปียโนครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 12
แต่หลังจากสองอาทิตย์ ก็หันไปหัดเล่นกีตาร์ด้วยตัวเอง
ช่วงอายุเดียวกันนั้น เพชรแต่งเพลงแรกในชีวิตชื่อ Pie Maker
ซึ่งมีอยู่แค่ 2-3 คอร์ด จากนั้นก็ตั้งวงดนตรีของตัวเองชื่อ สี่หมาไน
กับน้องชายและเพื่อนอีกสองคน ในสมัยที่วง สี่เต่าทอง กำลังฮิตมากในบ้านเรา

เขาเป็นเจ้าของเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)
ซึ่งแต่เดิมเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ I’m Just a Man
ในช่วงเวลาที่เขาไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ต่อมาเพลงนี้กลายเป็นเพลงที่ทุกคนรู้จักดี
และยังคงรู้จักกันมาจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงเวลาที่อัลบั้มแรก: ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา
ออกสู่สายตาประชาชนเมื่อเดือนกันยายนปีพ.ศ. 2530 นั้น
ได้ส่งกระแสเกรียวกราวไปในวงกว้าง ทั้งในหมู่นักดนตรี นักวิจารณ์
และประชาชนคนฟังเพลงทั่วไป ด้วยความแปลก ใหม่
และล้ำสมัยกว่าอัลบั้มส่วนใหญ่ในยุคสมัยเดียวกัน

หลังจากนั้น เพชร โอสถานุเคราะห์ หายหน้าไปจากวงการดนตรี 20 ปีเต็ม
จนนักเขียนบางท่าน กล่าวว่าเขาเป็นศิลปินประเภท One Shot Wonder
อันหมายถึงศิลปินหรือนักร้องที่ไม่ว่าจะออกมากี่อัลบั้ม
แต่มีเพลงฮิตที่คนรู้จักอยู่เพลงเดียว

ปัจจุบันพ.ศ. 2550 เขากลับมาพร้อมอัลบั้มใหม่ Let’s Talk About Love
ในขณะที่อัลบั้มแรก ได้กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มคลาสิกตลอดกาล
สำหรับวงการดนตรีบ้านเรา
และเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่สนใจดนตรีกลุ่มหนึ่งเติบโต
มาเป็นนักร้อง นักดนตรีในปัจจุบัน

เพชรให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งในนิตยสาร OOM (ฉบับที่ 13/เดือนมีนาคม 2550) ว่า
“ตอนที่ออกเทปชุดแรก เราอาจไม่ได้สัมผัสกับแฟนเพลงที่แท้จริง...
แต่สิบปีต่อมา เราเพิ่งได้เจอแฟนเพลงตัวจริงที่เป็นศิลปินด้วยกันเอง...
ซึ่งมันมีค่ามาก เพราะสำหรับผม จำนวนคนที่ชอบไม่ได้สำคัญ
อาจจะสิบคนก็ได้ ไม่ต้องเป็นหมื่นเป็นแสน มันอยู่ที่เค้าเข้าใจแค่ไหน
และคือใครมากกว่า”

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.petcho.com (มีมิวสิกวิดีโอให้ดูด้วยนะ!!)

{lyric}
ตื่นเถอะ

เช้าแล้ว รีบตื่นกันแต่เช้า อย่าสาย วันใหม่ใช่วันเก่า
เอ้ามาพวกเรารีบตื่นกันให้ทันดวงตะวันวันใหม่ที่แสนจะโรแมนติก
เช้าแล้ว รีบตื่นกันแต่เช้า ตื่นสายอายชาวบ้านเปล่าๆ
ถ้าเราตื่นเร็วกันทุกวัน ร่างกายก็จะจำ ตื่นเองออโตเมติก

ตื่นเช้า มาสดใส เคลื่อนไหวให้ทันการ
อาบน้ำ แล้วรีบบริหารกายไขลาน
ทานข้าว แล้วอ่าน-ฟังข่าวคราวโลกเพื่อทันการ
ตื่นเถอะ อย่าตื่นสาย

เช้าแล้ว รีบไปทำงานแต่เช้า ขืนสาย นายจะมองหน้าเอา
แล้วหาว่าเรานั้นเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นของธุรกิจ
เช้าแล้ว รีบตื่นกันแต่เช้า แม่ค้า ยังตื่นหาบของไม่เบา
มาสิพวกเราต้องขยันตื่นกันเพราะเราเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ

ตื่นเช้า มาสดใส เคลื่อนไหวให้ทันการ
เตรียมพร้อมไปศึกษา เตรียมพร้อมไปทำงาน
เก็บหมอน ม้วนเสื่อ อย่านอนฝันข้ามคืนวัน

ตื่นเถอะ อย่าตื่นสาย ตื่นเถอะ

{essay}
ตื่นเถอะ

สัตว์ส่วนใหญ่ในโลกนี้ตื่นเช้า เพราะนาฬิกาของมันคือพระอาทิตย์
ต่างจากคน-ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ
ที่เราต้องใช้ ‘อุปกรณ์’ เพื่อบอกเวลา
ในขณะที่ทุกสิ่งอย่างก็ดำเนินไปตามธรรมชาติของเวลาอยู่แล้ว
เราจะบอกสิ่งที่มีอยู่แล้วไปทำไมกัน
.........

ถ้าให้เลือกระหว่างอาหารเย็นกับอาหารเช้า
ระหว่างดินเนอร์ใต้แสงเทียนที่มีไวโอลินคลอเคลียอยู่เคียงข้าง
กับชุดอาหารเช้าแบบอเมริกันอุ่นๆ กาแฟร้อนๆ น้ำส้มสด
พร้อมขี้ตากรังในบางครั้ง ผมเลือกอย่างหลัง
ไม่ใช่เพราะหลงไข่ไส้กรอกแฮมเบคอนหรือกาแฟหอมกรุ่น
แต่เพราะบรรยากาศ

ผมอาจคิดไปเองว่าตอนเช้าเป็นชีวิตที่ ‘จริง’ กว่า-ในโลกทุกวันนี้
เราแต่งตัวให้กลางคืนจัดเกินไปหน่อยไหม

ตลอดหนึ่งปีกับอีกราวสองเดือนที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่
ในฐานะผู้อาศัย, ผมได้ฟังว่าคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย
มีช่วงเวลาการนอนที่ผมไม่คุ้นเคย พวกเขาเข้านอนตีสาม ตีสี่
บ้างเลยเถิดไปถึงตีห้าหรือหกโมงเช้า อันมีสาเหตุมาจากการดื่ม เที่ยว
สังสรรค์ คุยโทรศัพท์ แช็ท เล่นเกมส์ อ่านการ์ตูน และ/หรือ อื่นๆ ที่ผมไม่ทราบ

ช่างเถอะ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะทำอะไรและกำลังทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร
เพราะผมไม่ได้มีความสนใจจะจัดระเบียบอะไรทั้งสิ้น
คนไม่ใช่ปลากระป๋อง-จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องยึด
ประพฤติ และวางตนให้เป็นแถวแนวเข้าระบบระเบียบเรียบร้อยขนาดนั้น

มนุษย์เรามีความแตกต่างหลากหลาย
และที่สำคัญ, เราไม่ใช่ผลิตของโรงงาน และ/หรือรัฐบาล

ตามกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย
จำนวนเวลาที่พักผ่อนจำเป็นต้องสมดุลย์กับจำนวนเวลาที่ใช้จ่ายไปในระหว่างวัน
นั่นก็หมายความว่า ถ้าคุณนอนตีห้า ก็เป็นไปได้มาก
ที่คุณจะตื่นบ่ายสองหรือบ่ายสาม และพลาดเวลาเช้า

หลายคนชอบกลางคืน ผมเองก็ชอบกลางคืน
แต่เป็นคนละความหมายของความชอบเวลาเช้า
สำหรับผม, กลางคืนเป็นเวลาทบทวน ตรึกตรอง
และเป็นเวลาที่ใกล้ชิดกับความตายมากกว่าเวลาอื่น
ความสนุกสนานตอนกลางคืนล้วนจบลงที่ความสงบเงียบเชียบของยามดึกเสมอ

ในขณะที่ตอนเช้าเป็นช่วงเวลาเริ่มต้น และใกล้ชิดกับการมีชีวิต
เป็นความสดชื่นแบบเดียวกับที่กระโจนตัวเองลงไปในสระน้ำ
และเป็นความใหม่
ทั้งอุณหภูมิ อากาศ บรรยากาศ และมวลสารของคนรอบข้าง
ที่คล้ายกับว่าเพิ่ง ‘ตื่น’ ขึ้นมาพร้อมๆ กัน
และนี่เองอาจเป็นหัวใจสำคัญในการ ‘ค้นพบ’ สิ่งเหล่านี้

การตื่น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานฉบับพ.ศ.2542
ให้ความหมายของคำ ‘ตื่น’ ว่า ฟื้นจากหลับ เช่นตื่นนอน;
แสดงอาการผิดปกติเพราะตกใจ ดีใจ หรือแปลกใจ เช่น ตื่นเวที ตื่นไฟ;
รู้สิ่งทั้งหลายในความเป็นจริง ในคำว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตื่นแล้ว;
โดยปริยายหมายความว่า รู้เท่าทัน รู้ตัวขึ้น

ในบรรดาความหมายทั้งหมด นอกเหนือจาก ‘ฟื้นจากหลับ’
ผมชื่นชอบความหมายนี้เป็นพิเศษ-รู้สิ่งทั้งหลายในความเป็นจริง
ซึ่งก็คือ ‘รู้เท่าทัน’ ในบรรดาความหมายทั้งหมดของชีวิต
แน่นอน, ความทุกข์น่าจะครองใจเป็นอันดับหนึ่ง
ส่วนความสุขนั้น ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว มาๆ หายๆ คล้ายผดผื่น

อย่าถามเลยว่าจะมีความสุขตลอดไปได้อย่างไร-เพราะผมไม่ทราบคำตอบหรอก

ในหนังสือ ‘ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ’ (The Miracle of Being Awake)*
ที่เขียนโดยพระชาวเวียดนาม ชื่อ ติช นัท ฮันห์
(ท่านเพิ่งมาแสดงปาฐกถาที่เชียงใหม่นานนี้เอง) บอกว่า
“จงจำไว้ว่ามีเวลาที่สำคัญที่สุดเวลาเดียว คือ ‘ปัจจุบัน’
ช่วงขณะปัจจุบันเท่านั้น ที่เป็นเวลาที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
บุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือคนที่เรากำลังติดต่ออยู่ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา
เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะมีโอกาสได้ติดต่อกับใครอีกหรือไม่
และภาระกิจที่สำคัญที่สุดก็คือการทำให้คนที่อยู่กับเราขณะนั้นๆ มีความสุข
เพราะนั่นเป็นภารกิจอย่างเดียวของชีวิต”

เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา และหนังสือยังกำกับไว้ด้วยว่า
เครื่องมือที่จะทำให้เราสามารถอยู่กับปัจจุบันได้นั้น
คือต้องมีสติ-วิธีง่ายๆ ที่ทำยากที่สุดในโลก

ในบท ‘ล้างจานเพื่อล้างจาน’ ของหนังสือเล่มเดิม
ผู้เขียนเล่าถึงเพื่อนคนหนึ่ง ที่ทำงานอยู่กับกลุ่มคาทอลิกสัมพันธ์
(Chatholic Peace Fellowship) เขาเผาหมายเกณฑ์ทหาร
เพื่อเป็นการต่อต้านสงครามเวียดนาม ผลคือต้องติดคุกปีกว่า
เนื่องจากชายผู้นี้เป็นคนกระตือรือร้นและอุทิศตนต่องาน
ผู้เขียนเกรงว่าเขาจะเผชิญกับกำแพงสี่ด้านของคุกไม่ไหว
จึงเขียนจดหมายสั้นๆ ถึงเขา
ให้ระลึกถึงกลีบส้มที่เคยแบ่งกันกินว่า
“การอยู่ในคุกของเธอก็เหมือนกลีบส้มนั้น กินมัน
และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมัน
วันพรุ่งนี้ มันก็จะไม่มีอีกแล้ว”

สามปีถัดมา ผู้เขียนผู้เขียนได้รับข้อความขอบคุณ
สำหรับจดหมายสั้นๆ ฉบับนั้น
เพราะมันทำให้เขาได้พบความสงบและวิธีที่จะอยู่อย่างแจ่มใสในคุก
และใช้ช่วงเวลาในคุกให้มีประโยชน์กับตัวเขา

แม้ผมจะไม่สันทัดเรื่องการทำให้คนด้วยมีความสุข
หรือการที่จำต้องกระเด็นเข้าไปนอนซุกอยู่ในคุก
แต่ผมก็คล้อยตามว่า จดหมายฉบับนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการค้นพบของเขา

เพราะมันช่วยปลุกให้เขามองปัจจุบันที่เป็นอยู่ด้วยสายตาใหม่
อย่างถึงที่สุด, ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน
การตื่นจึงเป็น ‘กุญแจ’ สำคัญสู่การ ‘ค้นพบ’ สิ่งที่มีและเป็นอยู่
และนั่นอาจหมายถึง ความสุข

ตื่นเถอะ!

*จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง แปลโดย พระประชา ปสนนธมโม

Thursday, August 9, 2007

FALL ON DEAF EARS: AUGUST 2007


จดหมายเดือนนี้ เชิญอ่าน
เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่าสนุกสนานกับการ 'หาเพลง' อย่างมาก
เหลือเชื่อว่านอกเหนือจากเพลงฮิตๆ สมัยยังเล็ก
ยุค 80s ยังมีเพลงดีๆ ซ่อนอยู่จำนวนมาก
ว่างๆ มาฟังกันนะ
(ตื่นเต้นแล้วล่ะ!)



เชียงใหม่ช่วงนี้ฝนตกเกือบทุกวัน
จะจัดงานกันทีต้องลุ้นตัวโก่งก็หวังว่าจะราบรื่น
(นี่คอมฯ ก็เพิ่งโดนไวรัสมาทางเอ็มฯ จึงขอเตือนทุกท่านให้โปรดระวัง!)

เดือนนี้พิเศษหน่อย เพราะจัดเป็นงาน tribute
ให้กับอัลบั้มแรกของพี่เพชร 'ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา'
อันออกสู่สายตาประชาชีเมื่อเดือนกันยายน ปีพ.ศ.2530
ก็เป็นอันว่าถ้านับถึงเดือนสิงหานี้ จะครบยี่สิบปีพอดิบพอดี

ใครที่เกิดทัน คงไม่ต้องอธิบายความ 'คลาสสิค' ของอัลบั้มนี้ให้มากความ
เพราะว่าที่ประเทศเรา ก็คงมีไม่กี่อัลบั้มเท่านั้น
ที่สามารถเดินทางผ่านกาลเวลามาอย่างมั่นคง
เปิดฟังเมื่อไหร่ ก็ยังไพเราะตลอด

ใครที่เกิดไม่ทัน คิดว่าคงต้องเคยได้ยินเพลง...ไม่ใช่ผู้วิเศษ
ซึ่งอันที่จริงชื่อเต็มๆ คือ-เพียงชายคนนี้(ไม่ใช่ผู้วิเศษ)
วันหนึ่งเรานั่งคุยกับเพื่อนฝรั่ง เล่าให้ฟังถึงปาร์ตี้คราวที่กำลังจะถึงนี้
เพื่อนถามว่า พี่เพชรเป็นใคร แล้วอัลบั้มนี้เป็นยังไง ทำไมต้อง tribute
ก็เลยอธิบายให้ฟัง แถมท้ากันเล่นๆ ว่า ถ้าเดินออกไปที่ถนน
แล้วเจอวัยรุ่นสักคน ให้ฮัมเพลง ไม่ใช่ผู้วิเศษ
ถ้าวัยรุ่นคนนั้นไม่เคยได้ยินเพลงนี้มาก่อนเลยในชีวิต
เราให้เตะก้นหนึ่งที

น่าเสียดายที่ไม่ได้ลองทำ แต่ยังไงเราก็มั่นใจ
(ว่าแต่ เราโปรดอีกเพลงนึง...)

ที่จริงงาน tribute ก็เป็นกิจวัตรทั่วๆ ไปในโลกศิลปะบันเทิง
อันหมายถึงการแสดงความระลึกถึง
แน่นอน, ด้วยความยกย่องและนับถือในความสามารถ
และอุตสาหะของศิลปินคนนั้นๆ
ที่ได้ทำผลงาน 'ดีมาก' ออกมาให้เราชื่นชม
(ล่าสุดก็เพิ่งเห็นว่ามี อัลบั้ม OKX
ซึ่งก็คืออัลบั้มที่ทำขึ้นเพื่อ tribute ให้กับอัลบั้ม OK Computer
ของ Radiohead)

