Sunday, February 15, 2009

โพรง (10) : วันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก


พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับเดือนมกราคม 2552

โพรง

เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา
www.rabbithood.net


วันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก

เรื่องนี้เกิดขึ้นในราวต้นเดือนพฤศจิกายน ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาช้าๆ
ขณะนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน ผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง ปกติแล้วผมกับเขาไม่มีอะไรต้องโทรศัพท์หากันพร่ำเพื่อ ส่วนมากก็เป็นเรื่องธุระปะปังที่ต้องจัดการ นอกเหนือจากนั้นเรามักพบปะกันโดยไม่ต้องนัดหมาย

ชาจบการศึกษาด้านวิศวะไฟฟ้า เป็นนักดนตรีทั้งกลางวันและกลางคืน มีวงดนตรีเป็นของตัวเอง ทำมาหากินกับการเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ แถวนิมมานเหมินทร์ หลายๆ ค่ำ เราก็วนเวียนมาเจอกันที่แกลเลอรี่เล็กๆ แถวนั้น หรือบางครั้งเราก็เจอกันตามร้านกินข้าว (กลางวัน)

คนที่วงจรชีวิตคล้ายกัน ก็มักวนเวียนมาพบปะกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน

น้ำเสียงร้อนรนของเขาในบ่ายวันนั้นทำให้เราต้องนัดหมายมาพบปะกันในอีกราวสิบห้านาที ที่ร้านกาแฟเล็กๆ ของเพื่อนเราบนหัวถนนนิมมานเหมินท์

สำหรับท่านที่คุ้นเคย คงพอทราบดีว่าถนนนิมมานท์เหมินท์นั้นจัดอยู่ในหมวดแหล่ง ‘เจริญ’ ของประเทศเชียงใหม่ หลายท่านเปรียบให้เป็นละแวกทองหล่อ (สุขุมวิท) ของกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งรวมของร้านขายของเก๋ๆ ร้านกาแฟเก๋ๆ ที่พักเก๋ๆ ผับบาร์ (ไม่ค่อยเก๋) มากมายเปลี่ยนหน้ารอให้เลือกเข้าไปใช้บริการกันสลอน รวมถึงร้านอาหารอร่อยๆ (ทั้งเก๋และไม่เก๋) ที่ถ้าเดินกินทั้งวันก็คงพุงแตกตายอยู่ข้างถนน ความเจริญในความหมายทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวนั้น นำมาซึ่งตึกใหม่ๆ ตามตรอกซอกซอย และพาไปซึ่งต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่นับวันจะร่อยหรอลงเต็มที

ในบรรดาร้านอาหารที่เราอุดหนุนกันบ่อยนั้น ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อกลางซอย (ไม่เก๋ แต่รสชาติยอดเยี่ยม!) เป็นร้านหนึ่งที่เรานิยม ร้านนี้ตั้งอยู่มุมสี่แยกในซอยเล็กๆ ฝั่งตรงข้ามเป็นอาคารพาณิชย์สามชั้นขนาดเก้าคูหา และที่ด้านหน้าของคูหาหนึ่ง มีต้นหูกวางสองต้นยืนตระหง่านอยู่เคียงข้างกัน ความสูงของมันเคียงบ่าเคียงไหล่กับตึกสามชั้น

กิ่งก้านใบของมันที่แผ่ขยายออกมาบดบังความแข็งกระด้างของปูนแข็งๆ ทำให้ตึกนั้นมีชีวิตชีวาอย่างน่าประหลาด ความกระด้างของตึกปูนที่มีความอ่อนน้อมของกิ่งไม้ใบไม้เคียงข้างอยู่ด้วยนั้น เป็นสุนทรียะพื้นฐานที่มนุษย์ในตึกอย่างเราๆ พึงจะได้รับ

แถมดูมีรสนิยมโดยไม่ต้องแต่งฟุ่มเฟือยอีกต่างหาก

“พี่ พี่ หูกวางสองต้นกำลังจะโดนตัด!” นี่คือข้อความของชาในสายโทรศัพท์ หูกวางผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กำลังจะถูกตัดโดยเจ้าของตึก ด้วยข้อหาสองประการ

หนึ่ง มันขึ้นอยู่ตรงหน้าคูหาพอดิบพอดี ทำให้คูหานี้ไม่มีคนเช่า เพราะไม่สามารถจอดรถได้
สอง ลูกและกิ่งก้านของมัน ตกใส่รถยนต์ราคาแพงของผู้บริหารที่เช่าอยู่คูหาข้างๆ

ชา ต้น ชะ (เจ้าของร้านกาแฟ) และผม นั่งสุมหัวกันในร้าน เราพยายามหาทางออก เพราะต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถด้วยการตัดต้นไม้ใหญ่สองต้นทิ้งไปเฉยๆ นั้น เป็นทางออกที่มักง่ายไปสักหน่อย

แรกที่สุดเราคิดถึงการประวิงเวลาด้วยการไปเช่ากันไว้เอง แต่เมื่อสำรวจเงินในกระเป๋าของทุกคนรวมกันแล้ว ความคิดนี้ก็เป็นอันต้องตกไป ต่อมาเราคิดถึงการบวชต้นไม้ ซึ่งหลายๆ ที่ก็ทำไว้ได้ผล แต่นั่นก็ยังไม่น่าจะใช่ทางออกที่ถูก ขืนเราต้องตามไปบวชต้นไม้กันทุกที่ ก็ดูจะเป็นการรบกวนเวลาปฏิบัติธรรมของคุณพระคุณเจ้าโดยใช่เหตุ

วนเวียนคิดกันอยู่หลายตลบ เราก็ได้คำถามว่า ในประเทศเชียงใหม่ของเรานี้ จะไม่มีคนเช่าตึกที่ต้องการต้นไม้ไว้บ้างเลยหรือ ทุกคนต้องการแต่ที่จอดรถจริงไหม

จริงครับ ทุกคนที่มีรถก็ย่อมต้องการที่จอด เพราะยังไม่มีใครออกแบบรถให้พับเก็บได้ในกระเป๋า แต่คนมีรถที่ไม่ต้องการให้ตัดต้นไม้เพียงเพื่อจะทำที่จอดรถนั้นก็ยังมีอยู่

แล้วชาก็พบ

เขาติดต่อไปยังอาจารย์ท่านหนึ่ง เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง อาจารย์ท่านนั้นมีความคิดจะเช่าตึกกับเพื่อนๆ ของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องเช่า เมื่อได้ฟังเรื่องราวจากชา อาจารย์ท่านนั้นรีบรุดมาสมทบที่ร้านกาแฟ จากนั้นก็พากันไปดูสถานที่จริง (ซึ่งอยู่ไม่ไกล) ตกลงเช่ากับเจ้าของอาคาร โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามตัดต้นไม้สองต้นนี้เด็ดขาด

อาจารย์ให้เหตุผลว่าต้นไม้สองต้นนี้มความจำเป็นกับธุรกิจของเขา

จากเหตุการณ์วันนั้นจนถึงวันนี้ ผู้เช่าเปลี่ยนมือจากอาจารย์เป็นน้องอีกกลุ่มหนึ่ง แต่พวกเขาก็ตัดสินใจเช่าด้วยเงื่อนไขเดียวกัน คือห้ามตัดต้นไม้ ผมคลับคล้ายคลับคลาว่าเขาจะเปิดเป็นร้านกาแฟ โดยที่เจ้าของเงินทุน (ตัวจริง) ก็ให้เงื่อนไขว่า ถ้าจะไม่ตัดต้นไม้ ก็ต้องออกแบบบรรยากาศร้านให้เข้ากัน

ชะเป็นสถาปนิก จึงช่วยเพื่อนรุ่นน้องออกแบบอย่างแข็งขัน

พี่นักข่าวอาวุโสท่านหนึ่งที่บ้านอยู่ตึกตรงข้ามเมื่อทราบเรื่อง ก็โทรมาถามไถ่ด้วยความเป็นห่วงต้นไม้ พร้อมให้ความช่วยเหลือด้วยการอนุญาตให้ผู้เช่าคูหานั้น สามารถจอดรถที่หน้าบ้านฝั่งตรงข้ามได้

