Thursday, April 2, 2009

โพรง (11): ปลาเทราท์บนภูเขา



พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร HIP ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552

โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา

http://www.rabbithood.net/


ปลาเทราท์บนภูเขา

สัปดาห์สุดท้ายก่อนเข้าช่วงเทศกาลปีใหม่ ผมมีโอกาสได้พบปะกับเปเล่และเร แมคโดนัลด์ ในช่วงเวลาที่พวกเขาขึ้นมาถ่ายทำรายการท่องเที่ยวรายการใหม่ชื่อ Journey โดยเลือกเชียงใหม่เป็นตอนแรกที่ออกอากาศ

ถ้าเป็นคนที่ติดตามรายการโทรทัศน์อยู่บ้าง คงพอจะรู้ว่าเรนั้นทำรายการท่องเที่ยวมาแล้วเกือบทั่วโลก ภาพชีวิตของเขาในสายตาของคนทั่วไปถือเป็นภาพที่น่าอิจฉาเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้เที่ยวและทำงานไปพร้อมๆ กัน (ก่อนหน้านี้ ทั้งสองคนเพิ่งรวบรวมเงินออกเดินทางโดยรถไฟจากเมืองไทยไปยุโรป แล้วเอากลับมาทำเป็นรายการท่องเที่ยวทางทีวีที่ชื่อ Roaming)

รายการใหม่นี้เป็นครั้งแรกที่เรทำรายการท่องเที่ยวในประเทศ

ตลอดหนึ่งวันที่คลุกคลีอยู่ด้วยกัน ผมกับเรและเปเล่ได้มีโอกาสคุยกันหลายเรื่อง ทั้งการโยกย้ายมาอยู่เชียงใหม่ของผม ภาพชีวิตจริงๆ ของเขาที่เราไม่ได้เห็นทางทีวี และการเลือกเชียงใหม่เป็นทริปแรกของรายการ หลายๆ ช่วงของการสนทนาผมตั้งข้อสังเกตว่าเชียงใหม่ในสายตาของนักท่องเที่ยวหรือคนที่ไม่ได้พำนักอยู่ที่นี่ มักเป็นเชียงใหม่ในความหมายของเขตตัวเมืองเท่านั้น

หลับตาก็เห็นท่าแพ ลืมตาก็เห็นนิมมานฯ

ไม่น่าแปลกใจหรอกครับ เวลาใครพูดถึงโตเกียว ผมเองหลับตาก็เห็นชิบุยะ ลืมตาก็นึกถึงฮาราจูกุและรปปงหงิ ผมเดาสุ่มเอาว่ากระบวนการรับรู้ของคนเรานั้นเกิดขึ้นจากข้อมูลที่ได้รับและพฤติกรรมความต้องการในการรับรู้ ตามประสานักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มีเวลาน้อย จึงได้รับรู้เฉพาะเรื่องราวของจุดหมายที่เป็นที่นิยม (ทางเศรษฐกิจ!) และมีแนวโน้มว่าความสนใจจะหยุดอยู่แค่นั้น ตามเงื่อนไขของเวลา

ตามแผนการชีวิตส่วนตัว (ที่ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง) ผมตั้งใจว่าปีแรกจะวนเวียนป้วนเปี้ยนอยู่ในเมือง พอขึ้นปีที่สองก็ตั้งใจว่าจะออกไปเที่ยวเล่นนอกเขตเมืองบ้าง ไปเที่ยวแบบไปเที่ยวจริงๆ ไม่ได้ไปทำงานหรือทำภารกิจใดๆ ทั้งสิ้น

แล้วก็บังเอิญให้มีเพื่อนๆ ชวนไปเที่ยวโครงการหลวงที่ดอยอินทนนท์

อันที่จริงผมก็ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการหลวงมากนัก นอกจากผักผลไม้แปลกๆ ที่หาซื้อได้ในร้านจำหน่ายของโครงการฯ เมื่อค้นคว้าภายหลังจึงพบรายงานเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับโครงการหลวง” ของคุณ เพชรดา ชุนอ่อน มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ ที่นำเสนอต่อ มูลนิธิทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เดือนพฤษภาคม ปี 2551 เขียนอธิบายถึงที่มาของโครงการไว้ว่า “มูลนิธิโครงการหลวง หรือชื่อในตอนแรกก่อตั้งว่า “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” เกิดขึ้น เมื่อ พ.ศ.2512 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดตั้งโครงการ มีหม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวเขาในด้านความเป็นอยู่ กำจัดการปลูกฝิ่น และทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา และรักษาฟื้นฟูสภาพดิน และให้มีการใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง มูลนิธิโครงการหลวงได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากการจัดหาพันธุ์พืชมาให้เกษตรกรปลูกแล้ว มูลนิธิโครงการหลวงยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรก เพื่อนำออกจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์สด และเปิดโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ตลอดจนให้คำแนะนำในการเพาะปลูกและดูแลรักษาพืชอีกด้วย”

