Sunday, April 1, 2007
MO Shop: ช่องหน้าต่างนั้นมองเห็นก้อนเมฆ
ชิ้นนี้เขียนให้ IMAGE ในคอลัมน์ Deco ตามคำชักชวนของพี่หมี (เจ้าเก่า)
บอกแกไปว่าไม่เคยเขียนเรื่องทำนองตกแต่งมาก่อน แต่จะลองดู
ที่หน้าสารบัญของ IMAGE เขียนแนะนำไว้ว่า
บางคนชื่อ 'วชิรา' บอกว่า 'ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์' เป็น 'พระเจ้าของเข้าของ'
ด้วยความซุกซนหยิบโน่นผสมนี่อยู่เป็นนิจ ซึ่งเราคงเคยเห็นมาไม่น้อย
จากงานศิลปะสร้างสรรค์ของเขา
IMAGE DECO ขอนำเสนอ MO Shop ที่เป็นทั้งแกลลอรี่แสดงงานศิลปะ
ผนวกร้านจำหน่ายสินค้าและสถานที่เพื่อการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์
ย่านท่าแพ ใจกลางเมืองเชียงใหม่
หากยังไม่สบโอกาสไปเยือนด้วยตัวเอง ขอเชิญท่องไปกับสีสัน รายละเอียด
และความสดใหม่จากฝีมือการตกแต่งและจัดการของไทวิจิต-ด้วยภาพไปพลางก่อน
รูปที่เห็นอยู่ในรูปคือฝีมือของ อ้น-ชัยวัฒน์ กังสัมฤทธิ์ ช่างภาพของ IMAGE
ถ้าใครอยากเห็นเพิ่มเติม คงต้องรบกวนที่แผง
หรือจะย้อนดูโปสเตอร์/ใบปลิว กิจกรรมหูของเดือนมีนาก็ได้
รูปนั้นคือส่วนหนึ่งของผนัง MO Shop (ชั้นหนึ่งใกล้ๆ บันได)
หรือหาโอกาสแวะไปดูด้วยตัวเองก็ยิ่งดีใหญ่
ขอบคุณพี่หมี พี่มอ อ้น และน้องๆ ที่ MO Shop ด้วยครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร IMAGE ฉบับมีนาคม 2550
Image Deco
MO Shop: ช่องหน้าต่างนั้นมองเห็นก้อนเมฆ
วชิรา
'God is in the detail.'
ข้อความของสถาปนิกชาวเยอรมัน Mies van der Rohe (1886-1969)
เขียนด้วยลายมือบนผนัง เตะตาผมขณะเดินอยู่บนพื้นตะแกรงของชั้นสอง
อันที่จริงมันซุกตัวอยู่ด้านหลังของชั้นวางหนังสือรูปร่างหน้าตาคล้ายบอลลูนคำพูดในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น บนผนังเดียวกันมีบอลลูนชั้นหนังสืออีกสองสามอัน แต่ละอันล้วนมีข้อความซุกซ่อนอยู่
ลายมือขยุกขยิกนั้น เป็นของไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์-ศิลปินนักเล่นแร่แปรธาตุที่มีแฟนๆ จำนวนไม่น้อยเฝ้าติดตามผลงานของเขามาโดยตลอด ด้วยความสามารถในการผสมผสานความงามจากชิ้นส่วนวัสดุให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันได้อย่างไหลลื่น
กระถางต้นไม้ พรม ตู้ใส่ของ โคมไฟ กรอบใส่รูป เก้าอี้ และอื่นๆ อีกมาก ล้วนเคยเป็นหัวข้อในผลงานของเขา
ในบางขณะ ผมรู้สึกเองว่าไทวิจิตเหมือนเป็นพระเจ้าของข้าวของ ไม่ใช่ในความหมายที่ยิ่งใหญ่หรือจำต้องเคารพสักการะ แต่เป็นในมุมซุกซนของการหยิบโน่นผสมนี่ คละนั่นปนโน่น คล้ายสามารถเสกสร้างให้เศษวัสดุที่ไม่มีใครใส่ใจให้กลับฟื้นคืนชีวิตในความหมายใหม่
ถ้ามีพระเจ้าให้ค้นหาอยู่ในรายละเอียด
ก็น่าจะมีพระเจ้าองค์เดียวกันนั้นอยู่ในไทวิจิต
.........
