Monday, June 30, 2008

โพรง (3): จุดนัดพบ (1)

โพรง
เรื่องและภาพประกอบโดย วชิรา

www.rabbithood.net

จุดนัดพบ (1)

เมื่อไม่นานมานี้ สุภาพบุรุษท่านหนึ่งจากกรุงเทพมหานครเดินทางมาเชียงใหม่ จะประกอบด้วยเหตุผลอะไรอื่นหรือไม่นั้นผมเองก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเขาติดต่อขอนัดพูดคุย คล้ายเป็นการเสวนากาแฟ ว่าด้วยเรื่องเชียงใหม่

เขาตั้งข้อสงสัยว่า ‘ทำไมใครๆ ก็มาเชียงใหม่’ อันนำไปสู่ความห่วงไยว่าเมืองหลวงของภาคเหนือแห่งนี้จะ ‘เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร’
ผมได้รับการชักชวนในฐานะพลเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งย่างเท้ามาหมาดๆ (สองปีเต็ม สิ้นเดือนพฤษภา 2551)

วงเสวนาลูกมะเกี๋ยง (มีแต่ลูกมะเกี๋ยงสีม่วงเข้ม รูพรุน ไม่มีน้ำ ไม่มีกาแฟ) ประกอบด้วยพี่ๆ อีกสามท่าน ทั้งที่เกิดที่นี่และโยกย้ายมาแต่เก่าก่อน ทั้งในสายงานวิชาการ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรม ผมขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เพราะไม่ได้ขออนุญาตไว้ก่อน ทั้งสิ่งที่จะเขียนต่อจากนี้ก็ล้วนเป็นมุมมองส่วนตัวของผมคนเดียวเท่านั้น

ทำไมใครๆ ก็มาเชียงใหม่

การมาของคนต่างถิ่นนั้นไม่น่าจะใช่เรื่องแปลก ทั้งการออกไปของคนท้องที่ก็เช่นกัน ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาเมื่อมองในฐานะมนุษย์ตาดำๆ ที่แรงขับ (ผลัก) ของการดำเนินชีวิตแตกต่างกันไปตามภูมิหลัง การศึกษา สังคม สภาพแวดล้อม และสภาพเศรษฐกิจ

ถ้าถอยหลังออกมามองให้กว้างขึ้นอีกนิด แรงขับของมนุษย์ตาดำเหล่านั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากลำพังในระดับส่วนบุคคล แต่น่าจะเคลื่อนไหวอยู่บนทิศทาง นโยบาย และแผนการที่ออกมาจากส่วนปกครองต่างๆ ทั้งในรูปการบริหารส่วนราชการและการท่องเที่ยว ทั้งในระดับประเทศและในระดับหมู่บ้าน

ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่สังเกตหรือให้ความสนใจก็อาจมองเลยไปได้สบายๆ เหมือนลูกจ้างที่ไม่เคยขั้นตอนการทำงานของเจ้านาย

เราจึงเห็นเพียง ‘จุดขาย’ ทางวัฒนธรรมต่างๆ นานาที่ทั่วโลกพร้อมจะ ‘ขาย’ หรือ ‘ให้บริการ’ อันนำมาซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ถือเป็นการลงทุนที่ประหยัดที่สุดกับทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น

นี่ยังไม่รวมการใช้จ่ายทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อน

ไม่มีอะไรเสียหายหรอกครับ ไม่ว่าจะเล่นน้ำสงกรานต์ ให้ของขวัญในวันคริสต์มาส ปล่อยโคมคืนลอยกระทง เวียนเทียนวันวิสาขะ ให้ดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์ กินขนมเทียนวันตรุษจีน แต่งผีคืนฮาโลวีน ฟ้อนโชว์ในร้านอาหาร หรือจะสาธิตวิธีการทำร่ม แกะไม้ ถ้าไม่ได้สนใจแต่ลำพัง ‘เม็ดเงิน’ เพียงอย่างเดียว จนเกิดภาพปลอมๆ ของประเพณีและวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวี่วัน

เมืองไหนที่ดูดวิญญาณนักท่องเที่ยวได้มาก ก็มีแนวโน้มที่คนจะแห่แหนกันมามากขึ้น ทั้งยอมมาให้ดูดและอยากเป็นผู้ดูด

ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นตรงนี้
เป็นเสมือนจุดนัดพบ

เมื่อผสมผสานกับแรงขับภายในส่วนบุคคล จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์โยกถิ่นย้ายฐานที่เห็นกันอยู่ (และกลายเป็นข้อสงสัยบนความห่วงไยให้สุภาพบุรุษท่านนั้นดั้นด้นมาจากกรุงเทพมหานครเพื่อพูดคุย) เป็นความคล้องจองของทัศนคติ วิถีชีวิต ลักษณะนิสัย รสนิยม ความทะเยอทะยาน หรืออาจเป็นความเบื่อหน่าย

จำเพาะกันที่หมวดโยกย้าย ผมค่อนข้างตื่นตาตื่นใจที่เห็นความแตกต่างชนิดสุดขั้วมาอยู่รวมกัน ทั้งจากนักธุรกิจ (ใหญ่-เล็ก) จากนักคิด นักเขียน ศิลปินหลากหลายแขนง (เล็ก-ใหญ่) จากนักเรียนนักศึกษา และจากชาวต่างชาติ จะมีกี่เมืองในโลกที่สามารถดึงดูดคนหลากหลายสาขาอาชีพมารวมตัวกันในปริมาณมากมายได้ขนาดนี้
ที่แพ้ภัยตัวเองเก็บกระเป๋าม้วนเสื่อกลับบ้านก็มาก โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ (อันนี้พี่ๆ ที่อยู่มาก่อนเล่าให้ฟัง) ที่ลงหลักปักฐานจริงจังก็ไม่น้อย ที่เตรียมหาลู่ทางอพยพย้ายต่อไปที่อื่นๆ ก็ดูเหมือนจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยส่วนตัว ผมได้ข้อสรุปหลังวงสนทนาลูกมะเกี๋ยงว่าเหตุผลที่ชอบเชียงใหม่เป็นเพราะบรรยากาศ ขนาดของเมือง และพลังงานจากคนรอบข้าง การได้เห็นภูเขาทุกวัน การเดินทางไปไหนมาไหนด้วยระยะเวลาสั้นๆ ทั้งกิจธุระในเมืองหรือออกไปเที่ยวเล่นรอบนอก ทำให้สามารถจัดการ ‘เวลาจริง’ ของการใช้ชีวิตได้มากกว่า องค์ประกอบที่พอเหมาะของความเป็นเมืองและธรรมชาติ อัธยาศัยของผู้คนที่ไม่ขึงขังจนอึดอัด ขนาดสังคมของคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน กลุ่มเพื่อนหลากชาติหลายเผ่าพันธุ์ที่แวะเวียนกันมาและผ่านไป องค์ความรู้หลากหลายที่ปราชญ์หลายๆ ท่านเผยแพร่เอาไว้

อาจฟังดูสายลมแสงแดด แต่ผมคิดว่าเชียงใหม่เข้มข้นกว่านั้น
มันเป็นเรื่องของจริตคุณภาพชีวิต


(โปรดติดตามเรื่องความเปลี่ยนแปลง ฉบับหน้า!)

No comments: