Thursday, January 22, 2009

RH AT FAT FEST CM


ขอเชิญไปเลือกจับจ่ายใช้สอย RabbitBag ตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงลายใหม่ๆ รวมถึงงานเครื่องประดับของไอ้เกี๊ยง เสื้อยืดลายการ์ตูนของ ตั้ม (วิศุทธิ์) ซีดี No Signal 2.2 (มีเพลงของวงดนตรีน้องใหม่ Migrate to the Ocean ด้วยนะ) และอื่นๆ อีกมาก ตามแต่เพื่อนๆ จะฝากมาขาย

ในบูธยังแจก ไม้ขีดใจหาย และ แผนที่ต้นไม้ จากโครงการใจหายด้วยนะครับ

แล้วพบกันที่บูธ A68 ใกล้ๆ กับ Happening และเวที 2
^^

โพรง (9): ใครต้องการถนน


พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับธันวาคม 2551

โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา
www.rabbithood.net

ใครต้องการถนน?

ช่วงเดือนที่ผ่านมา เกือบทั่วหัวระแหงในตัวเมืองเชียงใหม่ อุดมไปด้วยป้ายผ้านานาชนิด แน่นอนว่าไม่ใช่แผนโฆษณาแนวใหม่เพื่อขายผ้าของร้านขายผ้าแต่อย่างใด แต่ป้ายผ้าเหล่านั้นเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารกับผู้คนที่ผ่านไปมา ข้อความบนผืนผ้าสื่อสารในเนื้อหาเดียวกัน คือ “พวกเราไม่ต้องการขยายถนน” (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็มีนะ-Say No to Road Expansion)

ผม (ขับรถบ้าง +ขี่จักรยานบ้าง) ผ่านหลายๆ ป้ายเข้าก็เกิดความสงสัยว่า ‘พวกเรา’ นี่คือพวกไหน แล้วถนนที่พูดถึงกันอยู่เป็น ‘ของใคร’
.........

ผมเชื่อว่าหนุ่มสาวชาวกรุงฯ ทั้งหลายล้วนเคยผ่านสนามช้อปปิ้งที่ชื่อ สยามสแควร์ กันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย สยามสแควร์นั้นเป็นพื้นที่กว้างขวาง อุดมไปด้วยร้านรวงนานาชนิด ไหนจะมีโรงหนังขนาดใหญ่สามแห่งที่แสนจะคลาสสิค โรงเรียนกวดวิชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ร้านอาหารอร่อยๆ นับร้านไม่ถ้วน (ที่สำคัญมีร้านขายซีดีอิมพอร์ตที่ยังคงขายอยู่จนถึงวันนี้)

พื้นที่บริเวณสยามสแควร์นั้นยังไม่ตาย และดูแนวโน้มว่าจะอายุยืนกว่าพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร การปรับปรุง สยามเซ็นเตอร์ การเกิดขึ้นของ สยามพารากอน และ เซ็นทรัลเวิร์ด คงเป็นสัญญาณที่ช่วยยืนยัน

เอาล่ะ การจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง

สำหรับท่านที่ใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ คงรู้ดีกว่าการหาที่จอดรถในพื้นที่ของสยามสแควร์นั้นแสนสาหัสมาแต่ไหนแต่ไร ตรอกซอกซอยขนาดเล็กล้วนเต็มไปด้วยรถเก๋งที่จอดเรียงกันเป็นตับ ซ้อนแถวแล้วซ้อนแถวอีก

แต่แล้วจู่ๆ สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าของที่ตัดสินใจลดพื้นที่จอดรถตามซอย แล้วเพิ่มทางเดินเท้าให้กว้างขวางขึ้น!

เรื่องนี้ถ้ามองจากมุมคนที่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลัก ผมคงบ่นอุบว่าที่จอดรถก็หายากจะตายอยู่แล้ว ยังจะมาลดพื้นที่กันอีกทำไม (วะ) แต่บังเอิญผมโชคดีที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมล้อ (และแหนบ) การเพิ่มพื้นที่ทางเดินในสยามสแควร์นั้นจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แสนวิเศษ

จะมีอะไรทำให้รู้สึกดีกว่าการได้เห็นผู้คนแต่งตัวสวยงามเดินช้อปปิ้งบนทางเดินกว้างๆ อีกละครับ