และไหนๆ ก็จะร่วมกันย้อนยุคแล้ว
ก็เลยคิดให้ให้งานเดือนนี้กลายเป็นงานสำหรับเพลง 80s ซะเลย
เพราะเป็นช่วงปีที่อัลบั้มนี้ออกมาพอดี
และช่วงนั้น ก็เป็นช่วงที่ดนตรีของโลกกำลังเบ่งบาน
แถมโดยส่วนตัว ก็คิดถึงเพลงในช่วงวัยขณะนั้นเหมือนกัน

คิดถึง Kool&The Gang, Duran Duran, Culture Club,
Spandau Ballet, New Order, Wham!, Billy Joel, Genesis,
Tears for Fears, The Cure, Beastie Boys, Pet Shop Boys,
Nik Kershaw, Queen, The Buggles, Madonna, Cyndi Lauper,
Bananarama, Robert Palmer, Rick Astley
และ พี่ไมค์ Michael Jackson สมัยรุ่งๆ
แล้วไหนจะ ปานศักดิ์, นุภาพ, มัม ฯลฯ

สนุกดี ช่วงนี้เลยต้องรื้อฟื้นความทรงจำกันยกใหญ่
มีหลายคนหลายวงหลงลืมไปก็ต้องขอขอบคุณพี่ๆ เพื่อน
และน้องๆ ทุกท่าน ที่ช่วยกันรื้อฟื้นความจำคนละไม้คนละมือ
กว่าจะถึงวันงาน ก็คงเตรียมเพลงได้จนหนำใจ
ฟังไปก็อดนึกโน่นนึกนี่ไปด้วยไม่ได้

การได้กลับมาฟังเพลงเก่าๆ มันดีอย่างนี้เอง

อีกเรื่อง พอคนรู้ว่าจะจัดงาน tribute ที่เป็น 80s
ก็ดูจะสนุกสนานกับการแต่งตัวกันเป็นพิเศษ
เห็นร่ำๆ ว่าจะไปขอยืมชุดแม่มาใส่ พี่คนหนึ่งออกความคิดว่า
ทำไมไม่ชวนแม่มาเที่ยวด้วยกันเสียเลย

เราก็ว่าดีนะ ชวนพ่อๆ แม่ๆ มาเที่ยวด้วยกันสักครั้งพ่อแม่โต๊ะนึง
ลูกอีกโต๊ะนึง น่ารักดี
คราวนี้ไม่ต้อง 'ลาย' ก็ได้นะ...อนุโลม
หรือถ้าจะ 80s แบบลาย ก็จะน่ารักมาก ^^

เอาล่ะ สรุปว่า งานเดือนนี้จะจัดวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2550
ที่ร้านขันอาษา เชียงใหม่
19.00 ฉายหนังเหมือนเดิม
คราวนี้เป็นดีวีดีที่รวบรวมเอามิวสิควิดีโอสมัยนั้นมาอยู่รวมกัน น่ารักดี
20.00 จะเริ่มเปิดเพลงจากอัลบั้มธรรมดาฯ บางส่วน
21.00 เริ่มบรรเลงเพลงจากอัลบั้ม ธรรมดาฯ จนครบทุกเพลง
ร่วมไปกับเพลงอื่นๆ จากยุค 80s ล้วนๆ ไม่มีปน

ข่าวดี
1 ได้ติดต่อเรื่องลิขสิทธิ์จากฝ่ายลิขสิทธิ์ของทางบริษัทแกรมมี่
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2 ภายในงานจะได้ชม มิวสิควิดีโอ จากอัลบั้มธรรมดาฯ ถึง 4 เพลงด้วยกัน
(ติดต่อกับทางทีมงานพี่เพชรไว้แล้ว)
3 ช่วงวันที่ 11 เป็นวันหยุดยาว ใครว่างๆ และไม่รู้จะไปไหน
ก็ขอเชิญจัดตารางทัวร์เชียงใหม่กันเน้อ
และ
4 งานเดือนนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ที่พี่เพชรจะมาเชียงใหม่
ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
ฉะนั้น ขอเชิญชาวเชียงใหม่โปรดติดตามอย่างใกล้ชิด

