Friday, June 12, 2009

โพรง: แม่สายอคาเดมี่ (Film & Music School) (1)


โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา

www.rabbithood.net
พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับเดือนมีนาคม 2552

แม่สายอคาเดมี่ (Film & Music School) (1)

หนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ผมบรรจุเอาไว้ในหมวด ‘ขาดแคลน’ ของการใช้ชีวิตที่เชียงใหม่คือ ‘ต้นทุน’ ของชุดความรู้ต่างๆ ในสาขาวิชาชีพ หลักๆ ก็ได้แก่ หนัง หนังสือ และซีดี ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วต้นทุนเหล่านี้ใช่ว่าจะขาดแคลนเฉพาะที่เชียงใหม่ ต่อให้พำนักอาศัยอยู่ในมหานครอย่างกรุงเทพ ก็ใช่ว่าจะเพียงพอกับความต้องการของคนในสาขาอาชีพอย่างเราๆ ไม่

เป็นนักเขียนก็อยากอ่าน เป็นนักดนตรีก็อยากฟัง เป็นช่างภาพก็อยากเห็น หรือเป็นนักออกแบบก็อยากดูดีไซน์ของคนอื่น

น้อง
ที่ทำงานออกแบบที่กรุงเทพฯ (คนที่ออกแบบโลโก้แอ๊ปเปิ้ลให้ RabbitHood) เคยบ่นให้ฟังว่า อาชีพอย่างเราๆ นี่ซวยแท้ ทำงานแต่ละชิ้นได้เงินน้อยแสนน้อย แต่เวลาจะหาซื้อหนังสือกราฟิกดีๆ มาประดับความรู้กลับราคาแพงลิบลิ่ว แถมมีบ้างไม่มีบ้าง บางเล่มก็ต้องคอยซื้อเวลาเดินทางไปเมืองนอก

จริงอยู่ สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ถ้าจะว่ากันถึงที่สุด ก็อาจไม่จำเป็นเลยกับการประกอบอาชีพการงาน และไม่น่าจะถูกใช้เป็นเงื่อนไขว่าทำงานออกมาดีหรือไม่ แต่การได้รับความรู้อย่างเพียงพอ (ไม่ใช่พอเพียง) ก็เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ช่วยให้คนทำงานขยับแข้งขยับขาได้สดชื่นขึ้น

เพียงพอในที่นี้ เป็นความหมายเดียวกับคำว่า ‘หลากหลาย’

เห็น
งานคนโน้น สนใจงานคนนี้ เกิดนานาทรรศนะ เห็นคล้อยบ้าง ขัดแย้งบ้าง สร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งอาจเคลื่อนตัวไปสู่วัฒนธรรมการคิดวิเคราะห์ผลงาน นำไปสู่ความเข้าใจสูงสุด โดยไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับถูกหรือผิด ซึ่งไม่ค่อยเห็นแพร่หลายนักในสังคมขี้หมั่นไส้แบบบ้านเรา

แล้วก็จริงอีก ที่ปัจจุบันนั้นมีโลกเสมือนจริงให้อีกหนึ่งใบ เปิดช่องให้เราๆ ท่านๆ สามารถท่องเที่ยวไปได้ไกลตราบเท่าที่กำลังของเครือข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ตแข็งแรงเพียงพอ (ซึ่งก็ขึ้นกับกำลังทรัพย์ของเรานั่นเอง)

แต่การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ก็ถือเป็นเรื่องน่าเบื่อที่สุดในโลกอีกเรื่องหนึ่ง

ปกติผม
ไม่ค่อยเดินห้างสรรพสินค้า เพราะรู้สึกว่า ‘สรรพ’ ไม่ค่อยจริง ห้างฯ ส่วนใหญ่มีแต่สินค้าสำหรับคนส่วนใหญ่เท่านั้น ดูเหมือนไม่มีใครสนใจคนส่วนน้อยที่สนใจสินค้าแบบอื่น จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมบังเอิญได้พบกับร้านขายดีวีดีขนาดหนึ่งห้องคูหา ในร้านมีแผ่นให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นแผ่นคอนเสิร์ตของวงต่างประเทศ ในกระแสบ้าง นอกกระแสบ้าง เดินดูอยู่สักพัก ผมก็สนใจเข้าให้สองสามแผ่น แต่พอถามราคาก็ต้องอึ้ง เพราะทางร้านบอกขายในราคาเกือบสามร้อยบาท (“ลดได้นิดหน่อย พี่!”)

ทั้งที่พลิกดูยังไงมันก็เป็นแผ่นที่ซื้อมาจากแม่สายนี่นา

ตอน
นั้นผมมีทางเลือกสองทางคือซื้อกับไม่ซื้อ หลังจากเดินวนไปวนมาพยายามคิดว่าควรซื้อหรือไม่ คำตอบก็ออกมาว่าจะซื้อบางแผ่นที่คิดว่าน่าจะหายากจริงๆ ส่วนแผ่นอื่นๆ ที่เหลือที่เดาว่าน่าจะยังพอหาได้ เดี๋ยวรอไปซื้อที่แม่สายเองดีกว่า

จากเชียงใหม่ไปแม่สายไม่ไกล มุ่งหน้าไปหาเชียงรายราวๆ สองร้อยห้าสิบกิโลเมตร ขับรถไปเองก็ประมาณสามชั่วโมงครึ่งเกือบสี่