ผมไม่ทราบจริงๆ ว่านั่นเป็นการตัดสินใจของใคร และเดาใจไม่ได้ด้วยว่าทำไปด้วยเหตุผลอะไร แต่คิดเอาเองว่าการเพิ่มพื้นที่ทางเดินเท้าในสยามสแควร์นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สยามสแควร์ยังมีชีวิตอยู่ แถมไม่ได้มีชีวิตอย่างง่อยเปลี้ย แต่กลับคึกคึกแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า ร้านรวงต่างๆ ผุดแล้วผุดอีก ผู้คนมากหน้าหลายวัยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

ยังไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ ลองหาโอกาสไปเดินเล่นดูเองสักครั้งเถอะครับ

ส่วนปัญหาเรื่องการจราจรนั้นก็แก้ด้วยการเอารถไปจอดบนตึก หรือใช้บริการระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า (ซึ่งสยามสแควร์ก็ถูกกำหนดให้เป็นสถานีหลัก) สวนทางโดยสิ้นเชิงกับความเจริญในความหมายของประเทศเรา ที่มักให้ความสำคัญกับ ถนน เป็นหลัก

สงสัย ปูน ทราย มันอร่อย-ใครบางคนตั้งข้อสังเกต

ผมเคยถามพี่ๆ ที่ทำงานกับภาครัฐว่าทำไมภาครัฐของเราคิดแบบนั้นไม่ได้บ้าง เวลามีแผนการจะขยายความเจริญของเมืองทีไร ทำไมต้องขยายถนนก่อนทุกที พี่ผู้อารีย์ท่านหนึ่งช่วยไขข้อข้องใจให้ว่า “ก็นั่นมันเป็นที่ของจุฬาฯ เขาก็เลยทำได้”

ผมฟังแล้วก็ยังสงสัยอยู่ดี มีอะไรที่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ตรงไหน

แวะกลับมาที่เชียงใหม่ เมืองที่หลายคนเชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรม เป็นเมืองมรดกเก่าแก่ที่เราต้องการรักษาเอาไว้ ทั้งยังเป็นเมืองที่เจริญรุดหน้าไม่แพ้เมืองใหญ่ที่ไหนในประเทศ
ยิ่งผนวกเข้ากับวิสัยทัศน์จำพวกที่อยากให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางศิลปะ อยากให้มีบรรยากาศของช่างฝีมือ ศิลปิน และประชาชน คลุกคลีตีโมงอยู่ร่วมกัน กับอีกวิสัยทัศน์จำพวกที่อยากเห็นเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ อะไรต่างๆ นานา

บวกลบคูณหารกันแล้ว ไหงได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นการขยายถนนล่ะครับ
อืม...วิสัยทัศน์ของผมคงคับแคบเกินไป

การตัดถนนไม่ใช่เรื่องเสียหายหรอกครับ คุณูปการของถนนที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตก็มีไม่น้อย แต่การเพิ่มเลนถนนในเมืองปริมาณรถเพิ่มขึ้นทุกวันอยู่แล้วเป็นความจำเป็นจริงหรือ ผมคิดเอาเองง่ายๆ ตามประสาชาวบ้านตาดำๆ ว่า ถ้าอยากให้เมืองมันเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางศิลปะและวัฒนธรรม ก็ยิ่งควรสร้างพื้นที่ให้คนได้เดิน เป็นพื้นที่สาธารณะให้คนได้ออกมาพบปะ แลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะในรูปการพูดคุย จับจ่ายใช้สอย หรือแม้กระทั่งแต่งตัวสวยงามออกมาประกวดประชันกัน

มันเป็นเรื่องระหว่างคนกับคน ไม่ใช่รถกับถนน

และเป็นเรื่องของระบบขนส่งมวลชนของคนทั้งเมือง ไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัวของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
รวมถึงเรื่องของสภาพอากาศที่ทุกวันนี้ก็ย่ำแย่เกินพออยู่แล้ว

การบริหารการใช้พื้นที่สำหรับคนหมู่มากนั้นไม่น่าจะใช่เรื่องง่าย เพราะขึ้นชื่อว่าคนหมู่มากก็คงประกอบไปด้วยความต้องการหลากหลาย ร้อยพ่อพันแม่นะครับ ไอ้ที่จะให้มาพยักหน้าเห็นพ้องต้องกันคงเป็นเรื่องลำบาก

แต่นั่นก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐไม่ใช่หรือ

ผมรู้สึกชื่นชมที่พลเมืองตาดำๆ แห่งประเทศเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งเฉย ป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านผืนแล้วผืนเล่าก็กำลังทำหน้าที่ของมันอย่างขะมักเขม้น มากกว่านั้น ผมยังมีโอกาสได้เห็นแผ่นพับตามร้านก๋วยเตี๋ยวที่อธิบายว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองของเรา รวมถึงการขอให้ร่วมลงชื่อเข้าคัดค้านเพื่อที่จะส่งต่อไปยังผู้มีอำนาจทั้งหลาย เผื่อจะสามารถสร้างความระคายเคืองต่อวิสัยทัศน์ของท่านๆ เหล่านั้นบ้าง

เพราะถ้าเวรคืนที่ ทุบตึกเก่าๆ สร้างถนนกว้างขวาง แล้วปรากฏว่าไม่สำเร็จตามเป้าหมาย จะเรียกร้องบรรยากาศของเมืองแบบเดิมให้กลับคืนมานั้นเห็นที่จะเกิดขึ้นลำบาก

หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

ทะลุหูขวา (20): artist: IAN CURTIS


พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับธันวาคม 2551

IAN CURTIS

Ian Kevin Curtis มีชีวิตอยู่ในช่วง เดือนกรกฎาคม 1956 ถึงพฤษภาคม 1980 สิริรวมอายุได้ 23 ปี เขาเป็นนักร้องและรับหน้าที่เขียนเนื้อร้องให้กับ Joy Division พวกเขาออกสตูดิโออัลบั้มมาได้สองชุด หลังจากการฆ่าตัวตายของ Curtis สมาชิกที่เหลือก็รวมตัวกันในนามวง New Order และปิดฉาก Joy Division ไปอย่างสมบูรณ์

หลังจากที่ Curtis เสียชีวิต นักวิจารณ์และแฟนเพลงต่างยังคงพูดถึงเพลงของเขา พยายามคุ้ยหาแรงขับดันที่ส่งผลไปสู่ตัวงาน ข่าวลือต่างๆ นานาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายสะพัดไปทั่ว และกลายเป็นตัวเร่งให้ผู้คนสนใจผลงานและปัญหาส่วนตัวของเขามากขึ้น

Ian Curtis เกิดที่ Old Trafford, Manchester ประเทศอังกฤษ (คอบอลน่าจะรู้จักดี) เขาสนใจบทกวีมาตั้งแต่เด็ก แม้จะเคยได้ทุนเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียน King’s School แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จทางด้านการเรียน จนเมื่อโตขึ้น ความสนใจในศิลปะ วรรณกรรม และดนตรีก็พวยพุ่ง โดยเฉพาะดนตรี เพลงของเขาได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากนักเขียน William Burrough, J.G.Ballard และ Jeseph Conrad (ได้แก่เพลง Interzone, Atrocity Exhibition และ Colony ตามลำดับ) ส่วนในสายดนตรี Curtis ก็นิยมชมชอบ David Bowie, Iggy Pop และ Jim Morrison แห่ง The Doors ซึ่งเป็นวงโปรดของเขา

Curtis แต่งงานกับ Deborah Woodruff เพื่อนร่วมโรงเรียน ตอนนั้นเขาอายุ 19 และ Deborah อายุ 18 สถานะการแต่งงานของทั้งคู่ดำรงอยู่จนถึงวาระสุดท้าย พวกเขามีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อ Natalie

ช่วงชีวิตที่อยู่กับ Joy Division เขาเป็นที่เลื่องลือในหมู่คนทั่วไปว่าเป็นคนเงียบและชอบมีพฤติกรรมแปลกๆ รวมถึงการเคลื่อนไหวบนเวทีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบที่ไม่มีใครเหมือน ท่าเต้นของเขาชวนให้นึกถึงอาการของคนเป็นโรคลมบ้าหมูที่เขาเป็นอยู่ หลายครั้งคนดูก็แยกไม่ออกว่านั่นเป็นการแสดงหรือเป็นท่าเต้นกันแน่ ซึ่งในหลายๆ การแสดง Curtis ก็ถูกหามออกไปจากเวทีเพราะอาการป่วยกำเริบจริงๆ

เนื้อเพลงของ Curtis พวยพุ่งไปด้วยจินตนาการและอารมณ์ความรู้สึกที่โดดเดี่ยว มีกลิ่นอายของความตาย ความแปลกแยก และความเน่าเฟะของสังคมเมือง ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเขียนถึง “วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ของคนแต่ละคนที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละคนเหล่านั้นอาจจะดัดแปลงหรือไม่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตัวเอง”

โดยปกติ Curtis เป็นคนพูดเสียงเล็ก แต่ร้องเพลงเสียงใหญ่ บางครั้งก็เล่นกีตาร์ในบางเพลง ในตอนแรกเขาใช้กีตาร์ Shergold Masquerader ของ Bernard Sumner แต่ต่อมาเขาก็มีกีตาร์ Vox Phamtom Special VI เป็นของตัวเอง ซึ่งภายหลัง Sumner ก็รับช่วงมรดกกีตาร์ตัวนี้ต่อมา และใช้บันทึกเสียงให้กับ New Order ในช่วงแรกๆ

Curtis แสดงสดครั้งสุดท้ายในวันที่ 2 พฤษภาคม 1980 ที่มหาวิทยาลัย Birmingham ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ Joy Division ได้เล่นเพลงใหม่ Ceremony ร่วมกัน (และต่อมาเพลงนี้ถูกนำมาเป็นซิงเกิ้ลแรกของ New Order) จนช่วงเวลาหนึ่งของเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม Curtis ตัดสินใจแขวนคอตายในครัว หลังจากที่นั่งดูหนังเรื่อง Stroszek ของ Werner Herzog (ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมัน) และฟังอัลบั้ม The Idiot ของ Iggy Pop

ป้ายหลุมศพของเขาที่สลักว่า “Ian Curtis 18-5-80” และ “Love Will Tear Us Apart” ถูกขโมยไปจากหลุมฟังศพของเขาในสุสาน Cheshire เมื่อเดือนกรกฎาคม 2008 ที่ผ่านมา

แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไร แต่ชีวิตของ Ian Curtis ก็ได้รับการระลึกถึงอยู่เสมอ ทั้งจากวงดนตรีอย่าง New Order (เพื่อนๆ ของเขาเอง) ในเพลง I.C.B. ซึ่งย่อมาจาก Ian Curtis Bereaved และเพลง Elegia, U2 (เพลง A Day Without Me), Orchestral Manoeuvres in the Dark (เพลง Statues), Psychic TV (เพลง I.C.Water), Thursday (เพลง Ian Curtis), Xie Xie (เพลง Ian Curtis Wish List) หรือกระทั่ง Robert Smith แห่ง The Cure ก็อุทิศเพลง Primary ให้กับ Curtis ด้วย

การระลึกถึงเขายังลามเลยไปถึงแวดวงศิลปะ เมื่อ Glenn Brown (ศิลปินชาวอังกฤษ) วาดภาพชื่อ Exercise One (1995) และ Dark Angel (2002) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเขาและ Chris Foss (นักวาดภาพประกอบและนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์) รวมไปถึงกำแพงบนถนน Wall Street ที่นิวซีแลนด์ที่ปรากฏคำว่า “Ian Curtis Lives” หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปไม่นาน ซึ่งไม่ว่าจะถูกลบไปเมื่อไหร่ ก็จะมีคนไปเขียนใหม่ทุกครั้ง จนขยับขยายไปที่อีกกำแพงบนถนนเดียวกันที่มีข้อความว่า “Ian Curtis R.I.P. Walk In Silence 1960-1981” ซึ่งต่อมากำแพงทั้งสองถูกเรียกว่า The Ian Curtis Wall (นี่ยังไม่รวมถึงแฟนๆ ปีศาจแดงที่ร้องเพลง “Giggs will tear you apart” โดยใช้ทำนองเดียวกับเพลง “Love will tear you apart” อีกด้วย)

ล่าสุดเมื่อปี 2007 ช่างภาพและผู้กำกับเอ็มวี Anton Corbijn กำกับภาพยนตร์ขาวดำเรื่อง Control ที่สร้างขึ้นจากหนังสือของ Deborah Curtis ชื่อ Touching from a Distance หนังสือเล่มนี้ถึงช่วงเวลาและรายละเอียดต่างๆ ในชีวิตของสามีเธอ

Thursday, January 15, 2009

BREATHLESS CLOSING PARTY + After FODE 21 2nd Anniversary


You are cordially invited to our Breathless Closing Party: WE ARE STILL THE DESTROYER! (Let's get Funky!)