สโกแกนวันนี้ฟังเพลงดีแต่เด็ก ชีวิตจะดี(555)
ขอบคุณ M MAX ที่สนับสนุนครับ

Tuesday, August 7, 2007

สิงห์สนามหลวง


วันก่อนนั่งรื้อไฟล์ในเครื่อง
เพราะต้องหารูปถ่ายที่เคยไปเที่ยวให้ GM
แต่หาไม่เจอ กลายว่าเจอไฟล์งานเก่าๆ ที่เคยทำไว้
เลยกะว่าจะเอามาแปะที่นี่ แทนที่จะเก็บทิ้งคาไว้ในเครื่อง

ชิ้นนี้เขียนให้ GM ขออภัยที่จำฉบับไม่ได้
(เดี๋ยวจะหามาให้) แต่จำได้ว่า เป็นฉบับครบรอบ 20 ปีของ GM
ที่รวบรวมสัมภาษณ์คนที่เป็น KEY MAN ในสาขาต่างๆ

เราได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์พี่สุชาติ เรื่องวัฒนธรรมการอ่าน
ในช่วงที่งาน 'สัปดาห์หนังสือ' ประเภทลดแลกแจกแถม
กำลังฟูฟ่องในบ้านเรา

ลองอ่านดูละกันนะ

ขอบคุณ พี่หนุ่ม-โตมร และ GM ครับ



‘สิงห์สนามหลวง’ สนทนา:
วัฒนธรรมหนังสือและวัฒนธรรมการอ่าน

วชิรา

“ภาพรวมของบ้านเราตอนนี้เห็นชัดเจนว่ามันเป็นทุนนิยมเต็มขั้น
และอยู่ในกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสิบปีที่แล้ว
มันก็มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์นั่นแหละ”
สุชาติ สวัสดิ์ศรี แสดงทรรศนะต่อบ้านเมืองของเรา
ในรอบสิบปีที่ผ่านมา

“แต่ถ้าเทียบกับเมื่อยี่สิบปีก่อน มันยังเห็นไม่ชัดนัก”
อดีตบรรณาธิการเครางามแห่งสังคมศาสตร์ปริทัศน์
และ ช่อการะเกด เสริมท้ายให้เข้าประเด็น ’20 ปี GM’

“อย่างน้อยที่สุดเรื่องโลกาภิวัตน์ยังไม่เข้ามามีบทบาท
ส่วนใหญ่ยังอยู่ในการต่อสู้ของสงครามอุดมการณ์
เป็นซ้าย เป็นขวา เป็นสังคมนิยม เป็นเสรีประชาธิปไตย
ในบรรยากาศของยุคสงครามเย็น
ต่างฝ่ายต่างก็มีอุดมการณ์ของตัวเอง
แต่หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย สงครามเย็นจบสิ้น
แมวทุกสีก็เซ็งลี้ได้เหมือนกันหมด”

โลกาภิวัตน์-คำใหม่เมื่อสิบปีก่อน
ซึ่งถ้าความทรงจำไม่เลอะเลือนเกินไป
คำนี้น่าจะร่วมยุคสมัยเดียวกับ ‘อัศวินแห่งคลื่นลูกที่สาม’
ล่าสุด ‘สิงห์สนามหลวง’ ของพี่ๆ น้องๆ
และผู้อ่านในแวดวงวรรณกรรมเพิ่งเสนอแนวคิดเรื่อง
‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ในวันที่แมวทุกสีล้วนเซ็งลี้กันถ้วนทั่ว!
ผ่านหน้ากระดาษของ เนชั่นสุดสัปดาห์

“แต่วันนี้เราไม่คุยเรื่องการเมืองใช่ไหม?”
เจ้าของบ้านต้นไม้ร่มครึ้มแห่งทุ่งสีกันดักคอขณะทักทาย
.........

ถ้าภาพรวมของบ้านเราตอนนี้เป็นจริงอย่างที่
เอนไซโคปีเดียเคลื่อนที่วัย 61 ของวงการวรรณกรรมว่าไว้
สภาวะ ‘ทุนนิยมเต็มขั้น’ ก็น่าจะลุกลามไปทั่วหัวระแหง
ไม่จำกัดเฉพาะแวดวงใดแวดวงหนึ่ง
ไม่เว้นแม้แต่แวดวงหนังสือ

“ทุนนิยมทำให้วงการหนังสือปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก
ก็เห็นชัดว่าอย่างน้อยที่สุด พอคุณลงทุนคุณก็ต้องการได้กำไร
ผิดจากเมื่อ 30 หรือ 50 ปีก่อน หรือแม้แต่ในช่วงสมัย
ของ ‘กลุ่มสุภาพบุรุษ’ (โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์)
ในยุคนั้น การเกิดขึ้นของหนังสือ
มันเกิดขึ้นเพราะคนมีอุดมคติเข้ามาทำงาน
พูดง่ายๆ ก็คือว่าผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
หรือผู้ที่เป็นเจ้าของหนังสือ
ส่วนใหญ่แล้วมากกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์จะเป็นนักเขียน
นักหนังสือพิมพ์” สุชาติเท้าความ

“มันมาเปลี่ยนแปลงช่วงแรกๆ
ตั้งแต่เริ่มยุค ‘งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข’
ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์)
ที่ทุนนิยมเริ่มเข้ามาอย่างเป็นระบบมากขึ้น
เริ่มมีการกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์
นักเขียนที่มีอุดมคติเข้าคุกไปบางส่วน
ทำให้เกิดหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่งานเขียนอีกรูปแบบหนึ่ง
เป็นงานเขียนประเภทชีวิตครอบครัว ชีวิตพาฝัน
เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า ‘นิยายน้ำเน่า’
ในลักษณะของการที่ไม่ต้องสนใจเรื่องราวทางอุดมคติ
ทางสังคม ทางการเมือง แต่สนใจรสนิยมมวลชนมากกว่า
เจ้าของปัจจัยการผลิตก็คือคนที่เข้ามาลงทุน
ใช้วิธีจ้างคนมาเป็นบรรณาธิการ
จ้างคนมาเป็นนักเขียนประจำ สิ่งที่เริ่มเห็นชัดเจน
ว่ามีการแบ่งงานกันทำก็ในช่วงตั้งแต่หลังพ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
เจ้าของปัจจัยการผลิตกับคนที่เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์
เริ่มเป็นคนละพวกกัน

“เพราะฉะนั้น เขาก็จะดูแค่ว่าทำยังไงให้ขายได้”
สิงห์ฯ เรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ในภาพรวมว่า
‘มันเกิดอาการพันธุ์ใหม่’-สำนักพิมพ์พันธุ์ใหม่
หนังสือพิมพ์พันธุ์ใหม่ บรรณาธิการพันธุ์ใหม่
และนักเขียนพันธุ์ใหม่
คือมีลักษณะที่มองเห็นว่าการทำธุรกิจหนังสือเหมือนเป็นการทำสินค้า
และเป็นที่มาของบรรณาธิการประเภท CEO
คือคนไหนดังก็ไปหาคนนั้น

ฟังดูโหดร้าย หดหู่ และสิ้นหวังชะมัด

“ที่จริงก็ไม่เสียหายอะไรหรอก ในต่างประเทศมันก็มี
แต่บังเอิญโชคไม่ดีที่ ‘พื้นที่ทางปัญญา’ ของบ้านเรา
ในลักษณะที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับ ‘วัฒนธรรมทางด้านการอ่าน’
ความหลากหลายของงานเขียนเชิงคุณภาพ มันไม่ค่อยมี”

ความหลากหลาย ดูราวจะเป็นกุญแจสำหรับทุกสิ่งในตอนนี้
“วัฒนธรรมการอ่าน กับ วัฒนธรรมหนังสือ มันคนละเรื่องกันนะ
เรามีแท่นพิมพ์มาตั้งแต่สมัยหมอบรัดเลย์ เมื่อ 130 ปีที่แล้ว
จนเดี๋ยวนี้ก็ต้องถือว่าวงการหนังสือเบิกบานไม่ใช่น้อย
มีปริมาณหนังสือมากขึ้น ส่วนวัฒนธรรมการอ่าน
มันจะเกิดขึ้นหลังจากที่คุณมีค่านิยม
มีการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ระบบมหาวิทยาลัย
เป็นขั้นเป็นตอน อะไรก็ตามที่จะสร้างความเข้มแข็ง
ในการอ่านตามวุฒิภาวะของคุณ