หลังจากที่ทดลองนั่งเก้าอี้เล่นอยู่หลายตัว ผมตัดสินใจจ่อมตัวเองลงบนชุดรับแขกขนาดกะทัดรัดสีขาว พร้อมกาแฟอุ่นๆ ที่มีไว้ให้บริการคนที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม
นั่งมองผ่านผนังกระจกใสบานใหญ่ออกไปด้านนอกเห็นประตูวัดอุปคุตตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ฝั่งตรงข้าม ระหว่างเรามีรถราขวักไขว่ไหลมาจากสะพานนวรัตน์ พุ่งตัวอย่างรีบเร่งคล้ายกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปยังทิศทางเดียวกัน ตามกรอบบังคับกะเกณฑ์ของเส้นถนน
แม้ใครไม่สังเกตก็ต้องเห็น ตึกสูงสามชั้นสีเหลืองมะนาว (สด) ยืนลำดับไหล่อยู่ตรงกลางระหว่างสองตึกเก่าแก่ คนที่เหลียวหน้ากลับมามอง จะพบโลหะตัวอักษร M และ O ขนาดใหญ่ ดักสายตาอยู่ พร้อมคำเขียนภาษาอังกฤษติดผนังกำกับไว้ว่า Functional Objects
โลหะอักษร M และ O นั้นสีถลอกปอกเปิก
อันที่จริง MO Shop เป็นแขนงหนึ่งในโครงการ MO Hotel โรงแรมในความหมายกว้างๆ ของบูติกโฮเตลขนาด 12 ห้อง รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดพิสดาร
คล้ายกล่องสี่เหลี่ยมมน 12 กล่องวางซ้อนทับกันไปมา ออกแบบและตกแต่งภายในโดย
ไทวิจิต ตามหลักโหราศาสตร์ผสมผสานระหว่างไทยและจีน ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี
ไม่ต่างจากโรงแรมใหญ่ๆ ทั่วไป ที่มีร้านขายของไว้ให้บริการลูกค้าแต่ MO Shop กลับแสดงสถานะก้ำกึ่งกว่า เพราะนอกจากจะอยู่คนละที่กับตัวโรงแรม (ห่างกันราวห้านาทีเดิน) ยังถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงประสบการณ์-ตามนิยามของไทวิจิต ทั้งที่อยู่ในรูปวัสดุอุปกรณ์และผลงานต่างๆ ทั้งที่สร้างขึ้นและสะสมมายาวนาน
ที่สำคัญกว่านั้นคือพื้นที่นี้ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แต่เพียงลำพังประสบการณ์ของไทวิจิตคนเดียว มันยังถูกเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในแวดวง ‘ศิลปะ’ และ ‘ออกแบบ’ ที่เขานิยมชมชอบในผลงาน
ผมจำใจเขียนสองคำนั้นแยกกันเพื่อความสะดวกในการจัดหมวดหมู่ให้เข้าใจ แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองส่วนผสมผสาน กลมกลืน ขัดแย้ง ต่อสู้ และดำเนินไปด้วยกันใน MO Shop
ไม่ต่างกับบ้านหรือห้องที่ประกอบด้วยสิ่งของคละอย่าง
ใครที่ผ่านเข้าไปช่วงเวลานี้จึงมีโอกาสได้เห็นประสบการณ์ของคนทำงานศิลปะร่วมสมัยอย่าง อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, เกศ ชวนะลิขิกร, อภิชาติ จำปาทอง, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, ปราบดา หยุ่น ผ่านงานหล่อ ปั้น แกะ พิมพ์ วาด ของพวกเขา เคล้าไปกับเก้าอี้ โคมไฟ ไดอารี่ กระเป๋า ของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข, PLANET 2001, ANGO และนักออกแบบท่านอื่นๆ ที่ประดับประดาอยู่ร่วมกันในอาคารปูนเปลือยสูงสามชั้นนี้
รวมถึงบอลลูนคำพูดที่วางขายหนังสือของสำนักพิมพ์ OPEN อยู่ชั้นล่าง กลุ่มหนังสือที่ไทวิจิตเล่าว่าหาซื้อตามร้านหนังสือไม่ค่อยได้ เลยติดต่อนำมาวางขายไว้ที่นี่เสียเลย
