Thursday, January 22, 2009

โพรง (9): ใครต้องการถนน


พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับธันวาคม 2551

โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา
www.rabbithood.net

ใครต้องการถนน?

ช่วงเดือนที่ผ่านมา เกือบทั่วหัวระแหงในตัวเมืองเชียงใหม่ อุดมไปด้วยป้ายผ้านานาชนิด แน่นอนว่าไม่ใช่แผนโฆษณาแนวใหม่เพื่อขายผ้าของร้านขายผ้าแต่อย่างใด แต่ป้ายผ้าเหล่านั้นเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารกับผู้คนที่ผ่านไปมา ข้อความบนผืนผ้าสื่อสารในเนื้อหาเดียวกัน คือ “พวกเราไม่ต้องการขยายถนน” (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็มีนะ-Say No to Road Expansion)

ผม (ขับรถบ้าง +ขี่จักรยานบ้าง) ผ่านหลายๆ ป้ายเข้าก็เกิดความสงสัยว่า ‘พวกเรา’ นี่คือพวกไหน แล้วถนนที่พูดถึงกันอยู่เป็น ‘ของใคร’
.........

ผมเชื่อว่าหนุ่มสาวชาวกรุงฯ ทั้งหลายล้วนเคยผ่านสนามช้อปปิ้งที่ชื่อ สยามสแควร์ กันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย สยามสแควร์นั้นเป็นพื้นที่กว้างขวาง อุดมไปด้วยร้านรวงนานาชนิด ไหนจะมีโรงหนังขนาดใหญ่สามแห่งที่แสนจะคลาสสิค โรงเรียนกวดวิชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ร้านอาหารอร่อยๆ นับร้านไม่ถ้วน (ที่สำคัญมีร้านขายซีดีอิมพอร์ตที่ยังคงขายอยู่จนถึงวันนี้)

พื้นที่บริเวณสยามสแควร์นั้นยังไม่ตาย และดูแนวโน้มว่าจะอายุยืนกว่าพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร การปรับปรุง สยามเซ็นเตอร์ การเกิดขึ้นของ สยามพารากอน และ เซ็นทรัลเวิร์ด คงเป็นสัญญาณที่ช่วยยืนยัน

เอาล่ะ การจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง

สำหรับท่านที่ใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ คงรู้ดีกว่าการหาที่จอดรถในพื้นที่ของสยามสแควร์นั้นแสนสาหัสมาแต่ไหนแต่ไร ตรอกซอกซอยขนาดเล็กล้วนเต็มไปด้วยรถเก๋งที่จอดเรียงกันเป็นตับ ซ้อนแถวแล้วซ้อนแถวอีก

แต่แล้วจู่ๆ สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าของที่ตัดสินใจลดพื้นที่จอดรถตามซอย แล้วเพิ่มทางเดินเท้าให้กว้างขวางขึ้น!

เรื่องนี้ถ้ามองจากมุมคนที่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลัก ผมคงบ่นอุบว่าที่จอดรถก็หายากจะตายอยู่แล้ว ยังจะมาลดพื้นที่กันอีกทำไม (วะ) แต่บังเอิญผมโชคดีที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมล้อ (และแหนบ) การเพิ่มพื้นที่ทางเดินในสยามสแควร์นั้นจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แสนวิเศษ

จะมีอะไรทำให้รู้สึกดีกว่าการได้เห็นผู้คนแต่งตัวสวยงามเดินช้อปปิ้งบนทางเดินกว้างๆ อีกละครับ

ผมไม่ทราบจริงๆ ว่านั่นเป็นการตัดสินใจของใคร และเดาใจไม่ได้ด้วยว่าทำไปด้วยเหตุผลอะไร แต่คิดเอาเองว่าการเพิ่มพื้นที่ทางเดินเท้าในสยามสแควร์นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สยามสแควร์ยังมีชีวิตอยู่ แถมไม่ได้มีชีวิตอย่างง่อยเปลี้ย แต่กลับคึกคึกแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า ร้านรวงต่างๆ ผุดแล้วผุดอีก ผู้คนมากหน้าหลายวัยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

ยังไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ ลองหาโอกาสไปเดินเล่นดูเองสักครั้งเถอะครับ

ส่วนปัญหาเรื่องการจราจรนั้นก็แก้ด้วยการเอารถไปจอดบนตึก หรือใช้บริการระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า (ซึ่งสยามสแควร์ก็ถูกกำหนดให้เป็นสถานีหลัก) สวนทางโดยสิ้นเชิงกับความเจริญในความหมายของประเทศเรา ที่มักให้ความสำคัญกับ ถนน เป็นหลัก

สงสัย ปูน ทราย มันอร่อย-ใครบางคนตั้งข้อสังเกต

ผมเคยถามพี่ๆ ที่ทำงานกับภาครัฐว่าทำไมภาครัฐของเราคิดแบบนั้นไม่ได้บ้าง เวลามีแผนการจะขยายความเจริญของเมืองทีไร ทำไมต้องขยายถนนก่อนทุกที พี่ผู้อารีย์ท่านหนึ่งช่วยไขข้อข้องใจให้ว่า “ก็นั่นมันเป็นที่ของจุฬาฯ เขาก็เลยทำได้”