ถึงวันนี้ หูกวางสองต้นนั้นยังเคียงคู่ให้ร่มเงากับพวกเรา แต่ในอนาคตนั้น...ไม่มีใครรู้

ตอนที่มาเชียงใหม่ใหม่ๆ พี่ที่เคารพท่านหนึ่งซึ่งอยู่นิมมานฯ มาก่อนเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนนิมมานฯ ต้นไม้ใหญ่เยอะมาก แต่ทุกวันนี้ก็หร่อยหรอลงไปตามที่เห็น ครั้งหนึ่งเขาเคยถ่ายคลิปวิดิโอตอนที่คนงานกำลังโค่นต้นไม้ใหญ่ลงไปต่อหน้าต่อตา (น่าเสียดายที่หาคลิปนั้นไม่เจอแล้ว)

ปกติพี่คนนี้เล่าเรื่องอะไรก็ตลก แต่เชื่อเถอะครับว่าเรื่องนี้แกเล่าด้วยความไม่ตลก

ผมยืนยันอีกครั้งว่าเข้าใจระบบธุรกิจ เข้าใจเจ้าของเงินทุนที่ต้องควักเงินจำนวนมหาศาลมาลงทุนในพื้นที่ที่ราคาสูงขึ้นๆ ทุกวี่วัน เพียงแต่สงสัยว่าการกลับคืนมาของเงินลงทุนโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมนั้นจะเป็นไปได้จริงหรือ

ถ้าสภาพอากาศเลวร้ายสุดขีด ผู้คนเริ่มอพยพไปหาที่ที่อากาศดีกว่า เงินลงทุนนั้นมหาศาลนั้นจะไม่สูญเปล่าไปหรอกหรือ

ต้องรอให้ต้นไม้ใหญ่หมดนิมมานฯ ไปก่อน จึงจะค่อยรู้สึกกันใช่ไหม

เรื่องทั้งหมดที่เล่านี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญของคนสามสี่คนที่ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ละแวกเดียวกัน ผมเชื่อว่าทั่วทั้งเชียงใหม่น่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกมาก เพียงแต่เราไม่รู้ข่าว

เป็นไปได้ไหมที่สักวันหนึ่ง เราจะมีกฏหมายหรือข้อบังคับเรื่องการตัดต้นไม้ใหญ่ ที่ต้องขออนุญาตก่อนจะทำการโค่น มีทีมสำรวจของหน่วยงานรัฐคอยให้ความรู้ มีทีมออกแบบที่คอยช่วยเหลือให้เจ้าของที่สามารถออกแบบอาคารให้หลบเลี่ยงต้นไม้ได้สวยงาม โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างให้น้อยที่สุด ถ้าใครฝ่าฝืนก็ให้ถือว่ามีโทษทางกฏหมาย แม้ว่าต้นไม้นั้นจะอยู่ในเขตพื้นที่ของตัวเองก็ตาม

เหตุผลสำคัญมีข้อเดียว
อากาศเป็นของเราทุกคน

12 comments:

Anonymous said...

สวัสดี หลังวาเลนไทน์

..
และที่นี่...ร้อนมาก....ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ตัดที่นั่น สะเทือนถึงที่นี่นะ

ฮาๆ
เกี่ยวม่ะ

Anonymous said...

สงสารต้นไม้ค่ะ...
ไม่อยากให้เชียงใหม่เป็นเหมือนกรุงเทพอ่ะ

Anonymous said...

บทความนี้
เคยออกรายการโทรทัศน์แล้วใช่มั้ยค่ะ

คุ้นๆๆมาก

ดีใจที่มีคนรักเชียงใหม่นะคะ

Anonymous said...

สงสารเชียงใหม่ เมืองที่สวยและมีความสำคัญ
(ควรจะศึกษาตัวอย่างการบริหารการท่องเที่ยวอย่างภูฏาน)เชียงใหม่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าที่ไหนในโลก
มีธรรมชาติสวยงาม ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม

ทำยังไงจะสอนให้คนที่ไม่รู้ถึงคุณค่าของธรรมชาติให้รับรู้ความเสียหายจากการทำลายสิ่งที่เป็นธรรมชาติ อย่างต้นไม้ได้นะ

ฆ่าต้นไม้ก็เหมือนฆ่าตัวตาย (ฆ่าคนอื่นด้วย)

Unknown said...

ต้นไม้คู่นี้อยู่ห่างจากออฟฟิศไป แค่หัวมุมถนน
ต้นไม้คู่นี้ มีสีสัน สวยสมตามฤดูกาล
ต้นไม้คู่นี้ คือคู่สุดท้ายของสิ่งมีชีวิต ในเศษซากอิฐดินปูนรอบๆ
ใต้ต้นไม้คู่นี้ มีรอยยิ้ม ของคนที่อาศัยบังแดด อยู่เสมอๆ
คงเพียงแค่กาลเวลาเท่านั้น ที่จะรู้ว่า ต้นไม้คู่นี้ จะยืนยงและอยู่คู่กันไปได้ถึงไหน
ผมเองก็เฝ้ารอดูต้นไม้คู่นี้อยุ่เหมอืนกันครับ...

จากการเป็นสถาปนิก ผู้เห็นต้นไม้ถูกฆาตกรรมมานักต่อนัก ทำใจยากทุกครั้ง ที่เห็นยอดไม้ร่วงหล่นลงมากระทบดินครับ

cacc said...

อ่านแล้วสะเทือนใจนิดนึงครับ
ถ้าไม่ได้คุณชาและวชิรา
ป่านนี้ต้นหูกวางสองต้นนั้นคงโดนตัดไปแล้ว

หน้าบ้านผมก็มีเหมือนกันครับต้นหูกวาง
แต่อายุไม่เท่าไร เท่ากับผมเท่านั้นเอง 22 ปี
แต่ก็ใหญ่และให้ร่มเงาแก่บ้านผมและคนแถวนั้น
โชคดีที่ไมีหลายต้นในระแวกนั้น
แต่โชคไม่ค่อยดีว่ามันไม่ได้ปลูกในพื้นที่ของผมเอง
มันอยู่ในพื้นที่ของรัฐ (ฟุตบาทของรัฐบาล)

แล้วเดี๋ยวนี้รถเข้าออกซอยหน้าบ้านผมเยอะมาก
ผมก็หวั่นว่าซักวันถ้ารถแถวนั้นมันเยอะขึ้นจริงๆ
เขาจะมีโครงการขยายถนนไหม?

อันนั้นเป็นเรื่องในอนาคต แต่อยากเล่าให้ฟัง
(คงไม่ว่ากันนะครับ^^)

Anonymous said...

ไม่ว่าอะไรเลยครับ
อยากขอบคุณมากกว่า
คิดว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้
เราอาจต้องช่วยๆ กันพูด ช่วยๆ กันทำนะครับ

แวะมาเล่าอีกนะครับ
^^

chaharmo said...

แถวหอก็หายไปอีกหลายต้นละพี่

สร้างคอนโดกันอีกแล้ว

Anonymous said...

นั่นดิ
ทำยังไงกันดีนะ
; (

Anonymous said...

ซึ่งใจกับบทความนี้มาก

ตอนนี้กำลังแย่เลยทีเดียว
ชาวเชียงใหม่มีอาการภูมิแพ้อากาศกันเป็นแถบ
ฝุ่นควันเยอะจนมองหาดอยสุเทพไม่เจอ

chaharmo said...

ทำไงดีอ่ะ ให้ ข้อมูล มันเข้าถึงคนทุกคน

Anonymous said...

ก็คงต้องช่วยๆ กันมั้ง
เดี๋ยวยังไง RH คงทำอะไรต่ออีก
รอติดตามละกันนะ
^^