Monday 19th January 2009
@ The Ring (nimman soi 17) Chiang Mai
from 8 PM till 11

Admission Free!
Free Bar: from 8 till 9!

..............................................................

สวัสดี
เดือนนี้ของด งานหู หนึ่งครั้งนะครับ เพราะว่ากำลังง่วนอยู่กับงานปิดโครงการ ใจหาย ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์นี้แล้ว!

ถ้าพอจำได้ งานหู ครบรอบสองปีเมื่อเดือนที่แล้ว (ที่เป็นดิสโก้) ก็จัดร่วมกับงานเปิดตัวโครงการ ใจหายนี่เอง นอกเหนือจากเพลงดิสโก้ย้อนยุคแล้ว ปาร์ตี้ครั้งนั้น (ชื่อ WE ARE THE DESTROYER) ก็ยังเป็นปาร์ตี้ที่เราคำนวณพลังงานที่ใช้ไปในหนึ่งคืน ใครสนใจเข้าไปดูบรรยากาศงานคร่าวๆ ได้ที่นี่นะ http://www.rabbithood.net/fode21/index.html

แล้วนี่ก็คือตัวเลขโดยประมาณของคืนนั้นครับ

จำนวนผู้ร่วมงาน 200 คน

เดินทางโดยรถยนต์ 114 คัน ระยะทางรวม 4104.7 km
เดินทางโดยจักรยานยนต์ 59 คัน ระยะทางรวม 1031.1 km

ทำให้เกิดก๊าซ CO2 = 1140.1476 kg

เดินทางโดยเครื่องบิน 3 คน ระยะทางรวม 2400 km
(แต่อันนี้คำนวณไม่ได้นะ เพราะว่าเครื่องบินใช้น้ำมันคนละแบบ)

เดินทางโดยจักรยาน 4 คัน
เดินทางโดยการเดินเท้า 11 คน

อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในงานปาร์ตี้ 40,000 w
1 ชั่วโมงใช้ไป 2,400,000 w ผลิต CO2 = 1286.4 kg
ใช้งานจริง 20.00 – 24.00 น. รวม 4 ชั่วโมง
ดังนั้นใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น 9,600,000w ทำให้เกิด CO2 = 5145.6 kg

ปริมาณพลาสติก ขวดแก้ว และลังกระดาษ

แก้วพลาสติก 400 ใบ
ขวดน้ำพลาสติก 36 ขวด

น้ำหนักมวลรวม 3 kg การผลิตทำให้เกิด CO2 = 0.003 kg

ขวดเบียร์ 360 ขวด

น้ำหนักมวลรวม 10.8 kg การผลิตทำให้เกิด CO2 = 0.0108 kg

ลังกระดาษ
น้ำหนักมวลรวม 3 kg การผลิตทำให้เกิด CO2 = 0.011 kg

ส่วนอันนี้คือตัวเลขการทำงานของต้นไม้

อัตราการดูดซับ CO2 ของไม้ยืนต้น

ไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับ CO2 ได้ 8 kg/ ปี
ไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับ CO2 ได้ 0.66 kg/ เดือน
ไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับ CO2 ได้ 0.022 kg/ วัน
ไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับ CO2 ได้ 0.00091 kg/ ชั่วโมง


จากตัวเลขนี้ ลองคำนวณกันเล่นๆ นะว่า จะต้องใช้ต้นไม้กี่ต้น ดูดซับ CO2 ของคืนนั้นเป็นเวลานานเท่าไหร่ -_-'

คราวนี้ก็ถึงเวลาปิดโครงการอย่างเป็นทางการ เราจะจัดปาร์ตี้อีกครั้งโดยพยายามลดปริมาณพลังงานที่ใช้ให้น้อยลง โดยทีมชุดเดิมจาก กลุ่มจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ส่วนช่างสุขาภิบาล สำนักการช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ และ Etaba is Majaros ส่วนจะน้อยลงจริงหรือไม่ ขอเชิญทุกๆ ท่านมารับเป็นสัขขีพยานด้วยกัน

ในงานปิด เราจะนำเสนอผลงานของโครงการใจหาย ทั้งหมดตลอดสามเดือนที่ผ่าน
และนำเสนองานชิ้นสุดท้าย คือแผนที่ต้นไม้ใหญ่ ในเชียงใหม่ ซึ่งจะส่งมอบให้กับเทศบาลเพื่อขอให้ช่วยออกกฏกติกาสำหรับควบคุมการตัดต้นไม้ใหญ่ในเมือง พร้อมๆ กับแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงานทุกท่าน

และที่สำคัญ งานนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ มร. ควินทัน เควลย์ เอกอัคราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มาร่วมฟังพรีเซ้นท์และเป็นประธานเปิดงานปิดโครงการนี้ด้วย (เขาบอกว่าท่านทูตฯ มาอย่างเป็นกันเอง ตอนแรกก็เกร็งเหมือนกัน)

เอาล่ะ ถ้าสนใจขอเชิญมาร่วมงานนะครับ ตั้งแต่สองทุ่มเป็นต้นไป จนถึงห้าทุ่มเท่านั้น (เห็นว่าเป็นคืนวันจันทร์ เดี๋ยวรุ่งขึ้นต้องตื่นเช้ากัน) ดนตรีคราวนี้เป็น Funky (เพราะว่าติดพันมาจากงานเปิดตัว Mood Mellow ของพี่มอ-ไทวิจิต เมื่อสองสัปดาห์ก่อน) แล้วก็รู้สึกว่ามันยังมีความเกี่ยวโยงกับดิสโก้อยู่ด้วย

อ้อ...แล้วก็...FREEEEE BAR และอาหารขบเคี้ยว สองทุ่มถึงสามทุ่มด้วยนะ! (หรือจนกว่าของจะหมด!)

ขอขอบคุณสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยที่สนับสนุนโครงการนี้ครับ

แล้วพบกันนะ
^^
วชิรา

RabbitHood
http://www.rabbithood.net/
http://www.beautifulbreathless.com/

Tuesday, January 6, 2009

A TRIP TO CHIANG DAO


หมดช่วงเวลาเฉลิมฉลอง ก็มีงานมาให้สนุกสนานกันต่อ ^^
งานนี้เป็นงานชิ้นที่ 5 ของโครงการใจหาย (http://www.beautifulbreathless.com/)
ชิ้นนี้เราจะพาคนจากในเมือง ไปศึกษาวิธีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านหัวทุ่ง อ.เชียงดาว บรรยากาศก็ง่ายๆ สบายๆ แต่ปลอดภัย มีรถบัสหนึ่งคัน (42 ที่นั่ง) เตรียมไว้สำหรับคนที่สนใจ 42 ท่านแรกเท่านั้น มื้อกลางวันชาวบ้านก็จะทำอาหารให้กิน แล้วก็พาไปดูวิถีชีวิตของเขา

วิธีการก็ง่ายๆ อีเมลมาแจ้งความต้องการ (ว่าอยากไปด้วยกัน) ที่ vajira@rabbithood.net
รบกวนทิ้งชื่อและเบอร์ติดต่อกลับไว้ให้ด้วยนะ แล้วเดี๋ยวทีมงานจะติดต่อกลับไปนัดแนะ

ไปเที่ยวกันนะ ชวนไปมากกว่าหนึ่งคนก็ได้ อยากให้มีโอกาสได้ไปสัมผัสชีวิตจริงๆ ของชาวบ้านกันบ้าง
และที่สำคัญ...เชียงดาวสวยมากจริงๆ
^^
หมายเหตุ
กลับมาจากทริปแล้ว ขอเชิญร่วมปาร์ตี้ปิดโครงการใจหาย
WE ARE still THE DESTROYER!
พร้อมเผยโฉมงานชิ้นสุดท้าย: แผนที่ต้นไม้ใหญ่
คืนวันจันทร์ที่ 19 มกราคม สองทุ่มเป็นต้นไป
สถานที่ โครงการ The Ring (นิมมานฯ ซอย 17)
Free Bar: สองทุ่มถึงสามทุ่ม!!

Friday, January 2, 2009

HNY 2009


สวัสดีปีใหม่นะ ขอบคุณทุกคนที่่ติดตาม
ขอบคุณที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ RH
ช่วงคืนปีใหม่มีโอกาสได้นั่งเงียบๆ
ทบทวนนี่นั่นโน่นที่ผ่านมา
ในช่วงเวลาที่เชียงใหม่กำลังคึกคักสุดขีด (และรถติดมาก)
มีหลายเรื่องอยากเปล่ียนแปลงในตัวเอง
โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ
ก็จะพยายามละกันนะ
ฝากชักชวนกันดูแลสุขภาพด้วยล่ะ

^^