เฉพาะที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์นั้นก็เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2522 ตามพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้มีพื้นที่ทำกินด้วยการปลูกพืชทดแทนฝิ่นเพิ่มรายได้จากการทำเกษตรและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา ทั้งยังสร้างแนวป้องกันการบุกรุกแผ้วถางป่าเปลี่ยนการทำไร่เลื่อนลอยให้เป็นเกษตรแบบยั่งยืนและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษเห็นจะเป็นการเพาะเลี้ยงปลาเทราท์ (Trout)
สนใจเพราะว่ารู้สึกแปลกดีที่มีการเพาะเลี้ยงปลาบนภูเขาสูง

ช่วงที่คณะของเราเดินทางไปเที่ยวนั้นเป็นช่วงฤดูหนาว ได้ยินว่าอุณหภูมิราวสิบกว่าๆ องศาในตอนหัวค่ำ เวลาคุยกันมีไอพวยพุ่งออกมาจากปากชวนให้ระลึกถึงฤดูหนาวสมัยเด็ก ไปถึงก็ไม่ได้ทำอะไรกันมากมาย หิวก็เดินมากินอาหารที่ร้านอาหารในโครงการ อิ่มก็เดินกลับไปนั่งคุยกันที่บ้านพัก ตามประสาเพื่อนๆ ที่ไม่ค่อยมีเวลาไปไหนมาไหนด้วยกันมากนัก

เช้าอีกวันก็ออกไปเที่ยวเล่นชมแปลงผลไม้ดอกไม้ เดินดูแปลงสตรอว์เบอร์รี่ แถมยังได้เด็ดชิมเคปกูสเบอร์รี่พันธุ์เล็ก (ลูกเท่าปลายนิ้วก้อย) ที่มีรสชาติเหมือนใส่นมลงไปด้วย (เพื่อนที่ทำงานโครงการหลวงอธิบายว่าเคปกูสฯ พันธุ์นี้ยังไม่มีวางจำหน่ายเพราะเพิ่งผลิตได้หมาดๆ)

เพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นเชฟ เล่าว่าเคปกูสเบอร์รี่นั้นเป็นผลไม้ Hi End ในร้านอาหารใหญ่ๆ ที่เมืองนอก เขาเองก็ไม่เคยรู้เหมือนกันว่าปลูกที่นี่ได้ และขายในราคาย่อมเยามาก

บ่ายหน่อยก็ถึงคิวบ่อปลาเทราท์ (หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าเป็น ‘งานวิจัยประมงที่สูง’)
ปลาเทราท์เป็นปลาในตระกูลเดียวกับแซลมอน พบได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล ปลาเทราท์ที่เพาะเลี้ยงบนภูเขานี้เป็นการนำไข่ปลาเทราท์สายรุ้ง (Rainbow trout) จากอเมริกามาเพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด พบมากในทะเลสาบและลำธารในตอนเหนือของทวีปอเมริกา ปลาเทราท์เป็นปลาที่ชอบว่ายน้ำไปมา ไม่ชอบอยู่นิ่ง ลำตัวมีเกล็ดขนาดเล็ก มีสีแดงคาดตามความยาวของลำตัวดูคล้ายสายรุ้งและชอบอาศัยอยู่ในน้ำเย็นที่สะอาด

ผมเดินป้วนเปี้ยนไปตามบ่อต่างๆ ชะโงกหาดูปลาตัวอ้วนๆ ยาวๆ ที่เพิ่งกินไปเมื่อคืน พยายามสังเกตอาการเคลื่อนไหวของพวกมัน แต่ก็ไม่พบอะไรเป็นพิเศษ (ผมเข้าใจว่าปลาส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอยู่นิ่งอยู่แล้ว ยกเว้นปลาตัวโตๆ ในตู้ปลาแคบๆ) เงยหน้ามาเห็นฉากหลังเป็นภูเขาสูงสวยงาม ขณะที่เพื่อนๆ ก็เดินไปเดินมาถ่ายรูปเล่น พูดคุยขอความรู้จากเจ้าหน้าที่ที่ดูแล (ตอนก่อนกลับเจ้าหน้าที่พาไปชี้ที่บ่อของพ่อพันธุ์ให้ดูด้วย) ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเหตุการณ์ตื่นเต้น หวือหวา หรือมีความวิจิตรพิศดารแต่อย่างใด เป็นเพียงช่วงเวลาเรียบง่ายๆ ของกลุ่มเพื่อนกับสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย

ผมคิดถึงคำตอบของเร ตอนที่ถามเขาว่านึกยังไงถึงทำรายการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งที่คุณสมบัติอย่างเร ยังสามารถทำรายการท่องเที่ยวต่างประเทศไปได้อีกนาน

เขาตอบว่าหลังจากที่เดินมาแล้วมากมาย เพิ่งรู้สึกว่าไม่รู้จักบ้านของตัวเองเลย เรใช้คำว่าเขารู้สึกเป็น ‘คนแปลกหน้าในบ้านตัวเอง’

ถ้ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย หรือโตเกียวไม่ใช่ประเทศญี่ปุ่น เชียงใหม่ก็น่าจะมีเนื้อหามากกว่าเขตเมืองหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่รับรู้กันโดยทั่วไป

ออกไปรู้จัก ‘บ้าน’ ในความหมายจริงๆ ของมันกันเถอะครับ

11 comments:

Anonymous said...

พี่โจ้เขียนเรื่องที่ น่าสนใจมาให้อ่านอีกแล้ว+ ชอบเรย์

Anonymous said...

อยากดูสารคดีหรือหนัง หรือละครที่พี่โจ้ออกมาเล่นบ้าง

Key said...

55+

ชอบเม้นท์ข้างบน
คงแปลกๆ ดี


เค้าก็ชอบพี่เรย์

วชิรา said...

ชอบพี่เร ก็อย่าลืมติดตามรายการ Journey นะ ^^

ขอบคุณแทนพี่เรด้วย

oum said...

เพื่อนเราดูรายการพี่เรตอนนั้นแล้วสงสัยว่า
พี่จะเขียนหนังสือต้องไปถึงเชียงใหม่เลยรึ

เพื่อนสงสัยนะ ไม่ใช่เรา
:P

วชิรา said...

ก็แค่อยากลองอยู่เมืองอื่นบ้าง
(เวลาเขียนประวัติ จะได้ไม่ต้องเขียนแค่ว่า เกิดและโตที่กรุงเทพมหานคร ",)

ตอนแรกที่มาเชียงใหม่
เพราะเพื่อนมีอพาร์ตเมนท์ที่เช่าไว้
แล้วมันไม่ค่อยได้อยู่ เพราะทำงานที่อื่น
ก็มาอาศัยเขาอยู่ก่อน
ก็กะว่าจะ อยู่ชั่วคราว
ก็...ก็จะสามปีแล้วนะ สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้
-_-'


ก็แค่นั้นเอง...

Key said...

แล้ว..

นิยายที่พี่ว่าจะไปเขียนล่ะ
บิวต์นานไปแล้วนะ

ชิ!

งอน!

วชิรา said...

ใจเย็นพี่น้อง....
ใจเย็นนนนนนนนน

อย่ากดดันนะ

-_-'

oum said...

แค่ 3 ปีเอ๊ง
แล้วพี่ก็แค่ อยู่ชั่วคราว ด้วยเนอะ
(แหม..มีโฆษณาแฝงด้วยนิ)

^^'

Anonymous said...

เห็นว่าโครงการหลวงมีจัดทริปเดินชมชิมอาหารจากผลผลิตทุกปี น่าอิจฉาคนเชียงใหม่และคนกรุงที่ไปตั้งรกรากที่นั่น อากาศก็ดี อาหารอุดมสมบูรณ์ ทว่าอีกไม่กี่ปีที่นั่นคงเป็นแคลิฟอร์เนียไทยแลนด์


ท่าทางจะไม่ได้อยู่ชั่วคราวแล้วล่ะมั้ง

วชิรา said...

ถ้าไม่นับปัญหาเรื่องหมอกควัน
ที่นี่ก็อาจพอเป็นแคลิฟอเนียได้จริง
(เวอร์ชั่นไม่มีมหาสมุทร)

แต่จะไม่นับหมอกควันเป็นปัญหาคงจะไม่ได้มั้ง?
; (