ผมฟังแล้วก็ยังสงสัยอยู่ดี มีอะไรที่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ตรงไหน

แวะกลับมาที่เชียงใหม่ เมืองที่หลายคนเชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรม เป็นเมืองมรดกเก่าแก่ที่เราต้องการรักษาเอาไว้ ทั้งยังเป็นเมืองที่เจริญรุดหน้าไม่แพ้เมืองใหญ่ที่ไหนในประเทศ
ยิ่งผนวกเข้ากับวิสัยทัศน์จำพวกที่อยากให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางศิลปะ อยากให้มีบรรยากาศของช่างฝีมือ ศิลปิน และประชาชน คลุกคลีตีโมงอยู่ร่วมกัน กับอีกวิสัยทัศน์จำพวกที่อยากเห็นเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ อะไรต่างๆ นานา

บวกลบคูณหารกันแล้ว ไหงได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นการขยายถนนล่ะครับ
อืม...วิสัยทัศน์ของผมคงคับแคบเกินไป

การตัดถนนไม่ใช่เรื่องเสียหายหรอกครับ คุณูปการของถนนที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตก็มีไม่น้อย แต่การเพิ่มเลนถนนในเมืองปริมาณรถเพิ่มขึ้นทุกวันอยู่แล้วเป็นความจำเป็นจริงหรือ ผมคิดเอาเองง่ายๆ ตามประสาชาวบ้านตาดำๆ ว่า ถ้าอยากให้เมืองมันเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางศิลปะและวัฒนธรรม ก็ยิ่งควรสร้างพื้นที่ให้คนได้เดิน เป็นพื้นที่สาธารณะให้คนได้ออกมาพบปะ แลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะในรูปการพูดคุย จับจ่ายใช้สอย หรือแม้กระทั่งแต่งตัวสวยงามออกมาประกวดประชันกัน

มันเป็นเรื่องระหว่างคนกับคน ไม่ใช่รถกับถนน

และเป็นเรื่องของระบบขนส่งมวลชนของคนทั้งเมือง ไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัวของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
รวมถึงเรื่องของสภาพอากาศที่ทุกวันนี้ก็ย่ำแย่เกินพออยู่แล้ว

การบริหารการใช้พื้นที่สำหรับคนหมู่มากนั้นไม่น่าจะใช่เรื่องง่าย เพราะขึ้นชื่อว่าคนหมู่มากก็คงประกอบไปด้วยความต้องการหลากหลาย ร้อยพ่อพันแม่นะครับ ไอ้ที่จะให้มาพยักหน้าเห็นพ้องต้องกันคงเป็นเรื่องลำบาก

แต่นั่นก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐไม่ใช่หรือ

ผมรู้สึกชื่นชมที่พลเมืองตาดำๆ แห่งประเทศเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งเฉย ป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านผืนแล้วผืนเล่าก็กำลังทำหน้าที่ของมันอย่างขะมักเขม้น มากกว่านั้น ผมยังมีโอกาสได้เห็นแผ่นพับตามร้านก๋วยเตี๋ยวที่อธิบายว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองของเรา รวมถึงการขอให้ร่วมลงชื่อเข้าคัดค้านเพื่อที่จะส่งต่อไปยังผู้มีอำนาจทั้งหลาย เผื่อจะสามารถสร้างความระคายเคืองต่อวิสัยทัศน์ของท่านๆ เหล่านั้นบ้าง

เพราะถ้าเวรคืนที่ ทุบตึกเก่าๆ สร้างถนนกว้างขวาง แล้วปรากฏว่าไม่สำเร็จตามเป้าหมาย จะเรียกร้องบรรยากาศของเมืองแบบเดิมให้กลับคืนมานั้นเห็นที่จะเกิดขึ้นลำบาก

หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

3 comments:

Anonymous said...

ช่วยกันคิด ช่วยกันใช้ ด้วยกัลล์ ;):)

Anonymous said...

ถ้าบ้านเมืองเรามีระบบขนส่งมวลชนดีกว่าที่เป็นอยู่
ก็คงดีไม่ใช่น้อยเลยนะคะ :)
คิดว่าเราพลาดตั้งแต่การวางผังเมืองแล้วล่ะค่ะ T^T

Anonymous said...

^
^
^
รัยเนี่ย..โฆษณาแฝง
พี่เปิดร้านขายเพชรเหรอ..55

รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสัจจะธรรม
อันนี้เข้าใจ..
แต่บางเรื่อง..มันไม่ได้เปลี่ยนไปตามกาละ-เวลา
มันเปลี่ยนเพราะอำนาจ จากคนบางกลุ่ม
ผลประโยชน์..อะไรต่างๆ..มากมาย
ไม่ค่อยเข้าใจ

รักลิโด้ แม้จะเหม็นอับบ้าง แก่ไปหน่อย สกปรกไปนิด
แต่มีเสน่ห์มากมาย เท่ ไม่ต้องรอคิว ไม่ยัดเยียด น่ารัก

ถนนที่พี่ว่าก็คงจะเหมือนกัน
ป้ายผ้า อาจจะสู้อำนาจไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ได้สู้เพื่ออะไรที่รัก ..อย่างน้อยก็รู้สึกดีกว่านะ
ช่วยเชียร์..