Monday, November 17, 2008

โพรง (7): ทีวีของเรา


โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา
www.rabbithood.net

พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับตุลาคม 2551


ทีวีของเรา

ปกติแล้วสิ่งไม่มีชีวิตที่เรียกว่าโทรทัศน์นั้น ไม่ค่อยถูกโฉลกกับชีวิตผมนัก นอกเหนือจากการพยายามติดตามความตะกรุมตะกรามของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราและความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่คนหมู่มากกำลังสนอกสนใจแล้วนั้น เครื่องรับโทรทัศน์ของผมก็มักไม่ค่อยทำหน้าที่ตามที่มันได้ถูกสร้างมามากนัก

จะว่าไป มันทำหน้าที่ใกล้เคียงกับจอภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มากกว่า ยิ่งเมื่อเชียงใหม่ยังไม่มีโรงหนังสำหรับบางเวลาที่เราเกิดรู้สึกเบื่อหนังกระแสหลักหรือบางเวลาที่หนังบางเรื่องถูกถอดออกจากโรงฉายไป

ด้วยความที่ไม่เคยโยกย้ายตัวเองไปอาศัยอยู่ต่างเมือง ผมจึงเพิ่งพบว่าในแต่ละท้องถิ่นของตัวเองนั้น ส่วนใหญ่ล้วนมีเคเบิ้ลทีวีเป็นของตัวเอง นอกเหนือไปจากเคเบิ้ลเจ้าหลักที่มีกำลังส่งสัญญาณไปได้ทั่วประเทศ อย่างเช่น WETV (เวิร์ลเอนเตอร์เทนเม้นท์) ของเชียงใหม่ SVTV (แสนสุขวิชั่น) ของบางแสน หรือ ASTV ของชาวคณะพันธมิตร (เจ้านี้ก็ดูท่าว่าจะครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ) เป็นต้น

แล้วจู่ๆ เคเบิ้ลท้องถิ่นก็กลายเป็นโลกใบใหม่ของผม
เปล่าหรอก, ผมไม่ได้ดั้นด้นไปสมัครเป็นสมาชิก เพียงแต่อพาร์ทเม้นท์ที่พำนักอาศัยอยู่นั้นเขาติดตั้งมาให้แล้ว

ว่ากันว่าเคเบิ้ลทีวีถือกำเนิดครั้งแรกในอเมริกาเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อตอบสนองชุมชนในพื้นที่ที่สัญญาณทีวีหลัก
นั้นเดินทางไปไม่ถึง จากนั้นก็พัฒนากันมาตามลำดับ ในประเทศของเรานั้นก็เริ่มต้นเมื่อราวปีพ.ศ. 2525 จนป่านนี้ก็ได้ยินว่ามีเจ้าที่ได้รับอนุญาตถูกต้องอยู่ราวๆ 80 เจ้า

สำหรับเจ้าที่ให้บริการที่เชียงใหม่ ก็มีช่องให้เลือกดูราวๆ 40 ช่อง แต่ผมดูไม่ครบหรอกนะครับ พลัดหลงไปติดกับอยู่แถวๆ ช่องภาพยนตร์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งก็พอมีภาพยนตร์ดังๆ แบบที่เคยฉายในโรงบ้างประปราย แต่นั่นไม่น่าสนใจสำหรับผมเท่ากับหนังประเภทที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต

เป็นหนังประเภทที่เรียกกันติดปากว่าหนังเกรดบี

สำหรับ
คอหนังคงไม่ต้องอธิบายความหมายของมัน แต่สำหรับคอไม่หนัง ผมพอจะอธิบายคร่าวๆ ได้ว่าหนังเกรดบีไม่ใช่หนังเกรดเอ (ตรงตัวตามชื่อเรียกของมัน) เป็นหนังที่ไม่ได้ผลิตมาจากสตูดิโอขนาดยักษ์ ไม่มีการโหมโฆษณาถล่มทลาย (ซึ่งงบโฆษณาของหนังบางเรื่องสามารถเอาไปทำหนังได้อีกหลายเรื่อง) ไม่มีดาราแม่เหล็กที่เชื่อกันมาตลอดว่าสามารถดึงดูดความสนใจของแฟนหนังได้อยู่หมัด ทุนสร้างไม่มาก ซึ่งหมายความถึงฉาก แสงเสียง บท และการแสดงที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับหนังฟอร์มใหญ่