ทั้งหมดว่ามานั้น คือผลจากการจัดการของเขา
บนชั้นสาม ไทวิจิตจัดการให้เป็น Print Making Studio สำหรับเก็บและทำงานภาพพิมพ์ ทั้งของเขาเองและของคนอื่นๆ ที่ไทวิจิตตระเตรียมจะชักชวนมาทำอะไรสนุกๆ ร่วมกันบ้าง หรือเมื่อ MO Hotel ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการแล้วนั้น พื้นที่บนชั้นนี้ก็อาจเป็นที่ทำกิจกรรมสนุกๆ ของลูกค้าของโรงแรมก็เป็นไปได้
โดยมีช่างพิมพ์ (Printer) ไว้คอยดูแลให้คำแนะนำ
จินตนาการว่าถ้าคุณมาเที่ยวเชียงใหม่ แล้วมีของที่ระลึกเป็นผลงานภาพพิมพ์ของตัวเองติดมือกลับบ้าน
กระบวนการง่ายๆ แต่งดงามนี้ รอเพียงเวลาที่จะเกิดขึ้น
โดยภาพรวม MO Shop อาจเป็นแกลเลอรี่ขายผลงานศิลปะหรืองานออกแบบเก๋ๆ หรือเป็นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่หลงใหลการตกแต่ง
แต่บนมิติของสิ่งมีชีวิต MO Shop คือกลุ่มก้อนของชุมชนทางศิลปะที่จะค่อยๆ เคลื่อนตัวไปด้วยกัน
คนทำงานที่ดี ย่อมต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา-ไทวิจิตเชื่ออย่างนั้น
ชีวิตของ MO Shop ก็น่าจะอยู่ในหลักการเดียวกัน
บนชานพักบันได ระหว่างชั้นสองขึ้นสาม ต้นไม้เล็กๆ ในกระถางรูปทรงประหลาด อันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ของไทวิจิตกำลังผลิใบ
ระหว่างบรรทัดบนแก้วกาแฟ ผมอ่านพบข้อความหนึ่งว่า
“ตอนที่ผมเป็นเด็กเล็ก เหนือหลังคาบ้านขึ้นไป ผมมองเห็นท้องฟ้าและปุยเมฆล่องลอย
เป็นกลุ่มเป็นก้อน คล้ายรูปร่างของบางสิ่งบางอย่าง เป็นรูปร่างของความรู้สึกใหม่ ไม่คุ้นเคยแต่แจ่มชัด น่าทึ่ง บางทีดูคล้ายรูปร่างของสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางลีลาดูคล้ายท่วงท่าของสัตว์ชนิดต่างๆ บ้างดูฉงนแปลกตา บางครั้งดูมหึมา แฝงเร้นพลังลี้ลับ บางครั้งดูผิดเพี้ยนชวนฝันเกินจริง บางครั้งดูสงบนิ่งราบเรียบ ประสบการณ์เกี่ยวกับการรับรู้รูปทรงต่างๆ ของเด็กเล็ก สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่มีสีสัน จากก้อนเมฆเหนือท้องฟ้าเหล่านั้น”
บรรทัดล่างของข้อความ ลงชื่อ ไทวิจิต บันทึกไว้เมื่อ 31 พ.ค. 2543
ขณะนี้ปี 2550 และผมกลับขึ้นไปบนชั้นสามอีกครั้ง
ไม่ได้กลับขึ้นไปทำภาพพิมพ์ของตัวเอง แต่กลับไปหาช่องหน้าต่างบานนั้น ที่ถูกเจาะใส่กระจกใสไว้บนหลังคาให้แสงสว่างส่องผ่านเข้ามา
หยุดยืนมองไปข้างนอก เห็นก้อนเมฆลอยเกลื่อน เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่ซ้ำในรายละเอียด
ดูมีชีวิตอย่างไรบอกไม่ถูก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
7 comments:
people see different things from their windows.
when i look out my windows, i see colours...
some bright, some pale, some hidden, some over shadowed,some muted, some merges, some clashes and some collides.
inspite of these, they all work together and sing out a perfect harmony.
i call them.. my inspiration.