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าหากวัฒนธรรมการอ่านของเราเข้มแข็งนะ
เด็กชั้นเตรียมอุดมฯ นี่ต้องได้อ่านหนังสือของนักเขียนอย่าง
หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง หรือ มาลัย ชูพินิจ กันแล้ว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการอ่านของเรามันไม่เข้มแข็ง ไม่หลากหลาย
วัฒนธรรมการอ่านของเรามันดูเหมือนมีข้อจำกัด”
ท้ายเสียงของสิงห์ฯ ดูอ่อนเบา เพราะสำหรับเขา,
ข้อจำกัดที่ว่าคือ-ปรัชญาทางการศึกษา

“ระบบการเรียนการสอนและปรัชญาการศึกษาของเราที่ผ่านมา
ในช่วงรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยมันล้มเหลว เอาง่ายๆ เช่น
ค่านิยมเรื่องภาษาไทย ผมอ่านในบันทึกของ อบ ไชยวสุ (ฮิวเมอร์ริสต์)
แกบันทึกไว้ว่า ‘ใครก็ตามที่ตกวิชาภาษาไทยจะถูกปรับตกหมดทุกวิชา’
ในยุคของผมก็ยังเห็นอยู่เลยว่าภาษาไทยมีบทบาทมาก
ตอนนั้นผมเติบโตและอ่านหนังสือออกโดยหนังสืออ่านเล่น
แล้วค่อยๆ เขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการเลื่อนลำดับของชั้นเรียน
ผมไม่ดูถูกรสนิยมตลาดนะครับ มันเป็นรสนิยมที่สร้างตัวตน
สร้างค่านิยม ทำให้ตัวผมมีวัฒนธรรมการอ่าน
แต่ผมคิดว่ามันจะต้องเติบโตไปตามวุฒิการศึกษา
และทำให้เรามีรสนิยมการอ่านที่หลากหลายขึ้น

“คิดดูแล้วกัน หนังสือแนวสร้างสรรค์เมื่อพ.ศ. 2471-2472
หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงพิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม
ถ้าผมจำไม่ผิดนะ ขายหมดภายใน 6 เดือน
ตอนนั้นคนไทยมีประชากรก็คงประมาณ 8 ล้านคน
ต้องพิมพ์ซ้ำ คนสมัยก่อนมีการศึกษาขนาดไหน
ที่จะมาซื้อหนังสือประเภทนี้
แต่ปัจจุบัน หนังสือในลักษณะเชิงคุณภาพ
2,000-3,000 เล่มกลับยังมีปัญหา”

“พวกเขาจะอยู่รอดได้อย่างไรในระยะยาว
กับสังคมซึ่งไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนค่านิยม
ที่จะให้เห็นความสำคัญในเรื่องปัญญาสร้างสรรค์เชิงคุณภาพ”
สิงห์ฯ ทิ้งคำถามที่ไม่คลายความสงสัย

มองกลับไปอีกฟาก เราอาจเห็นการสนับสนุน
การส่งเสริมการอ่านผ่านสัปดาห์หนังสือปีละสองครั้ง
หรือกระทั่งการพยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองหนังสือ’

“เป็นเรื่องของการสร้างภาพประเภทหนึ่ง ฐานมันยังไม่แข็งแรงเลย”
ชายวัย 61 วิเคราะห์ “ที่จริงผมก็เห็นด้วยนะ มีเป้าหมายไว้
ไม่เสียหลายอะไร อย่างน้อยคงดีกว่าให้เป็นเมืองโสเภณี
ซึ่งถ้าสามารถสร้างความเข้มแข็งในระดับรากฐานการอ่านของคนได้จริง มันก็ดี
แต่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องเป็น ‘วาระแห่งชาติ’
ในลักษณะที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา
ไม่ใช่แค่การดำเนินการในระดับเอกชน

“ภาษาไทยเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมของเรา
ดังนั้นถ้าหากคุณให้ความสำคัญกับภาษาไทยอย่างเข้มแข็งแล้ว
มันจะก่อให้เกิดการอ่าน การเขียน
หรือการพิมพ์หนังสือในเชิงคุณภาพ
อย่างน้อยแม้ว่าจะไม่ทั้งหมด
แต่ผมเข้าใจว่ามันจะทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น”

ทางเลือก-ที่ฟังดูอาจจะมีช่องที่เหลือว่างเพียงน้อยนิด แต่ก็มี
และยังรอคอยการเลือกจากใครหลายคน

ภาพจาก http://www.sarakadee.com/feature/2002/07/images/art_01.jpg