รวมถึงการออกฉายในบางช่อง ที่มีการพากย์เสียงภาษาไทยทับลงไปให้เสร็จสรรพ
และความน่าสนใจของมันก็อยู่ตรงที่ความหละหลวมของมันนี่เอง

ประสบการณ์การดูดซึมหนังทุนสร้างร้อยสองร้อยล้านที่ส่วนใหญ่จะซ้ำซากและวนเวียนอยู่กับจุดขายเดิมๆ เรื่องเดิมๆ ดาราเดิมๆ และบริบทเดิมๆ (แบบอเมริกันนิยม) ถูกความหละหลวมที่เพิ่งรู้จักตีแตกกระจุยเป็นเสี่ยงๆ

เดี๋ยวก่อน
ผมไม่ได้หมายความว่าหนังทุนสูงจะเลวร้ายไปเสียหมด (อย่างล่าสุดเพิ่งดู WALL.E ก็รู้สึกว่าน่ารักน่าเอ็นดูดีแท้) เพียงแต่ผมเพิ่งได้รู้จักกับฆาตกรโรคจิตที่ชอบไปหลบอยู่ตามบ้านร้าง คอยดักฆ่านักศึกษา (อเมริกัน) ที่มักมีบุคลิกห่ามเกินกว่าเหตุ ชอบแอบไปเที่ยวกันในที่เปลี่ยวๆ ชวนคู่รักไปแอบ XXX กันในที่เสี่ยงๆ แล้วก็ค่อยๆ ถูกฆ่าไปทีละคนสองคน จนต้องหันกลับมาต่อสู้และเอาชนะเจ้าฆาตกรโรคจิตได้สำเร็จ (แต่กว่าจะสำเร็จเพื่อนก็ตายไปแล้วหลายศพ) หรือการบุกเข้าไปในป่าลึกเพื่อค้นหาวัตถุสำคัญ แต่ต้องต่อสู้กับจระเข้ยักษ์ที่ขยับตัวไม่ค่อยถนัด ทำได้เพียงอ้าปากพะงาบๆ ไล่ฆ่าผู้บุกรุก (ซึ่งแค่พะงาบปากก็ฆ่าคนได้แล้ว) หรือเรื่องของหญิงสาวชาวป่า (XXX) ที่ถูกค้นพบโดยขุนนางในเมืองแล้วเอามาเลี้ยงดู (เพื่อเป็นเมีย!) และต้องต่อสู้ต่างๆ นานากับชนชั้นสูงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ หรือพระเอกยอดนักบู๊ที่ไปไล่เข่นฆ่าเหล่าร้ายในเมืองลึกลับ ฯลฯ

เล่าได้ไม่หมดหรอกครับ เรื่องมันเยอะมาก

ผมพยายามถามตัวเองตลอดมาว่าอะไรดึงดูดให้ต้องเปิดทีวี มองหาหนังเกรดบีสักเรื่องดูก่อนนอน (ซึ่งทำให้กลายเป็นคนนอนดึกมาก เป็นเวลาติดต่อกันมายาวนาน) เหตุผลที่พอจะตรงกับใจมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง ’ความซื่อ’ ของมัน

กับอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการที่หนังประเภทนี้มีพื้นที่ให้นั่งๆ ยืนๆ อยู่ในโลกของภาพยนตร์ที่คนอย่างเราๆ ท่านๆ ส่วนใหญ่ไม่เคยแม้แต่จะชายตามอง โดยเฉพาะเมื่อโลกนี้อ้าแขนรับศาสตร์ของ ‘การตลาด’ ให้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดในระบบทุนนิยม เราก็สามารถแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่มๆ ได้โดยชอบธรรม เพราะมีกติการองรับชัดเจน

แน่นอนว่ากติกานี้กำหนดขึ้นมาโดยคนที่อยู่ ‘ข้างบน’

ขยับเก้าอี้เข้าไปลึกว่าลำพังเป็นคนดูอีกสักหน่อย ผมก็ค้นพบว่ามีฆาตกรโรคจิตเกิดขึ้นคนแล้วคนเล่า พร้อมๆ กับกลุ่มนักศึกษากลุ่มแล้วกลุ่มเล่าที่ยังเพียรออกไปทำตัวซ่ากันในที่รกร้าง มีหญิงชาวป่าคนแล้วคนเล่าที่ต้องต่อสู้กับคนจากเมืองใหญ่ พระเอกยอดนักบู๊คนแล้วคนเล่าที่ต่อกรกับเหล่าร้ายในแบบต่างๆ หรือจระเข้ยักษ์ตัวแล้วตัวเล่าที่ยังพะงาบปากไล่ฆ่าผู้บุกรุก

มีผู้กำกับ
คนแล้วคนเล่าที่สร้างหนังชนิดนี้ นักแสดงหน้าใหม่เกิดขึ้นคนแล้วคนเล่า (ผมพอรู้มาว่ามีผู้กำกับหลายคนที่ตั้งหน้าตั้งตาสร้างหนังชนิดนี้อย่างจริงจังและได้รับการบันทึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ด้วย หนำซ้ำยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับใหญ่ยกตัวอย่างอย่างเช่น เควนติน ทารันติโน่ สร้างหนังเลียนแบบหนังเกรดบีด้วยซ้ำ)

นั่นแสดงว่ายังมีกลุ่มคนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าที่ติดตามดูหนังเหล่านี้ใช่หรือไม่

ผม
ไม่รู้จริงๆ ว่าพวกเขาเป็นใคร ติดตามหนังเหล่านี้ด้วยความเต็มใจหรือจำใจ ในโลกที่ถูกแบ่งสัดแบ่งส่วนด้วยเนื้อหาทางการตลาดไว้ชัดเจน ในประเทศที่เราภูมิใจหนักหนาว่าเราจะเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีทีวีสาธารณะให้ดูแค่ 6 ช่อง ซึ่งมีเนื้อหาแทบไม่แตกต่างกัน (ด้วยข้ออ้างว่าคนดู ‘ส่วนใหญ่’ ชอบแบบนี้) หนำซ้ำบางช่องบางรายการก็ยังเป็นเครื่องมือรับใช้รัฐบาลอย่างออกนอกหน้า

ในฐานะคนที่ไม่ค่อยดูทีวี ผมยังอยากเห็นทางให้เลือกมากกว่าที่เป็นอยู่

ระหว่าง
ที่รอวันนั้น ผมจะขอเพลิดเพลินกับพี่จระเข้ยักษ์พะงาบปากกินคนไปพลางๆ ก่อน

3 comments:

Anonymous said...

อ่านกี่ครั้งก็ยังมีรอยยิ้มอยู่นะ ชอบ :)

Anonymous said...

เค้าก็ชอบคุยกับเพื่อนเรื่องนี้ คุยไป ด่าไป..เพลินมาก เรื่องฟรีทีวีบ้านเรา(ช่องน้อยจริงด้วย เราคิดกันว่ามันเป็นปัญหาระดับประเทศ) เรื่องรายการซ้ำซาก ละครรีเมค-- ยัดนั่น ยัดนี่ เรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วเราก็ จบด้วยคำถามว่า "แล้วจะทำไง.??"--ทำไรไม่ได้เราก็ว่างั้นก็ไม่ต้องดู ปิดไปเลย ประหยัดไฟดี รักโลก ไม่หงุดหงิด (โชคดี ที่โลกนี้มี youtube 55)

แต่เค้า..ชอบ 'ไรก็ชอบอยู่อย่างนั้น เพราะงั้น เค้าจะทนหนังจระเข้งาบคนได้เกิน 5 นาที (แต่ก็ไม่ได้ผิดอะไรที่พี่จะปล่อยใจเพลินๆก็อย่างว่า บางทีอะไรซื่อๆ ก็น่ารักดี )

Anonymous said...

น้องชายเราชอบดูมาก
มักโดนเร่าด่าเสียๆ หายๆ
เพราะไม่เข้าใจว่ามันดูไปทำไม
มากกว่าจะไม่เข้าใจว่ามันดูอะไร
น้องชายเราก็มักจะตอบมาว่า
มันสะใจว่ะเจ๊,

อืมม เราเข้าใจเลยนะ^^