:)
G*
(+1 more bat?)
อาชีพหนึ่งที่ประทับใจมากคือไกด์ถือตะเกียงนำเที่ยวในถ้ำ เธอมีหน้าที่คล้ายคนขายฝัน ขายจินตนาการ เธอจะพาเราเดินไปพร้อมบอกเราว่าหินงอกหินย้อย ก้อนนี้ก้อนนั้นเหมือนอะไร บ้างครั้งก็เป็นรูปดอกกะหล่ำ กบ ตุ๊กตา ช้าง และอื่นๆ อีกมากมายตามแต่จินตนาการของคนแรกๆ ที่เคยเข้ามาดูแล้วส่งต่อกันมา…
สงสัยว่านี่จะเป็นบทเรียน 'เรื่องจินตนาการ' ที่ธรรมชาติแอบสอนมนุษย์
ชอบแอบดู ชอบแอบอ่าน ชอบของฟรี ชอบของดี..ยิ่งฟรียิ่งชอบ
ขอบคุณที่แบ่งให้อ่านนะ..ถ้าอยู่ใกล้ไม่น่าจะพลาด "คุณไทวิจิต"นะ..อย่างพี่นักเขียนว่า รอเพียงโอกาส..
อือ ตอนเด็กก็มีเพื่อนป็นก้อนเฆม..โตมา..ก็ห่างกันไปเรื่อยๆ....มีเพื่อนใหม่..ทันสมัยกว่าเยอะแยะ..เลยหลงลืมกันไป...อะไรๆมันก็ง่ายกันอย่างนี้แหละ
ลืมแหงนมองฟ้าในบางวัน โทษที แค่รีบ!และสมรรถภาพทางจินตนาการเสื่อม..
อ้อ..บีบคอแบทแมนตายแล้ว...รับศพคืนไปด้วย
นึกไม่ถึงเหมือนกันว่ามีอาชีพนั้นอยู่ โดยเฉพาะเวลาที่พูดกันเรื่องจินตนาการ เป็นไปได้ว่าอาชีพแบบนั้น ส่วนใหญ่แล้วมักถูกมองว่าเป็นจินตนาการแบบท่องจำ
น่าแปลกที่เราไม่สามารถใช้จินตนาการนั้นซ้ำ เหมือนเวลาที่ขับรถผ่านภูเขาลูกเดิม(สมมติ) ที่'เขา'เห็นกันว่าเป็นรูปกระต่าย พอผ่านไปอีกกี่ครั้งก็เห็นเป็นกระต่ายทุกครั้งไป
ถ้าเป็นแบบนั้นจริง เรายังคิดว่าคนที่เห็นนั้นมีจินตนาการอยู่ไหม?
(ทำไมมันรู้สึกว่าก้ำกึ่งทั้ง มี และ ไม่มี...)
จำเป็นไหมที่จินตนาการต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
ในของสิ่งหนึ่ง ถ้าบางคนเห็นมันเป็นสิ่งนั้นไปตลอดกาล คนนั้นๆ จัดว่ามีจินตนาการไหม?
ปล ทุกท่านที่เป็นสามารถสมาชิกแบบ 2 กรุณาทำตามสัญญา และกรุณาดูแลค้างคาวให้ดี ให้ไปเลี้ยง ไม่ใช่ให้ไปฆ่า!
โปรดระวังการชอบของฟรี!
นั่นสิ...ชอบจังที่ไม่โอกาสได้อ่าน..
jao เองค่ะ
แอบเห็นเรื่องนี้ลงใน onopen ด้วยล่ะ
^^
กลับมาเชียงใหม่อีกครั้งไว้ไปดู....นะ แต่ควรจะรอให้งาน...ซาๆก่อนดีกว่า (แต่ทางทีดีไปดูคนเดียวก็คงดีกว่า)ใช้เวลาเป็นเพื่อน เพื่อรับรู้ ซึมทราบ และซึมซับ สิ่งต่างๆ สัญญาว่าจะไปเยือนนะจ๊ะ Mo Shop
Post a Comment