ผมไม่
รู้ว่าแม่สายในวันนี้ แตกต่างจากสมัย ‘นกน้อยจากท้องนาราคาถูก เธอเป็นลูกที่ถูกพ่อแม่ขายไป’ ของคุณเทียรี่ เมฆวัฒนา มากน้อยแค่ไหน แต่เฉพาะช่วงบริเวณด่านท่าขี้เหล็ก ก็เห็นว่ามีพ่อค้าแม่ขายตั้งแผงขายของกันคึกคัก ทั้งนาฬิกา เสื้อผ้า เกี๊ยวซ่า โทรศัพท์ รองเท้า เห็ด ชุดน้ำชา เตารีด ไขควง ฯลฯ

การจะข้ามไปฝั่งพม่าก็ง่ายดาย แวะทำบัตรผ่านแดน โดยนำบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ถ่ายเอกสาร พร้อมกับชำระเงิน 30 บาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะนำบัตรที่ถ่ายเอกสารแล้วมาติดกาวแปะลงไปบนใบผ่านแดน (ขั้นตอนนี้รวดเร็วจนน่าทึ่ง) จากนั้นก็สามารถเดินข้ามชายแดนไปได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาก่อนหกโมงครึ่งในตอนเย็น

เดินข้ามฝั่งไทยแล้วก็ไปผ่านด่านตรวจทางฝั่งพม่า ตรงนั้นเสียเงินอีกสิบบาท ให้เจ้าหน้าที่ประทับตราผ่าน จากนั้นก็เดินต่อไปได้

เสียงประกาศจากผู้รู้ดังว่า “เรียนท่านนักช้อปโปรดทราบ ทุกอย่างที่ท่านเห็นต่อจากนี้ เป็นของปลอมทั้งหมด!”

ผมเดิน
ผ่าน หลุยส์ กุชชี่ ชาแนล ไนกี้ พูม่า อดิดาส โนเกีย โมโตฯ โดยไม่ได้ข้องแวะปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับพี่ๆ แบรนด์เนมเหล่านั้น ด้วยเหตุผลเดียวกับคนอื่นๆ –ถ้าไม่มีเงินซื้อของจริง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ของปลอม เพราะถ้าเกิดอุตริอยากใช้กระเป๋าชาแนลกับเขาบ้าง ก็คงเป็นเพราะว่าสนใจแบบ เนื้อหนังและขั้นตอนการผลิตที่ประณีตพิถีพิถันของเขา ไม่ใช่เพียงเพราะตราโลโก้ตัว C ไขว้กลับข้างนั่น

ตลาดตึกแถวที่ฝั่งพม่ากินอาณาบริเวณไม่กว้างขวางไปกว่ากาดหลวง ซึ่งนอกเหนือจากโคลนนิ่งสินค้าแบรนด์เนมแล้วนั้น ยังอุดมไปด้วยสินค้าอื่นอีกนานาชนิด ตั้งแต่ถุงเท้าไปจนถึงจานดาวเทียม

อีกล่ะ ผมก็ไม่รู้จะซื้อจานดาวเทียมไปทำไม เห็นแต่เขาชอบใช้เป็นช่องทางสะสมขุมกำลัง
ผมมุ่งหน้าไปร้านดีวีดี

ในดงตึกแถว
นั้นมีร้านขายซีดีดีวีดีอยู่หกเจ็ดร้าน (ถ้าจำไม่ผิด) ขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน มีชนิดของหนังและเพลงให้เลือกหลากหลายกว่าร้านขายซีดีดีวีดีที่มีทั้งหมดในประเทศของเรารวมกัน ทั้งจากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ทั้งคลาสสิค ป็อป แมส และอินดี้ ทั้งหนัง และซีรี่ส์

ยกตัวอย่างซีรี่ส์ คุณต้องการอะไรล่ะครับ Friends, Desperate Housewives, Prison Break, Lost, 24, South Park, Six Feet Under โอย...สาธยายไม่หมดหรอก (ขออภัย พอดีไม่ค่อยเป็นแฟนซีรี่ส์และไม่ค่อยรู้จักซีรี่ส์เกาหลี ไม่อย่างนั้นคงยกตัวอย่างได้มากกว่านี้)

หีบห่อก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าส่วนใหญ่ออกแบบกันมาสวยงาม มีลูกล่อลูกชนให้คนซื้อประทับใจ (เช่นชุด Box Set ของ James Bond ก็ออกแบบเป็นกระเป๋าสายลับ เป็นต้น) แม้ว่าคุณภาพการผลิตจะไม่ดีนัก แต่ก็ถือว่ามีความตั้งใจสูง

แตกต่างจากทัศนคติประเภทของถูกต้องห่วย ของแมสต้องแย่ ที่เราๆ ท่านๆ ชาชินกันเป็นอย่างดี
สนนราคาก็เป็นมิตรที่สุดในโลก เฉลี่ยอยู่ที่สามสี่สิบบาทต่อหนึ่งแผ่น มากสุดก็เก้าสิบบาท ซื้อมากก็ได้ลด ของเสียก็เอามาเปลี่ยนได้ (บางร้านยืนยันอย่างนั้น)

แต่หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่หีบห่อหรือราคาหรอกครับ
ที่น่าสนใจกว่าคือการเลือกผลิตแผ่นที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักออกมาขายต่างหาก

(อ่านต่อ ว่าด้วยเรื่องลิขสิทธิ์!)

No comments: